ข้าพเจ้านางลำไย นุชเวช ประเภทประชาชน ตำบลสายตะกู อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ข้าพเจ้าได้สนใจในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จึงได้เข้าไปสัมภาษณ์ นางสาวนิชมาศ ณ พล ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ในพื้นที่ หมู่ 2 บ้านสายโท 10 ใต้ ตำบลสายตะกู อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
หม่อน หรือ มัลเบอร์รี ภาคอีสานเรียก มอน เป็นพืชอาหารตามธรรมชาติชนิดเดียวของหนอนไหม โดยหม่อนในประเทศไทยมีหลายสายพันธุ์ ได้แก่
- หม่อนน้อย เป็นหม่อนที่ให้ดอกตัวผู้ กิ่งมีขนาดใหญ่ ลำต้นสีนวล มีตามาก ลักษณะของใบหนาเป็นมันสีเขียวแก่รูปใบโพธิ์ขอบใบเรียบ ลักษณะที่ดีของพันธุ์นี้คือทนแล้ง ขยายพันธุ์ง่ายด้วยกิ่งปักชำ ให้ผลผลิตประมาณ 1,500-2,000 กิโลกรัม/ไร่/ปี แต่ไม่ต้านทานต่อโรครากเน่า
- หม่อนสร้อย เป็นหม่อนที่ให้ดอกตัวผู้ กิ่งมีขนาดใหญ่แตกแขนงมาก ใบมีทั้งขอบใบเรียบและขอบใบเว้า อยู่ในต้นเดียวกัน ใบบางเหี่ยวเร็ว ผิวใบสากมือ เป็นหม่อนที่ทนแล้ง ให้ผลผลิตประมาณ 2,000 กิโลกรัม/ไร่/ปี
- หม่อนไผ่ เป็นหม่อนที่ให้ดอกตัวเมีย กิ่งมีขนาดปานกลาง ลำกิ่งอ่อนโค้ง สีน้ำตาลเขียว ลักษณะใบเว้า มีพื้นที่ใบน้อย ใบบางสากมือ ให้ผลผลิตต่ำ แต่มีข้อดีคือ ต้านทานโรครากเน่า จึงเหมาะสำหรับปลูกเป็นต้นตอ เพื่อติดตาหม่อนพันธุ์ดีหรือพันธุ์ลูกผสม
- หม่อนคุณไพ เป็นหม่อนที่ให้ดอกตัวเมีย กิ่งมีขนาดใหญ่ ขอบใบไม่เว้า ใบมีลักษณะเป็นคลื่น ค่อนข้างบาง ให้ผลผลิตสูงและต้านทานต่อโรครากเน่า แต่ไม่ทนแล้งและเหี่ยวง่าย
- หม่อนนครราชสีมา 60 (นม. 60) เป็นหม่อนที่ให้ดอกตัวเมีย ลำต้นตั้งตรง กิ่งสีเทา ใบเป็นรูปใบโพธิ์ ใบเลื่อมมัน หนาปานกลาง ผิวใบเรียบ เป็นหม่อนพันธุ์ลูกผสม ให้ผลผลิตประมาณ 3,600 กิโลกรัม/ไร่/ปี ต้านทานต่อโรคราแป้ง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีติดตา
- หม่อนบุรีรัมย์ 60 (บร. 60) เป็นหม่อนที่ให้ดอกตัวเมีย ลำต้นตั้ง ตรง หลังจากมีการตัดแต่งแล้วสามารถ แตกกิ่งได้เร็ว กิ่งมีสีน้ำตาล ใบไม่แฉก ผิวใบเรียบ ใบใหญ่หนา อ่อนนุ่ม ให้ผลผลิตดี ในสภาพที่มีน้ำ เป็นหม่อนพันธุ์ลูกผสม ให้ผลผลิตประมาณ 4,300 กิโลกรัม/ไร่/ปี ขยายพันธุ์โดยการปักชำ
โดยทั่วไปแล้วตำบลสายตะกู อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ จะนิยมปลูกพันธุ์หม่อนบุรีรัมย์ 60 (บร. 60) เนื่องจากเป็นพันธุ์พื้นถิ่น ปลูกง่าย โตเร็ว มีผิวใบเรียบ ใบใหญ่หนา ไม่แตกแขนง ทำให้สามารถเก็บได้ง่าย มีสารอาหารที่ทำให้หนอนไหมที่เจริญเติบโตเต็มที่ และนำโปรตีนในใบหม่อนไปสร้างเป็นโปรตีนผลิตเป็นเส้นไหมได้