ข้าพเจ้านางสาวเขมิกา มิถุนาวงค์ ประเภท นักศึกษา เริ่มปฏิบัติงาน โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ณ ตำบลสายตะกู อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ โดยข้าพเจ้าได้ลงไปสำรวจข้อมูลพื้นฐานของครัวเรือน ณ  หมู่บ้านสายโท 10 ใต้ หมู่ 2  ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564              จากการไปสัมภาษณ์ผู้คนในชุมชน จึงพบว่า ตำบลสายตะกูนั้นมีความหลากหลายทางกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีทั้ง ไทย – ลาว ไทย-เขมร ไทย-โคราช และไทย-ส่วย จึงทำให้มีประเพณีและวัฒนธรรมที่หลากหลาย ประเพณีของชาวไทย-ลาวที่สำคัญ คือ     ประเพณีฮีตสิบสอง เป็นประเพณี 12 เดือน ที่เกี่ยวกับความเชื่อและการดำรงชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ ไทย-ลาว ซึ่งมีแนวปฏิบัติที่  แตกต่างกันในแต่ละเดือนเพื่อความเป็นสิริมงคลในการดำเนินชีวิต ซึ่งในแต่ละเดือนก็จะมีประเพณีที่ปฏิบัติคือ 1. เดือนอ้าย-บุญ   เข้ากรรม 2. เดือนยี่-บุญคุณลาน 3. เดือนสาม-บุญข้าวจี่ 4. บุญผะเหวด 5. เดือนห้า-บุญฮดสรง 6.เดือนหก-บุญบั้งไฟ 7. เดือนเจ็ด-บุญซำฮะ 8. เดือนแปด-บุญเข้าพรรษา 9. เดือนเก้า-บุญข้าวประดับดิน 10. เดือนสิบ-บุญข้าวสาก 11. เดือนสิบเอ็ด-บุญออกพรรษา 12. เดือนสิบสอง-บุญกฐิน

โดยในเดือน กุมภาพันธ์ นั้น ประเพณีที่สำคัญของชาวไทย-ลาว คือ ประเพณีบุญข้าวจี่ ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือน 3  หรือที่เรียกว่า บุญเดือน 3   บุญข้าวจี่เป็นบุญประเพณีสำคัญที่มีกำหนดอยู่ในฮีตสิบสอง ดังที่เรารู้จักกันว่า เดือนสามคล้อยจั่วหัวปั้นข้าวจี่ เดือนสี่คล้อยจัวน้อยเทศน์มะที (มัทรี)  ผู้คนในชุมชนแต่ละบ้านจะปั้นข้าวจี่ แล้วนำมาถวายที่พระที่วัด ซึ่งข้าวจี่ ก็คือ ข้าวเหนียวที่ปั้นแล้วนำไข่มาทาด้านบนพร้อมทั้งโรยเกลือ เพื่อให้มีสีสันที่น่ารับประทานและมีรสชาติที่อร่อย ประเพณีบุญข้าวจี่นั้น มีมูลเหตุมาจากความเชื่อทางพุทธศาสนา ตั้งแต่สมัยพุทธกาล ที่มีหญิงคนหนึ่งทำข้าวจี่ไปถวายพระพุทธเจ้า  เนื่องจากนางไม่มีสิ่งใดไปถวายแต่พระพุทธองค์หยั่งรู้จิตใจของนางและได้ฉันข้าวจี่  การถวายข้าวจี่ในคราวนั้นส่งผลให้นางได้รับอานิสงส์ผลบุญมาก ด้วยเหตุนี้ในช่วงเทศกาลบุญเดือนสามชาวอีสานทำข้าวจี่ไปถวายพระจนถึงทุกวันนี้ ชาวบ้านในชุมชนจึงได้สืบสานประเพณีบุญข้าวจี่และยังคงอนุรักษ์ประเพณีนี้ไว้ไม่ให้สูญหาย

 

 

 

 

     

 

 

อื่นๆ

เมนู