จิ้งหรีด แหล่งโปรตีนสำคัญในอนาคต
สวัสดีครับ กระผมนาย ธวัชชัยจันประโคน (ประเภท กพร.) ประจำต.สายตะกู อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
นาง ปราณี จันประโคน ชาวบ้านในพื้นที่บ้านสายโท13 หมู่ที่14 ต.สายตะกู อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ มีการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด เพื่อสร้างรายได้เสริมแก่ครอบครัว ด้วยสถาการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องหารายได้เสริมเพื่อแบ่งเบาภาระ ประคับประคองแก่ครอบครัว ซึ่งคุณ ปราณี ก็เช่นเดียวกันครับ
โดยเริ่มการเลี้ยงจิ้งหรีดเมื่อช่วงกลางปี 2563 เริ่มจากการสร้างโรงเรือนที่ต่อเติมจากตัวบ้าน ภายในโรงเรือนประกอบด้วยบ่อปูนซีเมนต์จำนวน 4 บ่อ สำหรับเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด
จากการสอบถามข้อมูลถึงวิธีการเลี้ยง ดูแล ตลอดจนการจับขาย การตลาด คุณปราณีเล่าว่า มีการสืบค้นข้อมูลจาก YouTube นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ ถึงวิธีการเลี้ยงจนถึงตอนจับขาย ในตอนแรกก็รู้สึกกังวลว่า เมื่อเลี้ยงแล้วจะขายที่ไหน แต่พอค่อยๆเรียนรู้ควบคู่กับการเลี้ยง และลงมือทำอย่างจริงจัง พอถึงวันกำหนดจับขาย (35 วัน) ก็ขายดีเกินคาด เรียกได้ว่าขายแบบเทน้ำเทท่า ขายง่ายมากๆ ซึ่งลูกค้าก็เป็นคนในพื้นที่ภายในตำบลสายตะกู ทำให้ไม่ต้องออกไปขายที่ไหนไกลเลย จิ้งหรีดที่จับได้นั้น คุณปราณีได้ทำการล้างน้ำผสมเกลือ แล้วน้อกด้วยน้ำแข็ง จากนั้นล้างน้ำเปล่าแล้วนำมานึ่งเป็นเวลาประมาณ 5 นาที แล้วนำออกมาบรรจุในถุงซิป นำไปแช่ในถังแช่แข็ง พอตกเย็นก็จะนำจิ้งหรีดออกขาย ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี
การเลี้ยงจิ้งหรีดตลอดจนถึงอายุที่การจับนั้นจะใช้เวลาประมาณ 35 วัน ในการจับแต่ละครังจะได้ปริมาณจิ้งหรีดประมาณ 100 กิโลกรัม/ครั้ง ซึ่งขายในราคากิโลกรัมละ 100 บาท เมื่อขายหมดจะได้เป็นเงินประมาณ 10,000บาท เมื่อหักค่าต้นทุนแล้วจะมีเงินคงเหลือประมาณ 5,000-6,000 บาท ถือว่าสามารถสร้างรายได้เสริมให้แก่ครอบครัวเป็นอย่างดี
ตอนต่อไปจะเป็นขั้นตอนการเลี้ยงจิ้งหรีด ตั้งแต่เริ่มจนถึงการจับขาย ซึ่งผมจะนำมาเล่าและอธิบายให้ทุกท่านได้รับชมในตอนต่อไปครับ สวัสดีครับ