หลักสูตร ID 10 : การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามอัตลักษณ์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยมีส่วนร่วมของชุมชุน ตำบลกระสัง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์

เครื่องจักสาน

เครื่องจักสาน คือ เครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้ไผ่หรือหวาย จากฝีมือความคิด ภูมิปัญญาของชาวบ้านมีลักษณะรูปทรงแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศ วัสดุอุปกรณ์คตินิยม และอาชีพของคนในท้องถิ่นนั้นๆ
คำว่า “ จักสาน” คำว่า จัก คือ การทำให้เป็นแฉก เป็นหยักๆ ด้วยฟันเลื่อย หรืออีกวิธีการหนึ่ง การที่ชาวบ้านใช้คมมีดผ่าไม้ไผ่แล้วทำให้เป็นเส้นบางๆ วิธีการอย่างนี้ก็เรียกว่า จัก เช่นกัน ส่วนไม้ไผ่ หรือ หวาย ที่จักออกมาเป็นเส้นบางๆ นั้นเรียกว่า ตอก ถึงตอนนี้การที่ชาวบ้านนำตอกมาขัดกันจนเกิดลวดลายที่ต้องการ เราเรียกว่า สาน ต่อจากนั้นแล้วก็จะเป็นการสร้างสรรค์ให้เกิดรูปทรงต่างๆ จนท้ายที่สุดเป็นภาชนะสามารถนำไปใช้สอยได้ตามต้องการ

 

นับพันปีมาแล้ว ที่มนุษย์ได้รู้จักวิธีการนำวัตถุดิบที่อยู่ใกล้ตัว มาดัดแปลงเป็นสิ่งของเครื่องใช้ จากขั้นตอนที่ง่ายจนวิวัฒนาการสู่ความละเอียดอ่อน ประณีตงดงามในเชิงศิลปะและประโยชน์ใช้สอย จนสนองความต้องการได้เป็นอย่างดี และสืบทอดมาจนปัจจุบัน กรรมวิธีดังกล่าว ช่วยให้มนุษย์ได้ผลิตสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก เราเรียกสิ่งประดิษฐ์นั้นว่า “หัตถกรรม” อันหมายถึง การสร้างสิ่งของเครื่องใช้ด้วยมือ เครื่องมือ ภูมิปัญญา เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน และถ้าสิ่งประดิษฐ์นั้นมีค่ามากกว่าการใช้สอย โดยรวมความงาม เน้นให้เห็นถึงการสร้างสรรค์ ประณีตงดงามเป็นความละเอียดอ่อนในทางศิลปะ เรามักเรียกสิ่งประดิษฐ์นั้นว่า “ หัตถกรรมศิลป์ ”

เครื่องจักสานถือได้ว่าเป็นแขนงหนึ่งในงานหัตถกรรมและหัตถกรรมศิลป์ ที่ได้ทำหน้าที่รับใช้มนุษย์มานานนับพันปีเช่นเดียวกัน จนปัจจุบันเครื่องจักสานก็ยังคงทำหน้าที่ไม่น้อยกว่ายุคสมัยที่ผ่านมา พร้อมกับการพัฒนาวิธีการผลิต รูปแบบและการตลาด จนสามารถกระจายแพร่หลายอย่างทั่วถึงทั้งในและต่างประเทศ จนสามารถเป็นสินค้าออกที่เชิดหน้าชูตาได้ดีประเภทหนึ่ง

ประวัติความเป็นมา

นักโบราณคดีได้ค้นพบหลักฐานว่า เมื่อประมาณ ๔๐๐๐ ปีมาแล้วมนุษย์ได้รู้จักวิธีการจักสานของใช้ด้วยไม้ไผ่ เป็นลักษณะลายขัดสองเส้น หลักฐานนี้ได้ค้นพบที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งถือเป็นดินแดนที่สำคัญในทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย หลักฐานการค้นพบเครื่องจักสานนี้นอกจากประเทศไทยแล้ว ยังได้พบที่แอฟริกาและในทวีปเอเชียบางแห่ง บริเวณแหลมมลายู (ในยุคหิน) ได้ค้นพบหลักฐานเกี่ยวกับเครื่องจักสานที่ทำด้วยไม้กองรวมอยู่กับของใช้ของผู้ตาย จึงสันนิษฐานว่าเครื่องจักสานได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวกับพิธีกรรมความเชื่อบางอย่างของมนุษย์ในยุคนั้นบ้างแล้ว ต่อมาเมื่อมนุษย์ได้มีการดำเนินชีวิตด้วยการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ จึงเป็นที่เชื่อได้ว่ามนุษย์ได้รู้จักพัฒนาการเครื่องจักสานให้เหมาะสมกับการใช้สอยขึ้นมาเรื่อยๆ ทั้งนี้เพราะการขยายตัวออกมาดำเนินชีวิตในที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำลำธารไหลผ่าน เพียบพร้อมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีให้อย่างเหลือเฟือ สิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ก็คือ การหาเครื่องมือบางชนิดไว้ใช้สอยในชีวิตประจำวัน ซึ่งส่วนใหญ่จะได้แก่เครื่องจับสัตว์

แต่อีกทางด้านหนึ่งได้ให้ข้อมูลไว้ว่า มนุษย์คิดทำเครื่องจักสานมาตั้งแต่สมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอน แต่ได้พบร่องรอยของเครื่องจักสานบนเครื่องปั้นดินเผา สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่า มนุษย์อาจจะสามารถทำเครื่องจักสานได้ ก่อนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และยังทำต่อมาในสมัยประวัติศาสตร์ ดังปรากฏรอยภาชนะจักสานบนผิวภาชนะเครื่อง ปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่ง จาก แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นภาชนะเล็กๆ ปากกลมก้นสี่เหลี่ยม (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร) และภาชนะดินเผาทรงกระบอกเล็กๆ อีกชิ้นหนึ่ง จากแหล่งโบราณคดีในจังหวัดลพบุรี (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี)

เครื่องจักสานเป็นเครื่องมือที่มนุษย์สามารถจะนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี ไม่เพียงแต่ด้านประโยชน์ใช้สอยเท่านั้นที่มนุษย์พัฒนาขึ้น ความสวยงาม และ ความทนทานถาวร ก็เป็นปัจจัยที่มนุษย์ให้ความสำคัญ จากการที่มนุษย์รู้จักการใช้ยางพืชบางชนิดมาทา หรือยา เพื่อมิให้เกิดรอยรั่ว ซึ่งทำให้มีผลสองอย่าง คือ ความคงทนถาวรและประโยชน์ใช้สอยเพิ่มเติมคือการไปใส่น้ำ การใช้ภูมิปัญญาดังกล่าว มีมาแต่ครั้งสุโขทัย หรืออาจจะก่อนหน้านั้น ปัจจุบันเครื่องจักสานได้พัฒนาการไปมาก มีการประดิษฐ์คิดค้นทำให้ได้รูปแบบต่างๆ เครื่องจักสานเป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่มากับสังคมกสิกรรมรับใช้ชีวิตมนุษย์ เป็นมรดกตกทอดมาจนทุกวันนี้

ในส่วนวิทยากรนั้นชื่อ นางสาวพัชราพร มัติโก หรือพี่ปอ เป็นคนในพื้นที่ตำบลกระสังของเราโดยอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 62 หมู่ที่10 บ้านกลันทา ซึ่งตัวพี่ปอเริ่มทำตั้งแต่ 10 ขวบ จุดเริ่มต้นในการทำงานจักสานนั้นพี่ได้ฝึกหัดทำจากพี่สาวที่มีความสนใจในด้านนี้และได้ไปศึกษาวิธีการทำมาจากศูนย์จักสานใหญ่ที่สุดในโลก ที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ซึ่งที่ศูนย์จักสานที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้นเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านงานจักสานด้วยไม้ไผ่โดยเฉพาะ ภายในพื้นที่จะแบ่งเป็นหลายส่วนด้แก่

  • พิพิธภัณฑ์เครื่องจักสาน จัดแสดงเครื่องจักสานขนาดใหญ่ เช่น ครุฑ กล่องข้าวน้อย บ้านจักสาน ตะกร้าสาน เป็นต้น
  • พิพิธภัณฑ์สิ่งของโบราณ
  • โซนพระราชประวัติรัชกาลที่ 1-10
  • โซนนิทรรศการศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช
  • โซนการเรียนรู้และสาธิตการจักสาน
  • โซนแสดงและจำหน่ายสินค้า
  • ตัวอย่างการพัฒนาเครื่องจักสาน

หลังจากที่พี่ปอได้เรียนรู้งานจักสานจากพี่สาวก็ยังคงฝึกพัฒนาตัวชิ้นงานให้มีลวดลายที่หลากหลายโดยการแกะแบบเองลองผิดลองถูกจนสามารถทำได้อย่างชำนาญแล้ว ถึงขั้นได้ถูกเชิญให้ไปเป็นวิทยากรในการสอนทำฝาชีที่ ศูนย์การศึกษานอกระบบและสถานพินิจอีกด้วย ถ้าหากนับตั้งแต่ปีที่เริ่มฝึกตอนนี้พี่ปอเองทำก็ทำงานจักสานมามากกว่า 20 กว่าปีแล้ว ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่ยังคงหลงไหลและสืบสานงานจักสานไว้ได้เป็นอย่างดี

ที่มา

ผลิตภัณฑ์จากต้นไผ่. มปป. ประวัติของเครื่องจักรสาน. แหล่งที่มา : https://sites.google.com/site/phlitphanthcaktnphi/prawati-khxng-kheruxngcakr-san. สืบค้นเมื่อ 14 พฤษภาคม 2564

มิวเซียมไทยแลนด์. 2562. ศูนย์จักสานใหญ่ที่สุดในโลก. แหล่งที่มา : https://www.museumthailand.com/th/museum/Phanatnikhom-Town-Municipality. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2564

มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. 2540. กำเนิดและวิวัฒนาการของเครื่องจักสาน. แหล่งที่มา : 2564https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=22&chap=3&page=t22-3-infodetail01.html. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม

แบบทดสอบประจำเดือน https://forms.gle/7DE2LuGmunwZaEmE9

 

อื่นๆ

เมนู