ข้าพเจ้า นายมานิต พลวัน ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ตำบลจันทบเพชร อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ หลักสูตรโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

แผนการปฏิบัติงานในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 ณ ตำบลจันทบเพชร อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์

คณาจารย์ได้มอบหมายให้ทีมผู้ปฏิบัติงานค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับเทคนิคการย้อมกกจากสีธรรมชาติ ในการสร้างสรรค์สินค้าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุดในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และเพื่อเป็นการยกระดับสินค้าของคนในชุมชน ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและสินค้าเป็นที่นิยม มีตลาดที่กว้างขวางขึ้น สามารถส่งออกไปขายทั้งในและต่างประเทศ

บ้านสายโท 6 ใต้ ตำบลจันทบเพชร อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์

เป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านเศรษฐกิจที่มีสินค้า OTOP น่าสนใจมากมาย อาทิ กลุ่มจักสานตะกร้า กลุ่มทอเสื่อกก เป็นต้น

บทความนี้ทางผู้ปฏิบัติงานขอเสนอเกี่ยวกับกลุ่มทอเสื่อกกและข้อเสนอแนะในการนำไปต่อยอดเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากต้นกก ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

การทอเสื่อกก เป็นภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น  ที่นำเอาต้นกกมาแปรสภาพให้เป็นเส้น ย้อมสี  แล้วสานทอให้เป็นแผ่นผืน  เพื่อนำมาใช้ปูลาดรองนั่งหรือนอน  หรือทำธุรกรรมต่างๆ  ตลอดจนทำพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อ
เสื่อกก  เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีใช้กันอยู่ทั่วไปทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ  ทั้งนี้เพราะต้นกกเป็นพืชธรรมชาติที่ขึ้นอยู่ทั่วทุกภูมิภาค และภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นที่นำต้นกกมาแปรสภาพก็มีลักษณะคล้ายกัน หรือได้อิทธิพลทางความคิดจากกันและกัน ทำให้เสื่อกกถูกจัดได้ว่าเป็นปัจจัยจำเป็นอย่างหนึ่ง  ต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในอดีต

ผลิตภัณฑ์จากต้นกก เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการทำสืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก แต่เดิมเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำไว้ใช้ในครัวเรือน หรือซื้อขายกันในชุมชน ต่อมาได้ยกระดับเป็นสินค้าในโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Tambon One Product : OTOP)  สามารถส่งออกไปขายทั้งในและต่างประเทศ โดยบ้านสายโท 6 ใต้ ได้มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มทอเสื่อขึ้นมา จุดประสงค์หลักเพื่อสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชนและมีรายได้เลี้ยงครอบครัว

ชื่อกลุ่ม : กลุ่มทอเสื่อกกบ้านสายโท 6 ใต้

– จำนวนสมาชิก 33 คน

– จำนวนครอบครัว 33 ครอบครัว

– อายุต่ำสุด 30 ปี

– อายุสูงสุด 78 ปี

โดยมี นางสุบัน มุ่งเขตกลาง (ประธานกลุ่ม)

ที่อยู่ : 95 หมู่ 5 ตำบลจันทบเพชร อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์

เบอร์ติดต่อ : 09-8235-6334

  

ความแตกต่างระหว่างการย้อมกกด้วยสีเคมีและสีจากธรรมชาติ

การย้อมกกด้วยสีเคมี

สีสันลวดลายที่เป็นจุดเด่นทำให้ผลิตภัณฑ์มีความน่าสนใจ ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์จักสานจากต้นกกเกือบทั้งหมดยังใช้สีเคมีย้อมผลิตภัณฑ์ สีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสีย้อมผ้า สีย้อมไหม สีย้อมกก ส่วนใหญ่จะเป็นสีเคมีหรือสีสังเคราะห์ที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีในห้องปฏิบัติการ เนื่องจากมีสีสันหลากหลาย คงทนต่อการซักล้าง ทนแดดทนร้อน ย้อมติดเส้นใยทุกชนิด ผลิตได้ทีละมากๆ ใช้ง่าย ราคาถูก แต่พบว่าสีย้อมเคมีบางชนิดมีส่วนประกอบที่เป็นสารก่อมะเร็ง ทั้งระหว่างการย้อมและในนํ้าทิ้งที่ปนเปื้อน ทำให้มีสารตกค้างในสิ่งแวดล้อม เมื่อคนได้รับสารตกค้างเหล่านี้ก็ได้รับสารก่อมะเร็งเช่นกัน มีผลการวิจัยสีสังเคราะห์ย้อมผ้า พบว่า หลายชนิดมีการปนเปื้อนของโลหะหนักหลายชนิด ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง โลหะหนักเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์อย่างมาก ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของธาตุบริสุทธิ์ สารประกอบอินทรีย์ หรือสารประกอบอนินทรีย์ ความเป็นพิษของโลหะหนักแสดงออกมาให้เห็นเมื่อถูกสะสมอยู่ในร่างกายจนมีปริมาณมากพอ ยกตัวอย่างเช่น ตะกั่ว อาการแพ้พิษของสารตะกั่วที่พบบ่อยๆ คือ โลหิตจาง ปวดท้องเป็นประจำ ท้องผูก กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ปวดศีรษะ รู้สึกอ่อนเพลีย นํ้าหนักลด ปวดตามข้อ สมองเชื่องช้า ขาดความกระตือรือร้นความจำเสื่อม เป็นโรคประสาทอย่างอ่อน สารประกอบของโครเมียมทำให้เกิดอาการคันที่ผิวหนัง เป็นพิษต่อร่างกาย การหายใจเอาฝุ่นของโครเมตหรือไอของกรดโครมิกเป็นอันตราย ต่อระบบหายใจได้

การย้อมกกด้วยสีจากธรรมชาติ

หากย้อนไปในสมัยโบราณมีการใช้สีที่สกัดจากพืชที่หาได้ตามท้องถิ่นมาย้อมผมและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ต้องการ รวมทั้งใช้ในสีผสมอาหารด้วย โดยสีธรรมชาติที่นำมาย้อมนั้นไม่เป็นอันตรายทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ด้วย เช่น ขมิ้นย้อมสีเหลือง เปลือกต้นสะเดาย้อมสีแดง ดอกอัญชันย้อม สีม่วง ซึ่งแนวโน้มในปัจจุบันสีธรรมชาติมีความนิยมและต้องการเพิ่มมากขึ้น แม้เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วสีเคมีจะให้สีสันที่สะดุดตากว่า แต่หากคำนึงถึงสุขภาพและสิ่งแวดล้อม สีธรรมชาติไม่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว จากการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้และสิ่งทอ สำนักเทคโนโลยีชุมชน กรมวิทยาศาสตร์บริการ พบว่ามีผู้ประกอบการหลายรายมีความพยายามในการย้อมสีผลิตภัณฑ์จักสานจากต้นกกด้วยสีธรรมชาติ แต่พบว่ากระบวนการย้อมสีเส้นกกที่เลียนแบบการย้อมผ้าจะใช้เวลานาน กล่าวคือจะต้องแช่วัตถุดิบในน้ำสี เป็นเวลานานหลายวัน แต่ผลที่ได้คือ สีติดไม่สม่ำเสมอและซีดจาง กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้และสิ่งทอฯ จึงทำการศึกษาวิจัยจนได้วิธีการย้อมสีธรรมชาติจากไม้ฝาง ขมิ้นชัน และพืชอื่นๆ ด้วยกระบวนการที่เร็วขึ้น และให้เฉดสีที่ชัดเจน

ข้อเสนอแนะในการนำไปต่อยอดเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากต้นกก

ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จากต้นกกหลากหลายมากขึ้น มีการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระเป๋ารูปแบบทันสมัย ชุดรองจาน ชุดรองแก้ว กระถางต้นไม้ เป็นต้น มีตลาดที่กว้างขวางขึ้น ความต้องการเพิ่มขึ้น เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถนำไปต่อยอดในการผลิตสินค้า และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่สมาชิกในกลุ่มอีกด้วย

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากต้นกก

เสื่อสีสันฉูดฉาดที่พัฒนาต่อยอดให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปแต่ยังคงเอกลักษ์ลายทอไว้คงเดิม อีกทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์อีกด้วย

ชุดรองจาน

ชุดรองแก้ว

ตะกร้ามินิมอล

กระถางต้นไม้วินเทจ

กระเป๋าแฟชั่น

 

 

อื่นๆ

เมนู