ข้าพเจ้า นายศักดิ์ดา อาจพงษา ประเภทประชาชน ตำบลจันทบเพชร อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ หลักสูตรโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานร่วมกับทีมงานและอาจารย์ประจำหลักสูตรในเดือน สิงหาคม พ.ศ. 2564 ณ ตำบลจันทบเพชร อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์
จากการลงพื้นที่สอบถามผู้นำอาชีพกลุ่มทอผ้าไหม ให้ข้อมูลว่า “การทอผ้าไหมในปัจจุบันเริ่มลดน้อยลง ชุมชนหันไปให้ความสนใจอาชีพอื่นมากขึ้นประกอบกับการทอผ้าไหมต้องใช้เวลาและต้นทุนที่สูง การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจึงเป็นไปได้ยาก แต่ก็ยังมีผู้สนใจในอาชีพนี้อยู่จึงจัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมในชุมชน เพื่อรวมกลุ่มกันทอผ้าไหมเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน อีกทั้งยังมีฐานเรียนรู้การปลูกหม่อนไหม การทอผ้าไหม เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้ต่อไปได้”
ซึ่งการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมดังกล่าว ช่วยให้ชาวบ้านที่ว่างงาน หรือผู้สูงวัยและผู้ที่สนใจในอาชีพมีรายได้เสริมมากขึ้น แต่ก็ยังมีเสียงสะท้อนจากผู้นำอาชีพและผู้ประกอบอาชีพถึงปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการทอผ้าไหม ไม่ว่าจะเป็นการทอลายผ้าที่ไม่ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภค ใช้ต้นทุนที่สูงทำให้มีราคาขายที่แพง 1 ผืนประมาณ 2,500 – 3,000 บาท ซึ่งต่างจากการทอผ้าด้าย 1 ผืนประมาณ 500 – 600 บาท คนจึงนิยมซื้อผ้าด้ายมากกว่าการทอผ้าไหม และที่สำคัญคือปัจจุบันคนไม่นิยมสวมใส่ผ้าซิ่น จะมีเพียงกลุ่มวัยกลางคนไปจนถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังปรากฏการใส่ผ้าซิ่นให้เห็นอยู่บ้าง ตลาดการขายผ้าไหมจึงแคบลงไม่ค่อยมีคนมาซื้อ ฉะนั้นแล้วคนซื้อน้อยลงก็เท่ากับคนผลิตก็ค่อย ๆ ลดปริมาณลงไปด้วย
จะเห็นได้ว่าการทอผ้าไหมเริ่มที่จะเลือนหายไปเรื่อย ๆ จนแทบจะไม่มีในสังคมไทย ซึ่งแต่เดิมนั้นผ้าทอยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่แก่จนถึงตาย และมีบทบาทสำคัญทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นเครื่องแต่งกายแสดงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย มีลวดลายบนผืนผ้างดงาม แต่ในปัจจุบันสิ่งเหล่านี้เริ่มหายไปกับยุคสมัยและเทคโนโลยี ผมจึงอยากเชิญชวนทุกคนมาท่องเที่ยว มาเรียนรู้การทอผ้าไหม หรืออุดหนุนผ้าไหมในชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้และกำลังใจพัฒนาศักยภาพ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ ในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตเพื่อการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมควบคู่กับการพัฒนาเป็นอาชีพและรายได้ของคนในชุมชนต่อไป