จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งหนึ่งในมาตรการความช่วยเหลือคือการดำเนินโครงการขุดแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน โดยการขุดสระน้ำในไร่นา ขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร ไว้ใช้ในพื้นที่ทำการเกษตรนอกเขตชลประทาน และในพื้นที่ที่ระบบส่งน้ำไปไม่ถึง ถือเป็นการเพิ่มผลผลิตและรายได้แก่เกษตรกร อีกทั้งยังเป็นการบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกร  “โครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน” โดยการขุดสระน้ำในไร่นา เป็นการบรรเทาสภาพปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง การขาดแคลนน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำในพื้นที่เกษตรกรรม โดยจะให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการออกค่าใช้จ่ายสมทบ 2,500 บาท/บ่อ ซึ่งที่ผ่านมาโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานได้รับการตอบรับจากเกษตรในพื้นที่เป็นอย่างมาก พื้นที่ขุดสระน้ำ จะต้องเป็นพื้นที่ทำการเกษตรที่เป็นเกษตรกรเป็นเจ้าของ และมีเอกสารสิทธิ์ และมีหนังสือยินยอมให้เข้าดำเนินการขุดสระน้ำ เกษตรกรมีส่วนร่วมในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการขุดสระน้ำ เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าขนย้ายเครื่องจักร จำนวน 2,500 บาทต่อบ่อ ให้ผู้รับจ้าง

          สำหรับการคัดเลือกตามพื้นที่เป้าหมาย มีรายละเอียดดังนี้

1.พื้นที่ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร ต้องเป็นของเกษตรกรที่เป็นผู้ถือครองที่ดิน หรือเกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดิน

2.เป็นพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทาน ขาดแคลนระบบที่จะจัดส่งน้ำไปถึงได้ตลอดปี และประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นประจำ หรือแล้งซ้ำซาก ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการเข้าไปตรวจสอบพื้นที่

3.คัดเลือกพื้นที่ก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานตามเงื่อนไขของโครงการ เป็นลำดับแรก คือเป็นพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำ โดยพิจารณาจากคุณสมบัติของดิน หลีกเลี่ยงพื้นที่เป็นดินทรายจัด พื้นที่เกลือขึ้นเป็นดินเค็ม พื้นที่ซึ่งมีก้อนหินขนาดใหญ่

4.พื้นที่ดำเนินการควรมีขนาดไม่น้อยกว่า 30 x 40 ตารางเมตร โดยจะใช้ก่อสร้างสระอย่างน้อย 20 x 30 x 2.1 เมตร เพื่อให้เครื่องจักรสามารถทำงานได้โดยสะดวก และสามารถทำการเกลี่ยดิน ตกแต่งคันบ่อได้อย่างเรียบร้อย

ประโยชน์ของการขุดบ่อสระน้ำประจำไร่นา

1.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ทำการเกษตรนอกเขตชลประทานและพื้นที่ ระบบส่งน้ำไปไม่ถึงและมีแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตรตลอดทั้งปี

2.เพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้แก่เกษตรกร อีกทั้งเป็นการส่งเสริมและแก้ไขปัญหาในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของประชาชนในเขตพื้นที่

3.เพื่อเป็นการสนับสนุนหน่วยงานอื่นในการพัฒนาท้องถิ่นและต่อยอดโครงการด้านอื่นๆ

4.เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในเรื่องของภัยแล้งและอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในเขตพื้นที่

เพื่อเป็นการบรรเทาสภาพปัญหาภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพ  การเก็บกักน้ำในพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกร เพื่อเกษตรกรในพื้นที่นอกเขตชลประทานได้มีแหล่งน้ำที่เหมาะสม กับการเกษตร เป็นการสนับสนุนการทำเกษตรแบบผสมผสานตามหลักทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

อื่นๆ

เมนู