ผ้าไหม 11/12/2564
จากการที่ได้ลงพื้นที่บ้านบัว หมู่ที่ 16 ต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายเดือน ก็ได้เห็นงานเทศกาลและกิจกรรมที่ชาวบ้านได้ทำการเฉลิมฉลองร่วมกันหลายครั้ง และทุกครั้งชาวบ้านได้นุ่งผ้าไหมอันสวยงามมากันอย่างหลากหลายตา แต่ละอันสวยงามมาก ข้าพเจ้าจึงได้สอบถามผู้ใหญ่สมใจ มมประโคนว่า ที่นี่มีการทอผ้าไหมด้วยหรือเปล่า ผูใหญ่ก็บอข้าพเจ้าว่า ก็มีแต่น้อย ส่วนมากในละแวกนี้ก็มีที่ โคกเมือง แต่ที่มีชื่อก็ที่ พุทไธสงและนาโพธิ์ ผู้ใหญ่สมใจก็ได้ เล่าความเป็นมาของการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการทอผ้าไหมของชาวบุรีรัมย์ทั่วไปให้ข้าพเจ้าฟัง
การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมของชาวบุรีรัมย์ ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน เริ่มส่งเสริมอย่างจริงจังตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 การจัดตั้งสถานีเลี้ยงไหมปลูกหม่อนที่จังหวัดบุรีรัมย์ ทำให้ ไหมบุรีรัมย์มีชื่อเสียงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และในปี พ.ศ. 2520 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้รับเอากลุ่มทอผ้าไหมนาโพธิ์เป็นสมาชิกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในพระองค์ ในปี 2542 มีการก่อสร้างศูนย์หัตกรรมพื้นบ้านอำเภอนาโพธิ์ เพื่อรองรับแผนงานด้านการพัฒนาอาชีพตามโครงการส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งที่อำเภอนาโพธิ์ ซึ่งทรงเสด็จเยี่ยม จำนวน 5 ครั้ง จึงยกระดับฝีมือทอผ้าชาวบุรีรัมย์ให้ดียิ่งขึ้นเป็นต้นมา
ผ้าไหมบุรีรัมย์ มีสีสันลวดลายหลากหลาย ตามความนิยมของชาวบุรีรัมย์ที่มี 4 ชนเผ่า ได้แก่ ชนเผ่าไทยเขมรนิยมผ้าไหมลายหางกระรอก ลายลูกแก้ว ชนเผ่าชาวกูยนิยมผ้าไหมกระเนียวลายริ้วเป็นทางยาว สตรีนิยมใส่ซิ่นที่มีหัวและตีนซิ่น และนิยมผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือเป็นสีดำ ชนเผ่าชาวไทยโคราชนิยมผ้าไหมลายหางกระรอก ชนเผ่าไทยลาวนิยมผ้าย้อมครามและมัดหมี่ ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับ ว่าเป็นผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ “ผ้าซิ่นตีนแดง” ผลิตที่อำเภอพุทไธสงและนาโพธิ์
จังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีการส่งเสริมการพัฒนาลายเอกลักษณ์ผ้าไหมประจำจังหวัดขึ้น โดยในปี 2546 ได้ “ลายหางกระรอกคู่” ปี 2553 มีการออกแบบผสมผสานระหว่างลายที่เป็นเอกลักษณ์ของชนทั้ง 4 เผ่า กับจุดเด่นของจังหวัดบุรีรัมย์ เกิดเป็น “ลายกระรอกหมี่ภูภิรมย์” หรือ “ผ้าไหมลาวา” และในปี 2555 มีการออกแบบผสมผสานระหว่างลายหางกระรอกคู่และผ้าซิ่นตีนแดง เป็น“ลายหางกระรอกคู่ตีนแดง” ในปัจจุบัน.
นางประคอง อายุ 75 ปี เธอเริ่มทอผ้าตั้งแต่อายุ 13 ปี “เมื่อ 50 ปีก่อน จังหวัดบุรีรัมย์ ขึ้นชื่อเรื่องความแห้งแล้ง ไม่มีนา ไม่มีข้าว ไม่มีหม่อน ข้าวสารถังละ 3 บาท ขณะที่ชาวบ้านทอผ้าไหมผืนละ 80 บาท”
แต่ความแร้นแค้นเริ่มหมดไปเมื่อปี 2516 ความอัตคัด-ขัดสน ถึงพระเนตรพระกรรณ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 กองเลขานุการในพระองค์ และท่านผู้หญิงจรุงจิต ทีขะระ นางสนองพระโอษฐ์ และราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทำให้ผ้าไหมชองบุรีรัมย์ ได้ถูกส่งเข้าโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ
จากการรวบรวมชาวบ้านที่มีฝีมือการทอผ้าไหมที่สวยงาม ชนะการประกวดผ้าไหมในระดับภาคและระดับประเทศ ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการส่งเสริมอาชีพตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อสืบสานงานทอผ้าไหมไทย สนองแนวพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9
นางประคองเล่าว่า “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ท่านช่วยเราและชาวบ้าน นอกจากส่งผ้าที่ศูนย์ศิลปาชีพแล้ว เราได้ส่งผ้าไปขายที่ร้านภูฟ้าด้วย เรารู้ดีว่างานที่ส่งให้ร้านภูฟ้า ต้องเป็นงานที่ดีเยี่ยม เราจึงปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนราชการต่างๆ ก็เข้ามาช่วยเรื่องสีธรรมชาติและเรื่องอื่นๆ” ป้าประคองเล่าอย่างปลื้มใจ
ป้าประคองบอก ว่า “ทำผ้าไหม ไม่รวย แต่ไม่มีหนี้ คนที่ทอผ้า จะมีรายได้ราว 3,000-5,000 บาท ต่อเดือน” ผ้าไหมที่นี่มีจุดเด่นที่มาจากการทอมือ เนื้อแน่น เส้นใหญ่ ไม่มันวาว เส้นไหมละเอียด แม้ว่าเนื้อผ้าจะแน่น แต่เบาโปร่งสบาย มีทั้งลายพื้นเมืองดั้งเดิม เช่น ลายพญานาค ลายช่องพลู ลายบันไดสวรรค์ และลวดลายสมัยใหม่ที่ประยุกต์ให้มีความร่วมสมัย ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยม คือ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ที่มีลายไม่เหมือนกันในแต่ละผืน เป็นลายที่มีผืนเดียวในโลก นอกจากนี้ยังมีผ้าไหมมัดหมี่ด้วย
ทุกวันนี้ จากเดิมที่มีไม่กี่ครัวเรือน มีกระบวนการผลิตที่ละเมียดละไม ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ต้มรังไหมด้วยฟืน ทอผ้าได้วันละ 1 เมตร ต่อ 1 คน จากในระยะเริ่มต้นเมื่อปี 2516 ต้องใช้เวลาทอถึง 3 เดือนกว่าจะได้ผ้า 12 เมตร
บางครอบครัวก็จะเลี้ยงไหมเอง ปลูกหม่อนเอง เพื่อเป็นรายได้เสริมจากการทำนา การปลูกต้นหม่อนก็เพียงแค่ปักชำต้นที่มีตาที่แตกยอดเท่านั้น ตัวไหมก็ได้มาจากศูนย์เกษตรมาเลี้ยงแต่ตัวเล็กๆ แค่เดือนเดียวก็สามารถสาวเส้นไหมได้
รายได้แต่ละครอบครัวก็มาจากการขายใบหม่อน เส้นไหม และตัวดักแด้ด้วยประมาณปีละ 30000 – 40000บาท