ประวัติความเป็นมาของตำบลสายตะกู ตำบลสายตะกูเดิมขึ้นอยู่กับตำบลปราสาท อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ต่อมาได้แยกตั้งเป็นตำบลสายตะกู ในปี พ.ศ.2522 โดยมีนายประชิด โกรัตน์ เป็นกำนันคนแรก ราษฎรส่วนใหญ่เป็นราษฎรที่อพยพมาจากถิ่นอื่น ๆ เช่น สุรินทร์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ฯลฯ สาเหตุที่มีชื่อว่า สายตะกู เพราะตั้งตามชื่อลำห้วย ไซตะกู ซึ่งเป็นลำห้วยเล็ก ๆ ไหลผ่านและลำห้วยนี้ไหลผ่านหมู่บ้าน ชื่อบ้านสายตะกู และชื่อตำบลสายตะกู เนื่องจากตำบลสายตะกูมีประชากรอพยพเข้ามาจากถิ่นฐานอื่นๆ ทำให้เกิดความหลากหลายทางด้าน วัฒนธรรม เชื้อชาติ ประเพณี สำเนียง ภาษาและความเชื่อต่างๆ และอีกสิ่งหนึ่งที่มีบทบาทกับวิถีชีวติของคนในชุมชน คือ ศิลปะทางด้านดนตรี(ดนตรีพื้นบ้าน) วงดนตรีพื้นบ้านเป็นวงที่ใช้บรรเลงในแต่ละท้องถิ่น เป็นกิจกรรมที่มีบทบาทอยู่เฉพาะในวิถีชีวิตของสังคมและวัฒนธรรมนั้นๆ วงดนตรีพื้นบ้านของตำบลสายตะกู ประกอบไปด้วยวงกลองยาว ซึ่งใช้เล่นเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน ต่อมาได้รวมกลุ่มกันเล่นในงานต่างๆ เช่น งานแห่เทียนเข้าพรรษา งานบวช งานแต่ง งานขึ้นบ้านใหม่ และงานเครื่องเคลือบพันปีประเพณีบ้านกรวด ซึ่งเป็นงานประจำอำเภอโดยจะจัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน แต่ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่ต่างแยกย้ายไปทำงานต่างถิ่น ทำให้วงกลองยาวไม่มีผู้สืบทอด อนุรักษ์ ศิลปะดนตรีแขนงนี้ต่อ ทำให้ในปัจจุบันวงกลองยาวของตำบลสายตะกูได้เลื่อนลางและจางหายไปตามวันและเวลา วงกันตรึมเป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวเขมรสูงหรือชาวอีสานใต้แต่เดิมจะเล่นประกอบพิธีกรรมรักษาคนไข้ โดยเชื่อว่าผู้ป่วยถูกเทวดาลงโทษ ต่อมาวงกันตรึมนิยมเล่นในงานมงคล แต่ในบางพื้นที่นิยมเล่นในงานศพ เครื่องดนตรีวงกันตรึมประกอบไปด้วย ตรัวซอ(กันตรึม) สะกรัว(กลองกันตรึม) เป็ย(ปี่อ้อ) ฉิ่ง ฉาบเล็ก กรับ นายเพือย จันประโคน อายุ 79 ปี บ้านเลขที่ 81 หมู่ 14 ต.สายตะกู อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ เป็นปราชญ์ดนตรีพื้นบ้านของชาวเขมรและยังเป็นปราชญ์ที่อนุรักษ์ดนตรี(กันตรึม)ที่ยังคงเหลืออยู่ในตำบลสายตะกู นายเพือย เริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่อายุ 15 ปี สืบทอดจากต้นตระกูลที่สืบทอดกันมาและครูผู้สอนวิชาดนตรี เครื่องดนตรีที่เล่น ซอด้วง ซออู้
เขียนโดย นางสาวปณิธาน ยงปัญญา