สิ่งที่ทำให้ โอไมครอน น่ากลัว
หลังโควิดสายพันธุ์เดลต้าเริ่มคลี่คลายลง สายพันธุ์อื่นๆ ภายหลัง ไม่ว่าจะ เดลต้าพลัส แลมด้า สายพันธุ์มิว ดูจะไม่อันตรายมาก ข่าวเกี่ยวกับโควิดไปในทิศทางที่ดีขึ้น จนเชื่อว่าใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของการวิวัฒนาการของไวรัส
แต่ โอไมครอน (B.1.1.529) ทำให้ต้องเปลี่ยนความคิดหลายอย่าง มาพร้อมกับคุณสมบัติหลายอย่าง เช่น
- โอไมครอน ตำแหน่งการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นอีก 32 ตำแหน่ง จาก 50 จุด ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในเซลล์ร่างกายมนุษย์ ถือเป็นจุดที่วัคซีนทำการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเพื่อต้านทานไวรัส
- กล่าวคือ แทบจะเปลี่ยนหน้าตาของไวรัสไปจากเดิม เป็นไวรัสโควิดสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์มากที่สุดเท่าที่มีการค้นพบจนถึงขณะนี้
- เชื่อว่า โอไมครอน ฟักตัวมาจากผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เอดส์), ผู้ป่วยโควิดเรื้อรัง หรือ สัตว์มีฟันแทะ เช่น หนู (เป็นเพียงสมมุติฐาน)
- จากการสุ่มตรวจ พบว่ามีการแพร่ที่เร็วมาก เพียง 1 สัปดาห์แพร่ไปได้เทียบเท่าสายพันธุ์ก่อนหน้าเป็นเดือน และอาจมีผู้ติดเชื้อสายพันธ์โอไมครอน มากกว่าที่คาดคิด
- โดยคุณลักษณะของหนามโปรตีนบนไวรัส ทำให้เชื่อว่าน่าจะ ดื้อยา และ แพร่เชื้อเร็ว ขึ้น แต่ต้องรอข้อมูลเกี่ยวกับอาการ
ความรุนแรงของโอไมครอน
ตัวแปรสำคัญมี 3 อย่าง คือ ประสิทธิภาพการแพร่กระจายของไวรัส, หลบภูมิต้านทาน และ ความรุนแรงของไวรัส
1. การแพร่กระจาย
- คาดว่า อาจจะมีการแพร่กระจายได้ไม่น้อยไปกว่าสายพันธุ์เดลต้า
- จากหลายสื่อเชื่อว่าอาจแพร่ในอากาศได้ดีขึ้นจากเดิม เพราะมีผู้ป่วยหลายประเทศที่ได้รับเชื้อในที่กักตัวที่ห้องติดกัน ติดเชื้อโดยไม่เคยเจอหน้ากัน
- โดยปกติ วัคซีนแพร่ในอากาศได้ดีในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่ถ้าปริมาณน้อยมาก จะโดนภูมิคุ้มกันจัดการก่อนมีโอกาสฟักตัว แต่ โอมิครอน ถือเป็นการเปลี่ยนหน้าตาจนภูมิคุ้มกันไม่รู้จัก ทำให้แม้จะเข้าร่างกายเพียงเล็กน้อย ก็มีโอกาสฟักตัวสูง
- ผลศึกษาญี่ปุ่นพบ ‘โอไมครอน’ ติดง่ายกว่า ‘เดลตา’ 4.2 เท่า (9 ธ.ค. 64)
2. หลบภูมิต้านทาน
- จากลักษณะของไวรัสที่แตกต่างจากสายพันธุ์เดิมจนวัคซีนจำหน้าตาไม่ได้ ทำให้เชื่อว่าน่าจะดื้อต่อวัคซีนที่ฉีด หลบภูมิได้ดี
- ผู้ได้รับการฉีดวัคซีนทั้ง mRNA และชนิดต่างๆ มีโอกาสสูงที่จะติดเชื้อโอไมครอนได้ แม้จะได้วัคซีนครบ 2-3 เข็ม
- จากการทดลองในกลุ่มอาสาสมัคร พบว่าโควิดโอไมครอน หนีภูมิวัคซีนไฟเซอร์ได้มากกว่า 41 เท่า (มากกว่าสายพันธุ์เบต้า 10 เท่า) ข้อมูลจาก FB. ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา (8 ธ.ค. 64)
3. ความรุนแรง
- ผู้ติดเชื้อในแอฟริกาใต้ จากหลักร้อยในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 กลับมาเป็นหลักหมื่นในเวลาสั้น ๆ คิดเป็น 330% แต่ส่วนใหญ่อาการไม่หนักและยอดผู้เสียชีวิตไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก ผู้ป่วยเข้าห้อง ICU ราว 6.7% เท่านั้น
- ถึงแม้จะไม่รุนแรงจนเข้าโรงพยาบาล แต่มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งยังต้องเข้าโรงพยาบาล และทุกคนต้องกักตัวเหมือนคนติดโควิด-19 สายพันธุ์อื่น
- เมื่ออาการไม่หนัก ทำให้แพทย์และนักวิชาการบางท่านเชื่อว่า อาจจะช่วยกระตุ้นภูมิ หรือ ลดความต้องการวัคซีน
4. โอกาสติดเชื้อซ้ำ
- มีผลการศึกษาว่า “โควิดโอไมครอน” อาจทำให้คนที่เคยติดเชื้อมาแล้วมีโอกาสที่จะติดเชื้อซ้ำเพิ่มสูงขึ้น
ข้อมูล: ณ วันที่ 10 ธันวาคม 2564
ผลกระทบในอนาคต
- ผลของการกลายพันธุ์ครั้งใหญ่ของโอไมครอน อาจกระทบต่อทั้งวัคซีนและยาที่กำลังพัฒนา
- มีความกังวลว่า อาจจะกลายพันธุ์ได้อีกอย่างน้อย 1 ครั้ง หรืออยู่ร่วมกับโควิดสายพันธุ์ก่อนได้ในคนเดียวกัน ซึ่งอาจมีการกลายพันธุ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น (เป็นเพียงการคาดการของแพทย์และนักวิชาการบางท่าน)
- เชื่อว่า อาจจะทำให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่ในยุโรปและอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน
ตามทฤษฎี วิเคราะห์ตามลักษณะของ โอไมครอน แทบจะเหมือนไวรัสชนิดใหม่ น่าจะแพร่ง่าย อันตรายกว่า แต่เป็นเพียงสมมุติฐานเท่านั้น ยังต้องเฝ้าสังเกตการณ์และศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม
ถึงแม้ว่าตัว โอไมครอน อาจไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่เหตุผลที่ทำให้มีการเฝ้าระวังอย่างมาก เพราะเป็นสายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติการกลายพันธุ์ที่สูง และอาจกลายพันธุ์ต่อไปได้อีก ซึ่งอาจไม่ได้สูญพันธุ์ไปเองอย่างที่วิเคราะห์ก่อนหน้านี้ ทำให้หลายประเทศตั้งใจสกัดกั้นสายพันธุ์ใหม่เต็มที่
ต้องรอศึกษากันอีกหลายเรื่อง
- ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยรุนแรงในช่วงแรกของการพบ อาการใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่
- มีรายงานตรงพบด้วยการตรวจโควิดทั่วไป อย่าง RP-PCR สามารถหาเชื้อได้ รวมถึง มีข่าวยืนยันว่าใช้ชุดตรวจ ATK หาได้ในระดับหนึ่ง
- บริษัทยาส่วนใหญ่เตรียมการรับมือทันที คาดว่าใช้เวลาไม่นานในการพัฒนาวัคซีนต้นแบบ แต่อาจต้องใช้เวลาหลายเดือนในการผลิตวัคซีนจำนวนมากเพื่อให้ครอบคลุมจำนวนประชากร
- 8 ธ.ค. 64 – Pfizer แจ้งผลทดลองในห้องแล็บพบว่าหากได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม จะมีประสิทธิภาพในการป้องกัน Omicron
อย่างไรก็ตาม แม้ส่วนใหญ่จะอาการน้อย แต่ยังมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ป่วยจนเข้ารักษาในโรงพยาบาล จึงยังต้องติดตามความคืบหน้ากันต่อไป น่าจะชัดเจนขึ้นในต้นปี 2565
เนื่องจาก โอไมครอน เพิ่งถูกพบครั้งแรกในบอตสวานาเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ก่อนจะประกาศชื่ออย่างเป็นทางการโดย WHO ในวันที่ 26 พฤศจิกายน ด้วยเวลาอันสั้น ทำให้สายพันธุ์ โอไมครอน ยังมีข้อมูลน้อยมาก หลายอย่างยังคงเป็นเพียงการคาดการณ์ในกรณีเลวร้ายที่สุดเท่านั้น ซึ่งคาดว่าเราจะได้รู้จักกับ โอไมครอน กันมากขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม และคงมีข่าวความคืบหน้าเป็นระยะ
ทั้งนี้ มีรายงานผู้ติดเชื้อ โอไมครอน ในไทย จำนวน 1 คน เป็นผู้เดินทางต่างประเทศ (ณ วันจันทร์ 6 ธันวาคม 2564) อีกทั้งยังไม่มีเคสรุนแรง ประชาชนจึงยังไม่ต้องกังวลมาก แต่อย่าประมาทจนคิดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา ควรปฎิบัติตัวป้องกันโควิดเหมือนเดิม ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง และรอติดตามความคืบหน้ากันต่อไป