ข้าพเจ้านางสาวอรทัย ลูกแก้ว ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ตำบลสายตะกู อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่ในตำบลสายตะกู ได้พบเห็นอาหารในชุมชนรู้สึกว่ามีความน่าสนใจ จึงได้ศึกษาเกี่ยวกับอาหารพื้นถิ่นที่มีอยู่ในตำบลสายตะกู อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์

อาหารพื้นถิ่นในตำบลสายตะกู ส่วนใหญ่จะมีรสเผ็ด เค็ม เปรี้ยว แต่ไม่นิยมรสเปรี้ยวมาก รสเปรี้ยวจะใช้มะนาว มะกอก ส้มมะขาม มดแดง รสเค็มใช้ปลาร้า ไม่นิยมเครื่องเทศแต่ใช้พืชประเภทแต่งกลิ่น เช่น ผักชีลาว ตะไคร้ ใบมะกรูด อาหารประเภทเนื้อสัตว์จะเป็นเนื้อวัว เนื้อควาย ปลาน้ำจืด และสัตว์ที่จับได้ในท้องถิ่น อาหารพื้นถิ่นจะมีรสจัดและน้ำน้อย วิธีปรุงอาหารมีหลายวิธี คือ ลาบ ก้อย จํ้า จุ๊ หมก อู่ เอ๊าะ อ่อม แกง ต้ม ซุป เผา กี่ ปิง ย่าง รม ดอง คั่ว ลวก นึ่ง ตำ แจ่ว ป่น เมี่ยง ดังนั้นอาหารพื้นถิ่น จึงมีความหลากหลายและมีรูปแบบที่น่ารับประทานมาก

อาหารพื้นถิ่นที่นิยม

  1. แกงนางหวานใส่ไข่มดแดง

ส่วนผสม

  1. ก้านบอน 10 ก้าน (ก้านบอนนำมาปอกเปลือกหั่นเป็นท่อนไม่เล็กไม่ใหญ่ แล้วนำไปใส่หม้อต้มให้สุก)
  2. ใบแมงลัก 10 ยอด (ล้างน้ำให้สะอาด)
  3. ใบย่านางหนึ่งกำมือ (ใบย่านางนำไปล้างน้ำให้สะอาดคั้นเอาสีเขียวๆ ใส่ถ้วยเตรียมไว้)
  4. ไข่มดแดง 1 ถ้วย
  5. พริกขี้หนู 3 เม็ด
  6. หัวหอม 2 หัว
  7. ตะไคร้ 1 ต้น

วิธีทำ

นำพริกสดหัวหอมตะไคร้โขลกรวมกันให้ละเอียด จากนั้นนำน้ำใบย่านางที่เตรียมไว้ไปใส่หม้อตั้งไฟจนเดือด แล้วนำบอนที่ต้มสุกแล้วใส่ลงในหม้อตามด้วยเครื่องแกง หัวที่โขลกไว้ น้ำเดือดได้ที่เทไข่มดแดงลงไป ปรุงรสด้วยน้ำปลาหรือน้ำปลาร้า ก่อนยกจากเตาโรยใบแมงลักลงไปปิดท้าย ปิดฝาหม้อแล้วยกได้เลย เปิดออกมาจะได้กลิ่นหอมฉุย

  1. แกงหน่อไม้

ส่วนผสม

  1. หน่อไม้รวก ต้มสุกหั่นท่อนขนาดพอคำ 2 ถ้วย
  2. เห็ดนางฟ้าฉีกเป็นชิ้นพอคำ 1 ถ้วย
  3. ชะอมเด็ดเป็นช่อ ครึ่งถ้วย
  4. ใบแมงลัก ครึ่งถ้วย
  5. ตะไคร้ซอย 2 ต้น
  6. หอมเล็กซอย 5 หัว
  7. พริกขี้หนูสวน 10-15 เม็ด
  8. น้ำปลาร้า 5 ช้อนโต๊ะ
  9. น้ำปลา 3 ช้อนโต๊ะ
  10. ข้าวเบือ (ข้าวเหนียวแช่น้ำ) โขลกละเอียด 2 ช้อนโต๊ะ
  11. น้ำเปล่า 3 ถ้วย
  12. ใบย่านาง 25-30 ใบ (นำไปล้างน้ำให้สะอาดคั้นเอาสีเขียวๆ ใส่ถ้วยเตรียมไว้)

วิธีทำ

  1. โขลกตะไคร้ หอมเล็ก และพริกขี้หนูเข้าด้วยกันจนละเอียด พักไว้

โขลกใบย่านางให้ละเอียด แล้วคั้นรวมกับน้ำ จากนั้นกรองส่วนที่เป็นใบย่านางออก จะได้น้ำสีเขียวเข้ม นำไปตั้งไฟให้เดือด

  1. ใส่เครื่องแกงที่เตรียมไว้ในข้อแรก ลงคนผสมให้เข้ากัน ตามด้วยหน่อไม้ ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้าและน้ำปลา จากนั้นใส่ข้าวเบือลงไป ตั้งไฟให้ส่วนผสมเดือดอีกครั้ง ใส่เห็ดนางฟ้า ชะอม และใบแมงลัก คนพอเข้ากัน ปิดไฟ ยกลงจากเตา ตักใส่ถ้วยพร้อมเสิร์ฟได้ทันทีค่ะ
  2. ก้อยกุ้ง (กุ้งเต้น)

ส่วนผสม

  1. กุ้งฝอย 1 ถ้วยตวง
  2. ต้นหอมซอย 2 ต้น
  3. ผักชีฝรั่งซอย 2 ช้อนโต๊ะ
  4. ตะไคร้ซอย 3 ช้อนโต๊ะ
  5. หอมแดงซอย 3-5 หัว
  6. ใบสะระแหน่ 4 ใบ
  7. ข้าวคั่ว
  8. พริกป่น ตามชอบ
  9. น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
  10. น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

กุ้งฝอยเป็นๆ ล้างให้สะอาด ใส่กระชอนสะเด็ดน้ำไว้ จากนั้นเทใส่ชามหรือหม้อสำหรับคลุก ใส่น้ำมะนาว ข้าวคั่ว พริกป่น น้ำปลา ผักชีฝรั่ง ต้นหอม หอมแดงและตะไคร้ซอย เคล้าให้เข้ากัน ตักใส่จานโรยหน้าด้วยใบสะระแหน่ กินแกล้มกับผักสดต่างๆ

  1. ปลาร้าสับ

ส่วนผสม

  1. ปลาร้า 2 ขีด (เอาแต่ตัวนะคะไม่เอาน้ำค่ะ)
  2. ตะไคร้ 5 ต้น
  3. หอมแดง 5 หัว
  4. กระเทียมไทย 5 หัว
  5. ใบมะกรูด 10 ใบ
  6. ข่าแก่ 2 แง่ง
  7. พริกแห้งหรือพริกสด ตามชอบ2 ถ้วย
  8. น้ำตาลทรายเล็กน้อย
  9. น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
  10. น้ำมะขามเปียก 1 ช้อน (ถ้าไม่ใส่เก็บได้นานกว่า)

วิธีทำ

นำปลาร้ามาห่อใบตองย่างหรือกริวในกระทะให้หอม เสร็จแล้วนำมาสับให้ละเอียดแล้วพักไว้ นำข่า ตะไคร้ใบมะกรูด กระเทียม และหอมแดงมาหั่น นำไปคั่วให้หอมแล้วนำมาโขลกให้ละเอียด ใส่ปลาร้าที่สับแล้วใส่ลงไปโขลกเข้าด้วยกัน ปรุงรสด้วยน้ำปลา หรือน้ำปลาร้า น้ำตาลทราย และ น้ำมะขามเปียก ชิมรสตามชอบ โรยด้วยใบมะกรูดหั่นฝอยเพื่อความหอมอีกนิด ตกใส่ถ้วยพร้อมเสิร์ฟ

อาหารพื้นถิ่นที่นำเสนอมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอาหารถิ่นในตำบลสายตะกูเท่านั้น เพราะในตำบลยังมีอาหารพื้นถิ่นที่น่าสนใจอีกมากมายที่รอให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจ ได้แวะชิม ลิ้มลองรสชาติของอาหารอีสานไทบ้าน แซ่บๆ กันอยู่นะคะ

อื่นๆ

เมนู