ข้าพเจ้านางสาวปิยฉัตร นารี ประเภท: นักศึกษา ตำบลปราสาท อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์

ลงพื้นที่สำรวจแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและนวัตวิถี ในพื้นที่ตำบลปราสาท โดยมีแหล่งท่องเที่ยวที่ทำการสำรวจในพื้นที่ 3 สถานที่ ได้แก่ ปราสาททอง วัดลานหินตัด และช่องโอบก

ปราสาททอง บ้านโคกปราสาท อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ก่อสร้างด้วยอิฐและหินทรายจำนวน 3 หลัง บนฐานศิลาแลงเดียวกัน ปราสาททั้งสามหลังตั้งเรียงกันในแนวทิศเหนือ-ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้ามีวิหารหรือบรรณาลัยก่อด้วยอิฐจำนวน 2 หลัง อาคารทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีประตูซุ้ม(โคปุระ) ด้านทิศตะวันออกเป็นทางเข้า ด้านทิศเหนือและทิศใต้ของแนวกำแพงมีห้องขนาดเล็ก มีประตูทางเข้าจากพื้นที่ภายในด้านหน้ามีแนวทางเดินปูด้วยอิฐ มีคูน้ำล้อมรอบโดยเว้นทางด้านทิศตะวันออกจากการขุดแต่งพบโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่น ทับหลังหินทรายสลักภาพพระอินทร์ประทับในซุ้มเรือนแก้วเหนือหน้ากาล ส่วนยอดปราสาท ประติมากรรมรูปสิงห์ เป็นต้น กำหนดอายุได้ว่าปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นในศิลปะเขมรแบบบาปวน ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 17 หรือประมาณ 800 ปีมาแล้ว
ปราสาททองได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณของชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 100 ตอนที่ 36 วันที่ 15 มีนาคม 2526 เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 1 งาน 25 ตารางวา

 ลานหินตัด  เป็นลักษณะธรรมชาติที่สวยงามมาก ตั้งอยู่ในื้องที่ตำบลปราสาท อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ มีประชาชนสนใจไปเที่ยวชมมาก สามารถเดินทางโดยกระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ ทะลุเข้าไปประมาณ 12 กิโลเมตร ถึงจุดตรวจ ตชด.01 เลี้ยวขวาไปตามถนนลูกรัง แล้วขึ้นเขาประมาณ 6 กิโลเมตร บริเวณจุดชมลานหินตัดมีลักษณะเป็นลานหินกว้างบนยอดเขา และสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของประเทศเพื่อนบ้านคือประเทศสาธารณรัฐกัมพูชาประชาธิปไตย

ช่องโอบก ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตาพระยา เป็นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยกัมพูชา แต่สถานการณ์ปัจจุบันไม่เหมาะแก่การท่องเที่ยว เนื่องจากอาจจะได้รับอันตรายจากวัตถุระเบิด เคยเป็นเส้นทางติดต่อระหว่างคนไทยและคนกัมพูชา เมื่อ พ.ศ.2518 เป็นต้นมา กัมพูชาได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบสังคมนิยมและได้ใช้ช่องโอบกเป็นช่องทางลำเลียงกำลังพล และอาวุธยุทโธปกรณ์ข้ามมาก่อการร้ายในประเทศได้มีการสู้รบอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยกัมพูชาได้ยึดเอาช่องโอบกเป็นเนิน 472 และเนิน 538 เป็นฐานที่มั่นในการสู้รบ ปี พ.ศ.2528 กองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 โดย ฉก.ร. 23 ได้เข้าผลักดัน และยึดเนิน 472 ไว้ได้จนถึงปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2530 กองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 โดย ฉก.ร.8 ก็ได้เข้าผลักดันและยึดเนิน 538 ไว้ได้อีกจนถึงปัจจุบัน และปี พ.ศ. 2531 กองกำลังสุรนารี โดย ฉก.ร.3 ได้เข้าผลักดันและยึดฐานปฏิบัติการปากช่องโอบกแห่งนี้ไว้ได้ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2531 ปัจจุบันมีหน่วยทหารพรานคอยดูแลพื้นที่ ทางเข้าอยู่ตรงนิคมบ้านกรวด เข้าไปประมาณ 11 กิโลเมตร จะถึงจุดชมทิวทัศน์ ช่องโอบกเคยเป็นช่องผ่อนปรนระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งสามารถค้าขายได้อย่างเสรี และมีจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นเทือกเขาฝั่งกัมพูชาได้อย่างชัดเจน แต่ในปัจจุบันยังไม่เปิดให้ท่องเที่ยว

อื่นๆ

เมนู