ข้าพเจ้านางลำไย นุชเวช ประเภทประชาชน ตำบลสายตะกู อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ข้าพเจ้าได้สนใจในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จึงได้เข้าไปสัมภาษณ์ นางสาวนิชมาศ ณ พล ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ในพื้นที่ หมู่ 2 บ้านสายโท 10 ใต้ ตำบลสายตะกู อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ โดยต่อไปจะเป็นการเก็บไหมสุก คัดเลือกไหม และการสาวไหม

การเก็บไหมสุก

  1. ไหมสุก หมายถึง หนอนไหมวัยนอนเฒ่าที่กินใบหม่อนเต็มที่แล้ว ก็จะเริ่มสุก พร้อมที่จะพ่นเส้นใยใช้เวลาประมาณ 5-6 วัน สังเกตได้ง่าย คือ ลำตัวหนอนไหมจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองใสอย่างเห็นได้ชัด เพราะภายของตัวหนอนไหมจะเต็มไปด้วยสารพ่นใยไหม ในระยะนี้หนอนไหมพร้อมที่จะพ่นใยไหมออกมาเพื่อห่อหุ้มตัว เรียกว่า ไหมทำรัง แล้วหนอนไหมก็จะพัฒนาไปเป็นดักแด้อยู่ภายในรัง                               
  2. การเก็บไหมสุกเข้าจ่อ ให้ทำการเก็บไหมสุกโดยการใช้มือ นำไปใส่ลงในจ่อ ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับไหมทำรัง ปริมาณหนอนไหมต่อจ่อจะต้องมีความเหมาะสมไม่แน่นจนเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดรังแฝด ซึ่งเป็นรังไหมชนิดหนึ่งของรังเสีย การเก็บไหมสุกเข้าจ่อจะต้องทำการเก็บให้ทันเวลา คือ จะต้องเก็บไหมสุกเข้าจ่อก่อนที่ไหมสุกจะพ่นเส้นใยทำรัง เพราะจะกระทบต่อผลผลิตรังไหม
  3. การเก็บเกี่ยวรังไหม ให้หนอนไหมทำรังอยู่ในจ่อประมาณ 2-3 วัน จึงทำการเก็บรังไหมออกจากจ่อ จากนั้นก็นำรังไหมไปทำการสาวเส้นไหมต่อไป

การคัดเลือกรังไหม

ก่อนที่จะมีการสาวไหมต้องคัดรังไหมที่เสียออกก่อน หลังจากที่เก็บรังไหมมาแล้ว ต้องทำการอบหรือต้มรังไหม (ถ้าต้มต้องทำให้แห้ง) แล้วเก็บในที่แห้ง สามารถเก็บได้นานถึง 6 เดือน โดยคุณภาพเส้นใยไม่เสีย

การสาวไหม

1. ติดไฟเตาต้มน้ำร้อน จนน้ำร้อนดีแล้ว ประมาณ 80-90 องศาเซลเซียส นำรังไหมที่จะสาวใส่ลงไปในหม้อเพื่อต้มรังประมาณ 2-3 นาที โดยหมั่นคนเพื่อให้ไหมสุกทั่วกัน

2. เอาแปรงเขี่ยรังไหมเบาๆ เส้นไหมจะติดแปรงขึ้นมา แล้วใช้มือรวบเส้นไหมจากแปรงดึงมารวมกัน สาวเป็นไหมลืบ หรือไหมสาม ไหมสามนี้จะเป็นไหมชั้นนอกหรือปุยไหม เมื่อสาวไหมด้านนอกหมดแล้ว ตักรังไหมออกพักไว้ แล้วเติมรังไหมลงต้มและทำตามวิธีการข้างต้นจนได้รังไหมพอสำหรับที่ต้องการสาวในวันนั้น โดยระหว่างการสาวไหมจะต้องเติมน้ำเย็นเป็นระยะ เพื่อไม่ให้น้ำเดือด เส้นที่ได้จะมีความหยาบและมีปุ่มปมมาก

3. เมื่อสาวไหมชั้นนอกออกหมดแล้ว ขั้นต่อไปก็คือการสาวไหมชั้นใน หรือเรียกว่าไหมน้อยหรือไหมยอด ซึ่งจะสาวเส้นเล็กหรือเส้นใหญ่ก็เติมรังไหมไปตามที่ต้องการ การสาวไหมชั้นนี้ผู้สาวต้องคอยเติมรังไหม เพื่อให้ได้เส้นไหมที่สม่ำเสมออยู่เรื่อย ๆ และรังไหมที่สาวจนถึงรังชั้นในที่เป็นรังบางๆเห็นดักแด้ ผู้สาวไหมต้องต้องหมั่นตักออก เส้นไหมที่ได้จะมีความเรียบและสวยงาม

4. ส่วนรังไหมชั้นใน จะนำมาสาวรวมกันเป็นเส้นไหมหยาบ เส้นที่ได้เรียกว่าไหมแลงหรือไหมยามค่ำ ซึ่งมีลักษณะคล้ายไหมสาม

5. การสาวไหมทุกวิธีจะสาวเส้นไหมลงตะกร้า เมื่อเสร็จแล้วจะต้องโรยทับเส้นไหมด้วยกรวด หรือทราย หรือข้าวสาร เพื่อไม่ให้เส้นไหมพันกันเมื่อนำเส้นไหมไปกรอทำเข็ดหรือไจ การกรอทำเข็ดโดยใช้อุปกรณ์ในการกรอคือเหล่ง แล้วมัดปลายเส้นไหม และมัดด้ายแยกเส้นไหมเป็นช่วงๆเพื่อป้องกันการพันกันของเส้นไหม

การสาวไหม มีวิธีการสาวอีกวิธีที่นิยมทำกันคือไม่แบ่งเป็นไหมชั้นนอกและชั้นใน โดยจะทำการสาวรวมกันไปโดยไม่แยกชั้นนอกและชั้นใน ถ้าผู้สาวที่ชำนาญจะได้เส้นไหมที่สม่ำเสมอดีเกือบเท่าไหมชั้นหนึ่ง การสาวแบบนี้เรียกการสาวรวม เส้นที่ได้เรียกว่า ไหมรวม หรือไหมสาวเลย หรือไหมชั้นสอง

อื่นๆ

เมนู