ข้าพเจ้านางสาวปวีณา พันธ์คูณ ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานพร้อมกับทีมงานที่ตำบลกระสัง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบล เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ

การลงพื้นที่

จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับชุมชน และการจัดกิจกรรมการประชุมหารือเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและศักยภาพ (SWOT Alnaysis) ของชุมชนร่วมกับผู้นำชุมชนและชาวบ้านในชุมชน ทำให้ข้าพเจ้าและทีมงานทำให้ได้ทราบข้อมูลในด้านต่างๆของพื้นที่ชุมชน รวมถึงความต้องการและแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ของชุมชนให้มีความน่าสนใจ ที่จะสามารถช่วยยกระดับชุมชนผ่านการท่องเที่ยว โดยที่ให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ จากข้อมูลที่ได้ดังกล่าวข้าพเจ้าและทีมงานได้นำมาประชุมหารือกันเพื่อวางแผนการดำเนินในขั้นตอนต่อไป

ข้าพเจ้าและทีมงานได้วางแผนการดำเนินงานโดยเริ่มจากต้องการปรับภูมิทัศน์ของพื้นที่ในชุมชนให้มีความน่าสนใจ โดยการเสริมสร้างแนวคิดสร้างสรรค์การปลูกต้นไผ่ เพื่อความสวยงามทางด้านการท่องเที่ยว หรือเป็นจุดแวะถ่ายรูป รวมถึงการเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับต้นไผ่ ที่มีหลากหลายสายพันธุ์  สำหรับเนื้อหาบทความประจำเดือนพฤษภาคมนี้ ข้าพเจ้าได้เขียนเพื่อนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีการปลูกต้นไผ่ และการดูแลรักษาต้นไผ่ จากการสีบค้นข้อมูลจากระบบออนไลน์ในแหล่งต่างๆ ซึ่งได้ข้อมูลดังนี้

ต้นไผ่

ต้นไผ่ เป็นต้นไม้อีกชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมปลูกไว้ในบริเวณบ้าน เพราะเป็นพืชที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว แถมยังใช้ประดับตกแต่งบ้านเรือนให้ดูสวยงามได้ด้วย ซึ่งทั้งคนไทย คนจีน และคนญี่ปุ่น ก็มีความเชื่อคล้ายกันว่า ต้นไผ่เป็นสัญลักษณ์ของความสง่าเหนือธรรมชาติ การปลูกไผ่จะช่วยเสริมมงคลให้ผู้อยู่อาศัย ทำให้สมาชิกในบ้านเป็นคนมุ่งมั่น ตั้งใจจริง รู้จักเอาตัวรอด มีคุณธรรม เปรียบเสมือนลำต้นของต้นไผ่ที่เหยียดตรง แข็งแรง ไม่หวั่นเกรงต่อแรงลมพายุนั่นเอง

ลักษณะของต้นไผ่

ไผ่ หรือ Bamboo เป็นไม้พุ่มอยู่ในวงศ์หญ้า Poaceae ถือเป็นหญ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก สูงที่สุดในโลก และโตเร็วที่สุดในพืชตระกูลหญ้าด้วย โดยต้นไผ่จะมีลักษณะเป็นไม้ไม่ผลัดใบใน ขึ้นกันเป็นกอ ลำต้นหรือที่เรียกว่า กิ่งก้าน มีลักษณะเป็นปล้อง ๆ มีตาอยู่ตามข้อ ลำต้นจะแตกกิ่งก้านสาขาจากใต้ดิน แล้วส่งยอดอ่อน หรือที่เรียกว่า “หน่อ” ขึ้นมาเหนือพื้นดิน เราเรียกยอดอ่อนนี้ว่า “หน่อไม้”

         

 ภาพจาก https://www.hatyaifocus.com                    ภาพจาก https://www.hatyaifocus.com

ส่วนใบไผ่เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เส้นใบขนานไปตามความยาวของใบคล้ายกับใบหญ้าทั่วไป ส่วนล่างของใบจะเป็นกาบหุ้มกิ่งเอาไว้ตรงข้อต่อ ปกติแล้วไผ่จะไม่ค่อยออกดอกออกผลเท่าไหร่นัก หากออกดอกเมื่อไหร่หลังจากนั้นไผ่กอนั้นจะยืนต้นตายไปเลย เพื่อให้เมล็ดที่ออกมางอกขึ้นเป็นไผ่รุ่นต่อไป เราจะเรียกเมล็ดที่งอกมาว่า “ขุยไผ่” ส่วนต้นไผ่ที่ยืนต้นตายจะเรียกว่า “ไผ่ตายขุย”

                                     

ภาพจาก http://www.bansuanporpeang.com/node/10573      ภาพจาก https://kasetsanjorn.com/2650/

ทั้งนี้ ทั่วโลกมีไผ่อยู่ประมาณ 90 สกุล มีมากกว่า 1,000 ชนิด แต่ในประเทศไทยพบอยู่ประมาณ 30 ชนิด ซึ่งชนิดที่คนไทยนิยมปลูกกันก็อย่างเช่น ไผ่ข้าวหลาม ไผ่ตง ไผ่เหลือง ไผ่รวก ไผ่สีสุก ไผ่เลี้ยง ไผ่ป่า ไผ่ลำมะลอก ไผ่ไร่  ไผ่ซาง ไผ่บง เป็นต้น

(ที่มา: http://www.homeest.com/. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2564 เวลา 12.50 น.)

องค์ประกอบของป่าไผ่

ไผ่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณชื้น ป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าดิบแล้งทั่วไป โดยเฉพาะเมื่อเกิดมีการแผ้วถางหรือไฟไหม้ ไผ่จะแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วและปกคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวางหากมีไฟไหม้รบกวนทำอันตรายอยู่เป็นนิจ จะทำให้เกิดป่าไผ่ขึ้นอย่างถาวร เช่น ป่าไผ่ในท้องที่จังหวัดกาญจนบุรี จึงกล่าวได้ว่าไผ่เป็นสัญลักษณ์ของที่เกิดไฟไหม้ (เต็ม และ ชุมศรี, 2512 อ้างใน สมยศ, 2536) การขึ้นอยู่ของไผ่แต่ละชนิดพันธุ์ในท้องที่ต่างๆ กันนั้น เกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  1. ลักษณะภูมิประเทศ ไผ่แต่ละชนิดจะขึ้นอยู่ในที่มีอุณหภูมิช่วงต่างๆ กัน โดยมีช่วงระหว่าง 8.8-36.0 องศาเซลเซียส ไผ่ที่มีลำขนาดใหญ่จะต้องการที่ซึ่งมีอุณหภูมิผันแปรน้อยกว่าชนิดที่มีลำเล็ก ไผ่ที่มีลำใหญ่มักขึ้นปะปนกับไม้ใหญ่ ส่วนไผ่ลำเล็กอาจขึ้นกลางแจ้งได้ดี (สมาน และ นิตยา, ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์) ปริมาณน้ำฝนน้อยที่สุดที่ไผ่ต้องการประมาณ 40 นิ้ว (1,020 มิลลิเมตร) ต่อปี (Ahmed, 1957) ส่วนปริมาณน้ำฝนสูงสุดไม่แน่นอน ในที่ยังมีฝนตก คือ 250 นิ้ว (6,350 มิลลิเมตร) ต่อปี ก็พบว่ามีไผ่ขึ้นอยู่ การกระจายของไผ่ชนิดต่างๆ จึงมักถูกจำกัดโดยความชื้นทั่วๆ ไป เนื่องจากความชื้นไม่เพียงพอ เช่น ไผ่ฮก จะพบเฉพาะในที่ซึ่งมีความชื้นมากพอสมควร จึงมักจะเจริญได้ไม่ค่อยงามในป่าเบญจพรรณแล้ง ไผ่รวกพวกที่ขึ้นอยู่บริเวณที่มีอากาศแห้งแล้งความชื้นน้อยในฤดูแล้งจะมีลักษณะไม่สวยงามเหมือนที่ขึ้นอยู่ตามริมลำธาร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพความชื้นในดินและในอากาศ ไผ่บางชนิดจะเจริญเติบโตได้ดีในท้องที่ที่มีความชื้นอยู่สม่ำเสมอตามบริเวณลำธารและลำน้ำ เช่น ป่าไผ่รวกที่จังหวัดกาญจนบุรีจะพบไผ่ป่า ไผ่ลำมะลอกขึ้นเต็มไปหมด และตามที่แห้งแล้งในจังหวัดชัยนาทและอุทัยธานีจะพบไผ่รวกชนิดเดียวกันขึ้นอยู่ในเนื้อที่จำกัดและมีขนาดเล็กกว่าธรรมดามาก (บรรเทา, 2513)
  2. ลักษณะดิน มักจะพบไผ่ขึ้นอยู่บนดิน sandy loam หรือ clay loam (สมาน และ นิตยา, ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์) ไผ่แต่ละชนิดมีความต้องการดินที่แตกต่างกันออกไป จึงอาจใช้ชนิดของไผ่เป็นตัวชี้สภาพของป่าที่แตกต่างกันได้ โดยทั่วไปไผ่ที่มีลำใหญ่ต้องการดินที่มีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าไผ่ชนิดที่มีลำเล็ก เพราะต้องการธาตุอาหารไปใช้ในขบวนการสร้างมากกว่า ในทางด้านป่าไม้ลักษณะและชนิดของไผ่ที่ขึ้นอยู่สามารถชี้ถึงคุณภาพของดินโดยคร่าวๆ ได้ เช่น ที่ใดมีไผ่ขึ้นนับว่าเป็นดินร่วนปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ดีเหมาะสมที่จะทำเป็นเนื้อที่ปลูกสวนผักได้ ถ้าเป็นไผ่รวกดินจะเหนียวและเลวลง ยิ่งเป็นป่าไผ่ซางดินมักจะเป็นหินผุและขาดความอุดมสมบูรณ์ (อำนวย, 2521)
  3. ส่วนขององค์ประกอบในป่า ปกติจะพบไผ่ขึ้นเป็นไม้ชั้นล่างของป่าดิบและป่าผลัดใบในบางแห่งพบป่าไผ่ล้วนๆ เป็นบริเวณกว้างมีต้นไม้ชนิดอื่นขึ้นปะปนเพียงเล็กน้อย ไผ่ส่วนมากจะขึ้นอยู่เป็นชนิดเดียวกัน แต่อาจมีขึ้นอยู่หลายชนิดปนกันก็ได้ ซึ่งไม่ค่อยพบมากนัก (Ahmed, 1957) นอกจากนี้ยังพบว่าไผ่ทางภาคใต้ เช่น ไผ่แนะ หรือไผ่คาย ที่ขึ้นปนอยู่กับไม้ยางพาราจะเจริญเติบโตดีกว่าพวกที่ขึ้นในที่โล่ง ทางจังหวัดกาญจนบุรีก็มีไม้ตระกูลถั่วและพวกสะแกเถาขึ้นอยู่ซึ่งจะให้ร่มและธาตุอาหารในดินโดยเฉพาะไนโตรเจนทำให้ไผ่รวกเจริญผิดปกติ ทางภาคเหนือที่พบว่าไผ่ไร่ที่ขึ้นในป่าผสมผลัดใบจะงามกว่าพวกที่ขึ้นในที่โล่ง (บรรเทา, 2513)
  4. ความลาดชัน พบว่าด้านลาดไปทางทิศตะวันออก มักจะมีไผ่ที่มีสภาพการเจริญเติบโตดีกว่าหรือมีไผ่ที่มีลำต้นขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ เช่น ไผ่ตัวอย่างของคณะวนศาสตร์ที่เคยทำการเก็บสถิติอยู่นั้น มีไผ่ซาง ไผ่บงเล็ก และไผ่ไร่ เจริญเติบโตอยู่ทางด้านลาดเขาทางทิศตะวันออก แต่พอข้ามเขาไปสภาพดินเปลี่ยนแปลงเป็นพวกดินลูกรังพบว่าไผ่ไร่ขึ้นอยู่อย่างแคระแกรน (บรรเทา, 2513) ทางจังหวัดกาญจนบุรีก็เช่นกันด้านลาดเขาทางทิศตะวันออกมักจะมีไผ่เจริญงอกงามดีกว่าด้านลาดเขาทิศตะวันตก

(ที่มา: https://www.bamboofarm.org/about-bamboo/. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2564 เวลา 13.01 น.)

วิธีการปลูกต้นไผ่

ต้นไผ่มีมากมายหลายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่นิยมปลูกในบ้านก็อย่างเช่น ไผ่สีสุก, ไผ่เหลืองทอง, ไผ่น้ำเต้า และไผ่เตี้ย ซึ่งเป็นพันธุ์ต้นเล็ก สามารถปลูกได้ 2 วิธี คือ ปลูกในแปลงปลูก และปลูกในกระถาง

1.ปลูกในแปลงปลูก หรือตามรั้วบ้าน เพื่อกันแดดกันลม ให้ความร่มรื่นในบ้าน หรือเพื่อใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ ของต้นไผ่ ทำได้ไม่ยากเริ่มจากขุดหลุมปลูกขนาด 30x 30 x 30 เซนติเมตร จากนั้นใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักผสมกับดินร่วนอัตราส่วน 1:2 ผสมดินปลูก และผสมยาฟูราดาน อัตรา 50-100 กรัม/ต้น รองไว้ที่ก้นหลุมเพื่อป้องกันหนอนและด้วง

                                   

 ภาพจาก https://www.bangkoktoday.net                        ภาพจาก https://br.pinterest.com

2. ปลูกในกระถาง เพื่อประดับภายนอกอาคารบ้านเรือน ควรเลือกไผ่พันธุ์ขนาดเล็กและเหมาะสมกับพื้นที่ วิธีปลูกให้ใช้กระถางทรงสูง ขนาด 18-24 นิ้ว ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักผสมดินร่วนในอัตรา 1:1 ผสมกับดินปลูก หลังจากปลูกแล้ว 1-2 ปี ควรเปลี่ยนกระถางปลูกใหม่ เพราะรากของไผ่อาจขยายจนแน่นกระถาง หรือลำต้นอาจจะสูงเกินไป และควรเปลี่ยนดินปลูกใหม่ ไม่ให้ดินเสื่อมสภาพด้วย

                                             

ภาพจาก https://www.technologychaoban.com/            ภาพจาก https://www.khonlukbaan.com/28/

ส่วนใครที่อยากปลูกต้นไผ่กวนอิม เพราะเชื่อกันว่า จะทำให้คนในบ้านมีฐานะดี ร่ำรวย ก็สามารถปลูกได้ 2 วิธีเช่นกัน คือ ปลูกในกระถาง ให้เลือกกระถางทรงสูง 8-12 นิ้ว ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักผสมแกลบผุและดินร่วม ในอัตราส่วน 1 : 1 : 1 ปลูก หมั่นเปลี่ยนกระถางปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อไม่ให้รากไผ่ขยายตัวแน่นเกินไป และช่วยให้ต้นไผ่ได้ดินใหม่ที่ไม่เสื่อมสภาพด้วย

การดูแลรักษาต้นไผ่

ไผ่เป็นพืชที่ดูแลรักษาไม่ยาก เพราะเป็นพืชที่ทนทานมาก ไม่ค่อยมีปัญหาต่อโรค ควรปลูกไว้กลางแจ้ง ให้โดนแสงแดดมาก ๆ เพราะไผ่ชอบแสงแดด ให้น้ำปริมาณปานกลาง วันละ 5-7 ครั้ง หมั่นรักษาความสะอาดของบริเวณแปลงปลูก บำรุงรักษาด้วยกันใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก หรือใส่ปุ๋ยเคมี ก็ได้เช่นกัน

การขยายพันธุ์ต้นไผ่  การขยายพันธุ์ต้นไผ่ ทำได้ 4 วิธี ซึ่งก็เหมือนกับการขยายพันธุ์พืชทั่ว ๆ ไป คือ

          1.ใช้เมล็ด เป็นวิธีที่ไม่ยุ่งยาก แต่ไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่นัก เพราะหากเมล็ดไม่สมบูรณ์ มีความชื้น และเชื้อราไผ่ก็งอกยาก เกษตรกรหลายคนจึงหันไปขยายพันธุ์ไผ่ด้วยวิธีอื่นมากกว่าใช้ปลูกด้วยเมล็ด

2.การใช้เหง้า เป็นวิธีที่ค่อนข้างจะได้ผลดี สามารถทำได้โดยเลือกลำอายุระหว่าง 1-2 ปี มาเป็นแม่พันธุ์ ตัดยอดออกจนเหลือความสูงเพียง 1 เมตร จากนั้นก็ขุดดินลึกลงไปจนถึงเหง้ากับตอ แล้วปลูกลงในหลุมที่เตรียมไว้ทันที การขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้จะได้หน่อที่แข็งแรง โตเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก และสิ้นเปลืองเวลา

ภาพจาก http://www.homeest.com/

          3.การใช้ลำ วิธีนี้ทำได้ง่าย แต่ต้องเลือกลำให้ดี คือต้องไม่แก่เกินไป ควรเลือกลำที่มีอายุระหว่าง 1-2 ปี โดยเลือกตัดแต่ละลำให้มีความยาว 2 ข้อ จากนั้นนำลำไปปักชำไว้ในที่ที่ต้องการปลูก ไม่นานต้นอ่อนจะแทงยอดออกมาตามข้อที่ฝังลงในดิน

ภาพจาก http://www.homeest.com/

          4.การใช้กิ่งแขนง เป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่นิยมมากที่สุด เพราะสะดวก และประหยัดค่าใช้จ่าย วิธีการก็คือ ให้เลือกกิ่งที่แตกออกมาจากบริเวณตาที่ข้อของลำต้น เลือกกิ่งที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-1.5 นิ้ว ตัดปลายกิ่งออกให้เหลือกิ่งที่ปักชำ ยาวประมาณ 100 เซนติเมตร จากนั้น ปักชำลงไปในแปลงที่เตรียมไว้ แล้วกลบดินให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม ใช้ทางมะพร้าวมาทำเป็นหลังคากันแดดไว้ จากนั้นอีก 6 เดือน ให้ย้ายลงไปปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ โดยจะนิยมปลูกกันในฤดูฝน เพราะดินจะมีความชุ่มชื่นสม่ำเสมอ ทำให้รากและลำต้นไผ่ตั้งตัวเร็ว อีกทั้งยังประหยัดแรงงาน และประหยัดน้ำด้วย เพราะมีฝนตกตลอด

ภาพจาก http://www.homeest.com/

การปลูกต้นไผ่ควรปลูกไว้ริมรั้วของบ้าน หรือบริเวณที่โล่งกว้าง เพื่อให้ต้นไผ่ได้แตกหน่อเจริญงอกงาม และควรปลูกไว้ทางทิศตะวันออก เพื่อให้ต้นไผ่ได้รับแสงแดดยามเช้า นอกจากนี้ ตามความเชื่อยังบอกไว้ด้วยว่า ควรปลูกต้นไผ่ในวันเสาร์จึงจะเป็นมงคลที่สุด และถ้าผู้ปลูกเป็นคนที่เกิดปีมะแมจะยิ่งดี เพราะต้นไผ่เป็นต้นไม้ประจำปีมะแมนั่นเอง

(ที่มา: http://www.homeest.com/. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2564 เวลา 12.50 น.)

สรุปการลงพื้นที่

จากการลงพื้นที่ พบว่าในบริเวณพื้นที่ของชุมชน พบเห็นต้นไผ่บ้างเล็กน้อย ซึ่งพบเห็นได้ตามพื้นที่นา บริเวณสระน้ำขุดส่วนบุคคล และบริเวณคอกเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านในชุมชน ซึ่งต้นไผ่ที่พบในพื้นที่ของชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นต้นไผ่ที่ปลูกไว้เพื่อใช้ประโยชน์จากลำต้นเป็นหลัก และลักษณะการปลูกต้นไผ่ มีลักษณะปลูกทิ้งไว้ตามท้องไร่ ท้องนา ไม่ได้มีการดูแลรักษาที่เป็นระบบขั้นตอน และไม่ได้ปลูกไว้เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางด้านเศรษฐกิจ

ดังนั้นข้าพเจ้าและทีมงานจึงมีความต้องการที่จะจัดกิจกรรมการเสริมสร้างแนวคิดสร้างสรรค์ เกี่ยวกับการปลูกต้นไผ่ เพื่อความสวยงามทางด้านการท่องเที่ยว หรือเป็นจุดแวะถ่ายรูป รวมถึงการเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับต้นไผ่ ที่มีหลากหลายสายพันธุ์ และการแปรรูป การใช้ประโยชน์ด้านต่างๆจากต้นไผ่ ให้คนใจชุมชนได้มีความเข้าใจในการปลูกต้นไผ่ เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ซึ่งทีมงานจะได้ดำเนินงานการจัดกิจกรรมในขั้นต่อไป

ทั้งนี้ที่ข้าพเจ้าและทีมงานได้เลือกต้นไผ่มาช่วยในเรื่องของการปรับภูมิทัศน์ เนื่องจากเห็นว่าต้นไผ่มีลักษณะความสำคัญ และมีแหล่งท่องเที่ยวเกี่ยวกับต้นไผ่ที่น่าสนใจ ดังนี้

  1. ต้นไผ่เป็นพืชที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว
  2. ต้นไผ่มีหลากหลายสายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีลักษณะจุดเด่นแตกต่างกัน ทำให้เป็นพืชที่มีความหลากหลาย ซึ่งเหมาะแก่การศึกษา เรียนรู้
  3. นำมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน เช่น ทำอาหาร ปลูกประดับตกแต่งบ้าน อาคาร ใช้ทำยา ใช้ทำงานหัตถกรรมฝีมือ เป็นต้น
  4. นอกจากจะปลูกต้นไผ่เพื่อปรับภูมิทัศน์ชุมชนให้สวยงาม ช่วยส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวแล้ว คนในชุมชนยังสามารถใช้ประโยชน์จากต้นไผ่ได้อีกหลายด้าน ซึ่งถือเป็นการได้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และคุ้มค่าสูงสุด

ต้นไผ่มีหลายสายพันธุ์ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะเด่นแตกต่างกัน รวมถึงการนำมาใช้ประโยชน์ก็แตกต่างกัน ซึ่งสายพันธุ์ต้นไผ่ที่นิยมนำมาปลูกไว้สำหรับประดับตกแต่งเพื่อความสวยงาม ก็มีหลายสายพันธุ์ เช่น ไผ่เลี้ยง หรือ ไผ่น้อย ไผ่สร้างไพร ไผ่เปร็ง ไผ่คันร่ม นำมาจากจีนและญี่ปุ่น นิยมปลูกเป็นแนวรั้วแนวเขตที่ดิน ปลูกตามหัวไร่ปลายนา เป็นไผ่ขนาดกลาง ลำเปลาสีเขียว นอกจากนี้ยังมีไผ่เหลืองหรือไผ่หลวง ไผ่สีทอง ไผ่ลาย ไผ่งาช้าง ไผ่บงดำ ไผ่จันดำ ที่ปลูกไว้สวยงามตามสวนสาธารณะ ใช้ลำทำเฟอร์นิเจอร์ ทำแจกัน ทำเครื่องประดับต่างๆ และไผ่ประดับสวยงาม ที่นิยมคือ ไผ่น้ำเต้า ซึ่งเอามาจากจีน ใช้จัดแต่งสวนหย่อม รูปร่างข้อปล้องสั้นป้อมอ้วนสวยงาม เหมือนไม้โบราณ

หากพูดถึงป่าไผ่ที่สวยงามและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ก็คงต้องนึกถึงป่าไผ่อาราชิยาม่า แห่งเมืองเกียวโต ที่ตั้งอยู่ด้านหลังของวัดเทนริวจิ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่น่าสนใจและเป็นที่นิยมของชาวญี่ปุ่น และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชื่นชอบความงามของธรรมชาติ ที่จะได้สัมผัสกับอากาศที่บริสุทธิ์ บรรยากาศที่ร่มรื่น เเละวิวทิวทัศน์อันสวยงามท่ามกลางธรรมชาติ ทั้งยังมีกิจกรรมที่เป็นไฮไลท์สำหรับผู้ที่มาเยี่ยมชมป่าไผ่เเห่งนี้ได้ทำอีกมากมาย นอกจากกการเดินชมป่าไผ่เเล้ว ที่นี่ยังมีศาลเจ้าที่โด่งดังในเรื่องของการขอคู่ครองอีกด้วย นับได้ว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ไม่ควรพลาดกันเลยทีเดียว ป่าไผ่ เกียวโต แห่งนี้เป็นป่าไผ่ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ทั้งสวยและโด่งดังที่สุดในประเทศญี่ปุ่น โดยตลอดสองข้างทางนั้นจะมีต้นไผ่สีเขียวขจีสูงเสียดฟ้า ยาวกว่า 10 เมตร เรียงรายอยู่เป็นระยะทางประมาณ 500 เมตร ให้ความร่มรื่น สงบ เย็นสบาย และแสงที่ลอดผ่านต้นไม้ไผ่ให้ความรู้สึกอบอุ่น เราสามารถเยี่ยมชมป่าไผ่แห่งนี้ได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การเดิน การปั่นจักรยาน หรือใช้บริการรถลากโบราณ ที่ทางเจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมไว้ให้บริการ ที่สำคัญเลยคือ เราสามารถมาเยี่ยมชมป่าไผ่เกียวโต แห่งอาราชิยาม่า ได้ตลอดทั้ง 4 ฤดูเลยแหละ เพราะป่าไผ่แห่งนี้จะเขียวขจีตลอดทั้งปี

ข้อมูลและภาพจาก https://chillchilljapan.com/arashiyama-bamboo-groves/

ถ้าแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทยที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับซุ้มต้นไผ่ ก็ต้องพูดถึงซุ้มต้นไผ่  นครนายก  ตั้งอยู่ใน ตำบลบ้านพริก อำเภอบ้านนา ด้านหน้าวัดจุฬาภรณ์วนาราม เป็นอุโมงค์ไผ่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ที่เอียงเข้าหากันระหว่างทางเดินที่ทอดยาวหลายเมตร จนกลายเป็นอุโมงค์ไผ่เขียวขจีที่สวยงาม ยิ่งในช่วงที่มีแสงอ่อนของดวงอาทิตย์ส่องลอดลงมาผ่านต้นไผ่ด้วยแล้วยิ่งงดงาม  ซุ้มต้นไผ่ มีบรรยากาศคล้ายกับป่าไผ่อาราชิยาม่า ที่ญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นักท่องเที่ยวต่างนิยมมาถ่ายภาพพอตเทรต ถือ เป็นจุดพักผ่อนที่สวยงาม ร่มรื่น หลังจาถ่ายภาพแล้ว อย่าลืมแวะไปทำบุญด้วย

ข้อมูลและภาพจาก https://www.paiduaykan.com/travel

แบบทดสอบประจำบทความ

https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSdr19KZmFamzZzMBxmxSfSA56BU__CorMRTgT1Otg5eXsY7Hg/viewform

คลิปประจำบทความ

อื่นๆ

เมนู