ดิฉัน นางสาวปวีณา พันธ์คูณ ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานพร้อมกับทีมงานที่ตำบลกระสัง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบล เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ
การลงพื้นที่
การลงพื้นที่ในเดือนมิถุนายนครั้งนี้ ดิฉันและทีมงานได้วางแผนการดำเนินงานโดยการจัดกิจกรรมอบรมให้กับคนในชุมชน ในหัวข้อ “การอบรมเชิงปฏิบัติการความรู้เรื่องต้นไผ่ เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน” ชื่อโครงการ ID10 การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามอัตลักษณ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ ที่ 5 มิถุนายน 2564 เวลา 07.30 – 17.30 น. ณ ศาลาประชาคม หมู่ 19 บ้านไทรโยงเหนือ ตำบลกระสัง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
โดยกิจกรรมการอบรมในครั้งนี้จะแบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 จะเป็นการอบรมเชิงบรรยายความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับต้นไผ่ และอบรมเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีการเพาะชำต้นไผ่ ด้วยการสาธิต ซึ่งกิจกรรมในส่วนนี้ดำเนินการโดยวิทยากร ผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับต้นไผ่ ที่ทีมงานได้เชิญมาเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้คนในชุมชน ส่วนที่ 2 จะเป็นกิจกรรมระดมความคิด และร่วมกันแสดงความคิดเห็น ของคนในชุมชน ซึ่งในบทความนี้จะขอกล่าวถึงรายละเอียดของกิจกรรมในส่วนที่ 2 เป็นหลัก มีรายละเอียดดังนี้
ทำไมต้องมีกิจกรรมระดมความคิด และร่วมกันแสดงความคิดเห็น ?
เนื่องจากทีมงานได้รับโจทย์การดำเนินงาน คือการส่งเสริมชุมชนทางด้านการท่องเที่ยว ซึ่งการดำเนินการต่างๆ จำเป็นต้องมีการพูดคุย ปรึกษา หารือกับคนในชุมชนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ และรู้จักพื้นที่ของชุมชนดีที่สุด รับฟังความคิดเห็น ความต้องการ ของคนในชุมชน เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานในเรื่องของสภาพพื้นที่ของชุมชนกับการเป็นแหล่งท่องเที่ยว การหาพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกต้นไผ่ เพื่อปรับภูมิทัศน์ให้น่าสนใจ ให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายตามความพึงพอใจของคนในชุมชน
**เกร็ดความรู้**
การพูดแสดงความคิดเห็น คือ การพูดในเชิงอธิบายเหตุผล ข้อเท็จจริง หลักการหรือแนวความคิดเห็นของผู้พูด เพื่อให้ผู้ฟังคล้อยตาม เชื่อถือ ยอมรับหรือเห็นด้วยกับผู้พูดและสามารถแนวคิดเหล่านั้นไปวิเคราะห์เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไปได้
ความสำคัญของการพูดแสดงความคิดเห็น
1.ในปัจจุบันเราจะเห็นว่าหลายๆ หน่วยงานมีการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาร่วมกันแสดงความคิดเห็นเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ฉะนั้นการพูดแสดงความคิดเห็นจึงถือเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยหาทางออกให้กับปัญหาได้
2. การพูดแสดงความคิดเห็นเป็นการเปิดโอกาสหรือเปิดพื้นที่ทางความคิดของบุคคลที่มีแนวคิดหลากหลายได้มาพบปะพูดคุยกัน เพื่อทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน
3. การพูดแสดงความคิดเห็นทำให้สังคมได้รับรู้ร่วมกันว่า ในขณะนี้ได้เกิดอะไรขึ้นและจะต้องปรับตัวเพื่อรับสถานการณ์นั้นๆ กันอย่างไร เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมแผ่นดินไหวหรือภัยพิบัติในด้านอื่นๆ ผู้คนจะได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์
4. การพูดแสดงความคิดเห็นช่วยให้หาข้อยุติของเรื่องหรือกรณีต่างๆ ที่ยังไม่สามารถพูดคุยตกลงกันได้ในเบื้องต้น จึงต้องนำมาหารือเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันแสดงความคิดที่มีความเป็นไปได้ที่ทุกฝ่ายจะเกิดการยอมรับ
ที่มา: http://ajpraneepasathai.blogspot.com/p/blog-page_77.html
ผู้เข้าอบรมมีความคิดเห็นอย่างไรต่อการมีแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน และปลูกต้นไผ่เพื่อปรับภูมิทัศน์ในชุมชน ?
สำหรับการมีแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนผู้เข้าอบรมได้แสดงความคิดเห็นไปในทางที่ดี เนื่องจากเห็นว่าหากมีการท่องเที่ยวขึ้นในชุมชนจะช่วยทำให้ชุมชนมีการพัฒนาที่ดีขึ้น มีช่องทางสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ประกอบกับตัวชุมชนมีคูน้ำโบราณล้อมรอบที่ควรค่าแก่การบำรุงรักษาไว้ให้คนรุ่นใหม่ได้ทราบถึงความเป็นมาของชุมชน
ส่วนการปลูกต้นไผ่เพื่อปรับภูมิทัศน์ผู้เข้าอบรมได้แสดงความคิดเห็นว่ามีความน่าสนใจ เพราะต้นไผ่เป็นพืชที่มีประโยชน์หลากหลาย ปลูกง่าย โตเร็ว และยังมีความสวยงาม ประกอบกับพื้นที่บางส่วนบริเวณคันดินก็มีการปลูกต้นไม้ปรับพื้นที่มาก่อน ซึ่งก็ยังเหลือพื้นที่อีกมากที่คนในชุมชนก็ต้องการปรับภูมิทัศน์เพื่อให้ชุมชนมีความสวยงาม
**เกร็ดความรู้**
การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community – Based Tourism) คือการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม กำหนดทิศทางโดยชุมชน จัดการโดยชุมชนเพื่อชุมชนและชุมชนมีบทบาทเป็นเจ้าของมีสิทธิในการจัดการดูแล เพื่อให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้มาเยือน (โครงการท่องเที่ยวเพื่อชีวิตและธรรมชาติ, 2540)
องค์ประกอบของการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน
- ด้านทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม
– ชุมชนมีฐานทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และมีวิถีการผลิตที่พึ่งพาและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
-ชุมชนมีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น
- ด้านองค์กรชุมชน
-ชุมชนมีระบบสังคมที่เข้าใจกัน
-มีปราชญ์ หรือผู้มีความรู้ และทักษะในเรื่องต่าง ๆ หลากหลาย
-ชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของและเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา
- ด้านการจัดการ
-มีกฎ-กติกาในการจัดการสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว
-มีองค์กรหรือกลไกในการทำงานเพื่อจัดการการท่องเที่ยว และสามารถเชี่อมโยงการท่องเที่ยวกับการพัฒนาชุมชนโดยรวมได้
-มีการกระจายผลประโยชน์ที่เป็นธรรม
-มีกองทุนที่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน
- ด้านการเรียนรู้
-ลักษณะของกิจกรรมการท่องเที่ยวสามารถสร้างการรับรู้ และความเข้าใจในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่าง
-มีระบบจัดการให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ระหว่างชาวบ้านกับผู้มาเยือน
-สร้างจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมทั้งในส่วนของชาวบ้านและผู้มาเยือน
การท่องเที่ยว : เครื่องมือในการพัฒนาชุมชน
การท่องเที่ยวมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นองค์รวม เนื่องจากทรัพยากรการท่องเที่ยว กับทรัพยากรที่ชุมชนใช้เป็นฐานการผลิตเป็นทรัพยากรเดียวกัน วัฒนธรรมธรรมและสังคมเป็นตัวขับเคลื่อนเรื่องจิตวิญญาณของชุมชน ในการสร้างสัมพันธ์กันภายในชุมชนและการสัมพันธ์กับภายนอก ควรจะเชื่อมโยงให้เห็นการท่องเที่ยวกับการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นองค์รวม
CBT เป็นเครื่องมือสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชาวบ้านในการจัดการทรัพยากร ธรรมชาติและวัฒนธรรม โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาและได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว
ในขณะเดียวกันในภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวโดยชุมชนได้เข้าไปมีบทบาทในการสร้างคุณภาพใหม่ของการท่อง เที่ยวให้มีความหมายมากกว่าการพักผ่อน ความสนุกสนาน และความบันเทิง หากได้เปิดมิติของการท่องเที่ยวเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเคารพคนในท้องถิ่น
หลักการของการท่องเที่ยวโดยชุมชน
-ชุมชนเป็นเจ้าของ
-ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและตัดสินใจ
-ส่งเสริมความภาคภูมิใจในตนเอง
-ยกระดับคุณภาพชีวิต
-มีความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม
-คงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น
-ก่อให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างคนต่างวัฒนธรรม
-เคารพในวัฒนธรรมที่แตกต่างและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
-เกิดผลตอบแทนที่เป็นธรรมแก่คนท้องถิ่น
-มีการกระจายรายได้สู่สาธารณประโยชน์ของชุมชน
การที่จะให้ชุมชนดำเนินการท่องเที่ยวตามหลักการดังกล่าวข้างต้น มีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการ จัดการการท่องเที่ยว ในขณะเดียวกันก็ต้องรณรงค์กับคนในสังคมให้เห็นความแตกต่างของการท่องเที่ยว โดยชุมชนกับการท่องเที่ยวทั่วไป กระตุ้นให้คนในสังคมเห็นความสำคัญและเป็นนักท่องเที่ยวที่สนใจการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ระหว่างเจ้าของบ้านกับผู้มาเยือน นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มการรับรู้และความเข้าใจในบทบาทของชุมชนท้องถิ่นต่อ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและเป็นกำลังใจหรือสนับสนุนให้เกิดความต่อ เนื่องในการทำงานอนุรักษ์ทั้งด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม
ที่มา : สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน (https://cbtyouth.wordpress.com/cbt-youth/cbt/)
ควรปลูกต้นไผ่ ตรงพื้นที่ไหน ?
จากการร่วมแสดงความคิดเห็นกับผู้เข้าอบรม และทีมงานรวมทั้งวิทยากร ได้มีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย ดังนี้
- บริเวณคันดินฝั่งด้านซ้ายของศาลากลางหมู่บ้าน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการปลูกไม้ผลอยู่ก่อนแล้ว จึงทำให้ยากต่อการจัดการพื้นที่เพื่อปลูกต้นไผ่
- บริเวณคันดินส่วนตรงกลาง ซึ่งต้องเข้ามาภายในชุมชนจึงจะเห็น ทำให้ไม่เหมาะที่จะปลูกต้นไผ่ ไม่สามารถดึงดูดความสนใจจากคนภายนอกได้ และบริเวณคันดินส่วนนี้ก็มีพื้นที่น้อยทำให้ไม่เหมาะสมที่จะปลูกต้นไผ่ในระยะที่ต้องการได้
- บริเวณคันดินฝั่งด้านขวาของศาลากลางหมู่บ้าน ถัดจากคันดินตรงส่วนกลาง สภาพพื้นที่ของคันดินบริเวณนี้มีความเหมาะสมที่จะปลูกต้นไผ่ได้ เพราะมีพื้นที่มาก และยังเป็นพื้นที่ที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากภายนอกชุมชน ทำให้สามารถดึงดูดความสนใจจากคนภายนอกได้
ทีมงานและผู้เข้าอบรมจึงได้ข้อสรุปของพื้นที่ที่จะปลูกต้นไผ่ คือ ส่วนที่ 3 บริเวณคันดินฝั่งด้านขวาของศาลากลางหมู่บ้าน ถัดจากคันดินตรงส่วนกลาง
จะปลูกต้นไผ่อย่างไร ปลูกต้นไผ่สายพันธุ์ใด และจะดูแลต้นไผ่อย่างไร ?
ในเริ่มแรกทีมงานได้จัดหาต้นไผ่ให้คนในชุมชนได้ปลูกเพื่อนำร่องการปลูกต้นไผ่ โดยเริ่มปลูกที่ 40 ต้น ไผ่ที่ปลูกเป็นไผ่ตงลืมแล้ง ซึ่งเป็นไผ่ที่มีขนาดสูงใหญ่ หน่อไม้นิยมนำมารับประทานประกอบอาหาร ลำต้นนิยมนำมาแปรรูปทำเฟอร์นิเจอร์ แปรูปเป็นถ่านไม้ไผ่เป็นไผ่ที่นำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย แนวทางการปลูกต้นไผ่ จะปลูกให้ได้ลักษณะเป็นซุ้มอุโมงค์ต้นไผ่ แต่ละต้นห่างกันประมาณ 4 เมตร
ภาพจาก เพจเฟซบุ๊คไร่ดินชุ่มฟ้า บุรีรัมย์
เริ่มแรกปลูกไผ่ตงลืมแล้งก่อน หลังจากนั้นอาจมีการหาต้นไผ่สายพันธุ์อื่นๆ เข้ามาปลูกเพิ่ม เพื่อช่วยเพิ่มความหลากหลายและมีต้นไผ่ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากขึ้น
สำหรับการดูแลต้นไผ่ที่ปลูกแล้ว ดูแลง่าย และสะดวก เนื่องจากบริเวณที่ปลูกต้นไผ่อยู่ติดกับคูน้ำ ทำให้สะดวกต่อการรดน้ำ และบริเวณที่ปลูกต้นไผ่ก็มีสารอาหารจากปุ๋ยธรรมชาติ เนื่องจากอยู่ใกล้กับคอกเลี้ยงโคของคนชุมชน ซึ่งคนในชุมชน รวมถึงทีมงาน จะช่วยกันคอยดูแล รดน้ำ ใส่ปุ๋ย เพื่อให้ต้นไผ่สามารถเติบโตได้อย่างสมบูรณ์
แบบทดสอบประจำบทความ
https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSfOrCwzsmMzlAuQ_pBlAJ0GQ_e24qhs6-d-iGjK0Bv8_IP7ww/viewform
คลิปประจำเดือน