การจัดอบรมเรื่องต้นไผ่
ข้าพเจ้านางสาวนภัสนันท์ ลาศรี ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานพร้อมกับทีมงานที่ตำบลกระสัง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบล เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ
การลงพื้นที่
จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนด้านสภาพแวดล้อม ด้านภูมิทัศน์ต่างๆในชุมชน จึงมีการปรึกษาหารือร่วมกับผู้นำชุมชนและชาวบ้านในชุมชน ทำให้ข้าพเจ้าและทีมงานทำให้ได้ทราบข้อมูลในด้านต่างๆของพื้นที่ชุมชน รวมถึงความต้องการและแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ของชุมชนให้มีความน่าสนใจ ที่จะสามารถช่วยยกระดับชุมชนผ่านการท่องเที่ยว โดยที่ให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการชุมชนของตน
โดยได้ข้อสรุปในการดำเนินการในขั้นตอนแรกคือการการจัดอบรมทักษะ ความรู้เรื่องต้นไผ่ เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนเพื่อปรับภูมิทัศน์พื้นที่ในชุมชน โดยเริ่มจากการปลูกไผ่บนคันดินคูน้ำโบราณบ้านไทรโยงหมู่ที่ 19 การเลือกปลูกไผ่เพื่อปรับภูมิทัศน์นั้น เนื่องจากว่าไผ่สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายอย่าง อีกทั้งในชุมชนมีการใช้ประโยชน์จากไผ่ในการทำผลิตภัณฑ์ชุมชนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ผู้คนในชุมชนและทีมงานของกลุ่มข้าพเจ้าจึงมีความคิดว่าไผ่น่าจะใช้ประโยชน์และต่อยอดภูมิปัญญาของชาวบ้านได้เป็นอย่างดีในอนาคต
การให้ความรู้เรื่องต้นไผ่
การให้ความรู้เรื่องต้นไผ่จากวิทยากร นายเมคิน โล่นารายณ์ นั้นท่านเป็นวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถในการปลูกไผ่เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นเจ้าของไร่ ดินชุ่มฟ้า อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ มีการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับต้นไผ่หลากหลายสายพันธุ์ อาทิเช่น ไผ่ตงลืมแล้ง ไผ่หม่าจู ไผ่ซางหม่น ไผ่ไจแอนท์ ไผ่ปักกิ่ง ไผ่ตงหม้อ ไผ่หก ไผ่ข้าวหลาม ไผ่บงหวาน ไผ่ดำ ฯลฯ ส่วนไผ่ตงลืมแล้งนั้นเกษตรกรนิยมปลูกมากที่สุด เพราะมีจุดเด่นสำคัญคือ ให้หน่อดก และออกหน่อนอกฤดูได้ดีกว่าพันธุ์อื่นๆ ไผ่ตงลืมแล้ง มีจุดเด่นเรื่องหน่อโต คุณภาพดีและให้ผลดกกว่าไผ่พันธุ์อื่นๆ หลายเท่าตัว หากปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม มีการบริหารจัดการที่ดี จะให้ผลผลิตสูง 30-50 กิโลกรัม/กอ/ปี นอกจากนี้ ไผ่ตงลืมแล้งยังมีคุณสมบัติเด่นสำคัญ คือทนทานต่อปัญหาน้ำท่วมได้ดีมากและสามารถนำไปแปรรูปอาหารได้หลากหลายเมนู ทั้งต้ม แกง ซุป หมก ผัด ต้มกระดูกหมู รวมทั้งแปรรูปเป็นหน่อไม้ดอง แต่ละปีหน่อไม้ดองมีมูลค่าทางการตลาดสูงมากทีเดียวตลาดต้องการ หน่อไม้นอกฤดูจำนวนมาก เกษตรกรสามารถขายสินค้าได้ในราคาสูง ไม่ต่ำกว่า 40-80 บาท/กิโลกรัม แต่การผลิตหน่อไม้นอกฤดูยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานมีความต้องการสูงสุด รองลงมาคือ ภาคเหนือ
ไผ่บงหวาน พบได้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพบมากที่สุดที่จังหวัดเลย ลำต้นอ่อนมีสีเขียวใบไม้ เมื่อแก่มีสีเขียวเข้ม เส้นผ่าศูนย์กลางของปล้อง 5-8 เซนติเมตร สูง 5-10 เมตร มีหน่อสีเขียว น้ำหนักประมาณครึ่งกิโลกรัม ลำต้นนิยมนำมาทำตอกมัดสิ่งของ ทำไม้ค้ำยัน บันไดและเครื่องจักสาน หน่อมีรสหวานหอมอร่อย นิยมนำมาประกอบอาหารได้หลากชนิด อีกทั้งไผ่ชนิดนี้ยังสามารถรับประทานสดได้อีกด้วย สำหรับไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง เป็นไผ่ขนาดกลางใช้ประกอบเป็นอาหารได้หลายประเภท อาทิ แกง ผัด ต้ม ทำส้มตำ โดยลำต้นเมื่อโตเต็มที่จะสูง 7-12 เมตร หน่อจากต้นที่โตเต็มที่มีน้ำหนักเฉลี่ย 200 กรัม หรือ 4 – 5 หน่อต่อกิโลกรัม มีสีเขียว การขยายพันธุ์สามารถทำได้ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และปลูกด้วยเหง้า อย่างไรก็ตาม ควรมีความพร้อมในเรื่องแหล่งน้ำ (ช่วงฤดูแล้งขาดน้ำไม่ได้) จึงจะทำให้มีผลผลิตได้ทั้งปี และการลงทุนในระยะแรกในเรื่องระบบน้ำและพันธุ์ค่อนข้างสูง ต้องการการดูแลที่สม่ำเสมอ สามารถทำการผลิตแบบชีวภาพได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีใดๆ ในการผลิต เป็นต้น ซึ่งชาวบ้านได้ให้ความสนใจและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
หลังจากที่วิทยากรได้บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับต้นไผ่ไปแล้วนั้น วิทยากรจึงมีการสาธิตวิธีการปลูกต้นไผ่และการดูแลรักษาที่ถูกต้องเพื่อให้มีผลผลิตที่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนต่อไป ซึ่งขั้นตอนการปลูกไผ่นั้นมีขั้นตอน ดังต่อไปนี้
วิธีการปลูกไผ่ตงลืมแล้ง
- ขุดหลุมปลูกให้ได้ขนาดประมาณ 40 x 40 x 40 ซ.ม. แต่ขนาดของหลุมก็ขึ้นอยู่กับสภาพของดินถ้าเป็นร่วนปนทรายหลุมก็ไม่จำเป็นต้องใหญ่ บางพื้นที่ที่เป็นดินเหนียวหลุมที่ปลูกก็จะเล็กลงมาหน่อย ระยะห่างระหว่างต้นอยู่ที่ 3 x 4 เมตร โดยขุดหลุมและนำดินขึ้นมากองไว้ใส่ปุ๋ยคอกผสมกับหน้าดินที่ขุดขึ้นมาลงไปประมาณ 0.5-1.0 กิโลกรัม แนะนำให้ใส่ยาฆ่าแมลงฟูราดานลงไปด้วย 1 ช้อนชาเพื่อแก้ปัญหาปลวกในพื้นที่ปลูก
- หลังจากนั้นผสมดินกับปุ๋ยคอกให้เข้ากันรองก้นหลุม ด้วยดินที่ผสมปุ๋ยคอกแล้วเพื่อเป็นอาหารให้ต้นไผ่ในช่วงสองเดือนแรก โดยจะให้สูงจากดินก้นหลุมประมาณ 10-15 ซม. แล้วนำต้นกล้าไผ่ตงลืมแล้งวางลงไปในหลุม
- ให้วางกิ่งไผ่เอียงประมาณ 50-60 องศา เพราะหน่อต่อไปจะได้แทงขึ้นตรงและเร็ว ฉีกถุงพลาสติกออกก่อนวางกิ่งพันธุ์ กลบดินจนพูน ตอนนี้ให้รดน้ำและอัดดินให้แน่น เมื่อดินล่างแน่นแล้วให้กลบดินทั้งหมดลงไป พูนดินบริเวณโคนกิ่งไผ่ให้เป็นเนินสูงเล็กน้อย
- ใช้ไม้ปักเป็นหลักตอกยึดกิ่งไผ่ไว้ให้แน่น เพื่อกันลมโยกหรือถ้าลมไม่แรงมากก็ไม่ต้องปักหลักไม้ รดน้ำให้ชุ่ม ควรใช้ทางมะพร้าวหรือวัสดุอื่นช่วยพรางแสงแดดจนกว่าต้นกล้าจะมีใบใหญ่และตั้งตัวได้ แล้วจึงค่อยเอาออก
การดูแลรักษา
ในช่วงแรก (1-3เดือน) ต้นไผ่สามารถใช้ปุ๋ยคอกที่คลุกเคล้าไปกับดินที่ปลูกได้พอ แต่ในระยะต่อๆ ไป จำเป็นต้องมีการพรวนดินรอบๆ กอและใส่ปุ๋ยคอก 1 เดือน/ ครั้ง ครั้งละประมาณ 2-3 กิโลกรัม ในระยะนี้อาจจะเห็นว่าหน่อที่แตกจะมีขนาดค่อนข้างเล็กและจะมีขนาดโตขึ้นทุกๆ ปี ถ้าความชุ่มชื้นและดินอุดมสมบูรณ์ดีเพียงพอ แต่ถ้าจะให้ผลรวดเร็วควรจะให้ปุ๋ยเคมี 46-0-0 เร่ง ประมาณ2-3กำมือ/ กอ/ เดือน จะทำให้ไผ่เกิดหน่อปริมาณมากตลอดปี พอเข้าเดือนที่ 7 จะทำการตัดแต่งกอและพรวนดินเพื่อกำจัดวัชพืช ปกตินิยมพรวนดินอีกครั้งในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ก่อนที่ดินจะแห้ง เพราะถ้าดินแห้งจะพรวนดินยาก ในกรณีที่ต้องการเร่งการออกหน่อ (กรณีพิเศษ) จะใส่ในช่วงต้นเดือน ก.พ.ถึง พ.ค. ปุ๋ยที่นิยมคือใช้ปุ๋ยคอกเป็นหลัก ในอัตรา 2-3กิโลกรัมต่อ กอ/ เดือน หรืออาจใช้ปุ๋ยเคมีสูตร13-13-21 อัตรา 200กรัมต่อกอ และปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 200กรัม/ กอ (เร่งหน่อเพื่อขาย ก่อนหน่อไม้ไทยจะเริ่มออกหน่อ)
วิธีการปลูกไผ่บงหวาน
สำหรับการปลูกไผ่บงหวานก็ไม่ยุ่งยาก ขุดหลุมปลูกขนาด 50x50x50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกเก่า หลังปลูกเสร็จรดน้ำให้ชุ่ม เคล็ดลับในการปลูกไผ่บงหวาน ถ้าปลูกในช่วงฤดูฝนแนะนำให้ปลูกเสมอกับดินเดิม แต่ถ้าปลูกในช่วงฤดูแล้งจะต้องปลูกให้ต่ำกว่าดินเดิม หรือทำเป็นแอ่งกระทะ ในการปลูกไผ่บงหวานนั้น แนะให้ปลูกระหว่างต้น 2 เมตร ระหว่างแถว 4 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 200 ต้น ที่เว้นให้ระยะระหว่างแถวให้กว้าง เพื่อให้เกษตรกรเข้าไปทำงานได้สะดวก เช่น นำขี้เถ้าแกลบไปใส่ได้ง่าย
การดูแลรักษา
หลังจากปลูกไผ่บงหวานเสร็จ จะต้องหมั่นตัดหญ้า ที่สวนไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งจะมีการให้ปุ๋ยและให้น้ำเฉลี่ย เดือนละ 1 ครั้ง ปุ๋ยคอกจะใช้ได้ทั้งขี้วัวเก่าหรือขี้ไก่ หรือแม้แต่เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรใช้ได้หมด เช่น ซังข้าวโพด กากอ้อย เปลือกถั่วต่างๆ กากยาสูบ ขี้เถ้าแกลบ ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง สิ่งที่มีความจำเป็นจะต้องปฏิบัติเป็นประจำทุกเดือนคือ จะต้องมีการสางลำไผ่ขนาดเล็กที่แตกมาจากตาหน่อเก่าหรือแตกมาจากตาบนลำไผ่เดิมออก โดยใช้มีดพร้าสับออกเลย เพื่อให้ข้างล่างโล่ง ให้ใบไผ่อยู่ส่วนบนเท่านั้น เกษตรกรที่ปลูกไผ่บงหวานใหม่ๆ จะมีหน่อเกิดขึ้นข้างใน ประมาณ 5-6 หน่อ ให้ขุดหน่อข้างในไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ ส่วนหน่อที่ออกมานอกกอก็สามารถเก็บขายได้ พอเมื่อเข้าฝนก็ต้องปล่อยให้หน่อนอกกอโตให้มันขึ้นเป็นลำไผ่
การลงพื้นที่
จากการลงพื้นที่ พบว่าในการจัดอบรมทักษะความรู้เรื่องต้นไผ่ เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนนั้น ชาวบ้านให้ความสนใจเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี การปลูกไผ่เผื่อปรับภูมิทัศน์เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนนั้นไม่ใช่แค่เป็นผลดีต่อชุมชนเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นผลดีต่อคนในชุมชน ที่จะเกิดการสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้อีกด้วย การจัดอบรมในครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชนและคนในชุมชน ชุมชนแห่งนี้มีความเข้มแข็งเป็นอย่างมากมีความสมัครสมานสามัคคีในการร่วมแรงร่วมใจในการพัฒนาชุมชนเป็นอย่างดี กลุ่มของข้าพเจ้าจึงมีความมุ่งมั่นและตั้งใจเพื่อจะพัฒนาชุมชนแห่งนี้ให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวแห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดี ที่มีเอกลักษณ์และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายสืบต่อไป
แบบทดสอบประจำเดือน
https://forms.gle/FAtQ4Vk6YHszzTGR6