แหล่งเตาเผาโบราณในอำเภอบ้านกรวดที่ตรวจค้นพบมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาเตาเผาโบราณที่พบในประเทศไทยโดยมีจำนวนมากกว่า 200 เตา  เช่น แหล่งเตาเผาบ้านถนนน้อย ตั้งอยู่ในเขตบ้านถนนน้อย ตำบลหินลาด อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านกรวดไปทางทิศตะวันออกประมาณ 5 กิโลเมตร ชาวอำเภอบ้านกรวดตั้งชื่อเตาเผาโบราณที่ค้นพบแห่งนี้ว่า เตาเผานายเจียน เพราะเตาเผาโบราณแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่นาของนายเจียน ซึ่งในปัจจุบันเตาเผาได้ถูกทำลายไปแล้ว 3 เตา เมื่อราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2529 นี้ เป็นเตาเผาที่ใช้สำหรับเผาเครื่องเคลือบดินเผาที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ลักษณะของเตาเผาโบราณแห่งนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่งสำหรับใส่ไฟไว้ สำหรับใส่ฟืนหรือวัสดุที่ให้ความร้อน เช่น ไม้ซุงเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผา ส่วนที่สองวางวัสดุที่จะเผา ส่วนนี้มีการสร้างไว้อย่างเป็นระเบียบ ใช้สำหรับเป็นที่วางวัสดุที่จะเผา มีการสร้างไว้เป็นชั้นๆ มีที่สำหรับป้องกันเพื่อไม่ให้วัสดุที่จะเผาร่วงหล่น ในขณะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิระหว่างการเผากับภาชนะที่เผา และส่วนที่สามปล่องเผา สร้างไว้สำหรับใช้ในการระบายความร้อน ซึ่งอยู่ข้างหลังลักษณะทั่วไปของเตาเผาโบราณแห่งนี้ มีรูปร่างค่อนข้างกลมรี ส่วนตัวเตาเป็นเตาดิน ก่อแบบระบายความร้อนในแนวเฉียง สร้างซับซ้อนกันกลายๆ ครั้ง ส่วนโตรงเตานั้นสร้างขึ้นเพื่อให้สามารถเผาผลิตภัณฑ์อุณหภูมิ 1,200-1,250 องศา มีแบบเพิ่มและลดความร้อนด้วยออกซิเจน ซึ่งทำให้พบเศษของผลิตภัณฑ์ที่เผาต่างๆ ตกทับถมอยู่ในเตาเดียวกัน ส่วนมากผลิตภัณฑ์ที่เผานั้นมีความคล้ายคลึงกันและเหมือนกับราชวงศ์ถังของจีน จากการพิสูจน์ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า เรดิโอคาร์บอน โดยการศึกษาตัวอย่างของถ่านที่ค้นพบในบริเวณเตาเผาโบราณแห่งนี้ ทำให้เราทราบว่า เตาเผาโบราณแห่งนี้มีการสร้างเป็น 2 ช่วงสมัย คือ สมัยพุทธศตวรรษที่ 13 ถึงปลายสมัยพุทธศตวรรษที่ 14  เป็นช่วงที่ 1 และสมัยพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นช่วงที่ 2

แหล่งเตาเผาสวาย ตั้งอยู่ที่บ้านโคกใหญ่ หมู่ที่ 9 ตำบลโนนเจริญ ระยะทางห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านกรวดประมาณ 7 กิโลเมตร จัดเป็นเตาเผาประเภท SLABKILN ก่อด้วยดินเหนียวหรือดิน มีช่องระบายความร้อนในแนวนอนหรือเฉียงขึ้น สันนิษฐานว่าเตาเผาแห่งนี้ เกิดขึ้นในสมัยศตวรรษที่ 15-17 แหล่งเตาเผานี้ผลิตเครื่องเคลือบดินเผามากมายหลายประเภท เช่น ไห พาน แว่นฟ้ากระปุก คณโฑ ล้วนมีเนื้อดินปั้นแบบแกร่งหรือสโตนแวร์ (Stoneware) มีทั้งเคลือบสีเขียวใส เคลือบสีน้ำตาลและแบบไม่เคลือบ ซึ่งได้แก่

– เครื่องปั้นดินเผาเคลือบสีเขียวใส และสีเขียวเข้ม  มีทั้งชามและไหขนาดใหญ่ เนื้อดินปั้นของชาสีเขียว ส่วนเนื้อดินปั้นของไหจะเป็นสีเทา ชามจะเคลือบสีเขียวใสทั้งภายในและภายนอกส่วนไหจะมีปากผายกว้าง เคลือบสีเทาด้านนอกและบริเวณรอบปากไหด้านใน

– เครื่องปั้นดินเผาเคลือบสีน้ำตาล มีทั้งกระปุก ตะคัน และไหขนาดต่างๆ เนื้อดินปั้นเป็นแบบเนื้อแกร่งสโตนแวร์ (Stoneware) ทีทั้งสีเหลือง สีเทาเข้มและสีดำ ซึ่งมีสีของน้ำตาลเคลือบมีทั้งสี แบบเนื้อเข้มจนดำเป็นมัน สีน้ำตาลออกเหลือง สีเขียว สีน้ำตาลมีรอยน้ำเคลือบสีเขียวเป็นทาง สีน้ำตาลเหลืองอมทอง

– เครื่องปั้นดินเผาไม่เคลือบ เครื่องปั้นดินเผาพวกนี้ มีเนื้อดินปั้นแกร่งแบบสโตนแวร์ (Stoneware) สีแดง ซึ่งมีทั้งชาม อ่าง และไห ล้วนประดับรอบคอและไหล่ ลายเส้นโค้งซ้อนแบบลายพวงระย้า

อำเภอบ้านกรวดได้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภูมิปัญญามรดกทางวัฒนธรรม จึงได้จัดงานเครื่องเคลือบพันปี เป็นประเพณีที่สืบมาตั้งแต่ปี 2535 โดยการริเริ่มของนายบุญทิศ ดวงจันทร์ นายอำเภอบ้านกรวดในขณะนั้น และได้มีการกำหนดให้มีการจัดงานขึ้น ในราววันที่ 1-3 เดือนเมษายนของทุกปี ในงานมีการแสดงเกี่ยวกับการละเล่นท้องถิ่นอย่างมากมาย เช่น เรือมอันเร การแข่งตำข้าวโบราณ การแข่งขันแห่บั้งไฟ การแข่งขันตำส้มเขมร และอื่นๆ เพื่อให้ได้มีความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น และได้จัดติดต่อกันมาเป็นประจำทุกปี

อ้างอิง

กองโบราณคดี กรมศิลปากร. (2532). เตาบ้านกรวดบุรีรัมย์. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์. (2553). ชุมชนโบราณในบุรีรัมย์. ศิลปกรรมท้องถิ่นบุรีรัมย์. เรวัตการพิมพ์.

 

อื่นๆ

เมนู