ปรินทร์ ยอดสวัสดิ์

 

       กระผมนายปรินทร์ ยอดสวัสดิ์ ประเภทบัณฑิตจบใหม่ เป็นผู้ปฏิบัติงานตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) ตำบลเขาดินเหนือ อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์

       เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 คณะอาจารย์ประจำหลักสูตรและทีมผู้ปฏิบัติงานได้เข้าร่วมประชุม ณ ศาลาเขาดินเหนือเก่าพัฒนาประชาร่วมใจ ตำบลเขาดินเหนือ เพื่อพบปะผู้นำชุมชนและรับฟังรายละเอียดของโครงการโดยสรุปอย่างชัดเจน เช่น วัตถุประสงค์ของโครงการ เป้าหมาย แผนงาน กิจกรรม  บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล เป็นต้น หลังจากนั้นได้มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการสำรวจศักยภาพตำบล 16 เป้าหมาย โดยกระผมได้รับมอบหมายให้สำรวจเป้ามายที่ 12 ระบบดูแลสุขภาพชุมชนดูแลประชาชนทุกคน กระผมได้ทำการสอบถามข้อมูลจากกองสวัสดิการสังคม กองสาธารณสุข กลุ่มองค์กร และคณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งได้ข้อมูลที่ครบถ้วนครอบคลุมและได้รับความร่วมมืออย่างดีในการให้ข้อมูล

       ในวันที่ 7-18 กุมภาพันธ์ 2564 กระผมและทีมงานได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลตามแบบฟอร์ม 01-02     แบบสำรวจครัวเรือนและผลกระทบเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรน่า (COVID-19)  ซึ่งได้รับมอบหมายจำนวน 6 หมู่บ้าน ประกอบไปด้วย หมู่ที่ 2 บ้านฉันเพล หมู่ที่ 3 บ้านเขาดินเหนือ  หมู่ที่ 4 บ้านศรีสุขน้อย  หมู่ที่ 6 บ้านตรุง หมู่ที่ 10 บ้านเขาดินเหนือพัฒนา หมู่ที่ 11 บ้านหลักชัย กระผมและทีมงานได้ทำการยื่นหนังสือเพื่อขออนุญาตผู้ใหญ่บ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน เพื่อช่วยประสานงานและชี้แจงรายละเอียดของโครงการกับชาวบ้านก่อนที่จะลงพื้นที่เก็บข้อมูล ซึ่งการเก็บข้อมูลในครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น เนื่องจากชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

       จากการสำรวจข้อมูลเป้าหมายที่ 12 พบว่า  กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยเอชไอวีและเด็กปฐมวัย สตรีตั้งครรภ์ ซึ่งกลุ่มคนดังกล่าวเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับความรู้ในการดูแลตนเองอย่างถูกวิธี เพราะเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอและอาจมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานดำเนินการในเรื่องของการเก็บรวบรวมข้อมูลข้างต้นเพื่อดูแลในเรื่องของสวัสดิการเบี้ยยังชีพ การประสานงานและการให้ความช่วยเหลือในด้านสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น โดยได้รับงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) และการเปิดรับบริจาคจากภาคส่วนต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีการจัดทำโครงการเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ได้มีรายได้แก่ตนเองและครอบครัว ในการลงพื้นที่ในครั้งนี้ไปสำรวจแบบสอบถาม 01 และ 02 พบว่าชุมชนมีรายได้ต่อครัวเรือนยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในการดำรงชีวิตประจำวันและมีผลกระทบกับโรคระบาดในด้านรายได้มากที่สุดรองลงมาเป็นในด้านของการเดินทางออกนอกพื้นที่

        ในการลงพื้นที่สำรวจพบว่าประชาชนบางส่วนต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอย่างเร่งด่วนและการทำการเกษตรอย่างถูกวิธีเพื่อเพิ่มผลผลิตในครัวเรือน ควรมีบุคคลที่มีความรู้มาจัดอบรมเพื่อเพิ่มความรู้ต่อไป

รูปภาพเพิ่มเติม

 

อื่นๆ

เมนู