ข้าวโพดข้าวเหนียว

            หากจะถามว่า  “พืชผลอะไรเอ่ย ข้างนอกสีเขียว พอเปิด ข้างในสีขาวบ้าง  สีเหลืองบ้าง สีม่วงบ้าง  ปอกแล้วลักษณะคล้ายการปอกกล้วย?”   ติ๊กต๊อก  ติ๊กต๊อก ติ๊กต๊อก!!!   หมดเวลา …เฉลย  ก็ ข้าวโพด ไง!!!  บางท่านบอกว่า  ชอบบบทานมากกกกก… บางท่านก็ไม่ค่อยชอบ  แต่ก็ต้องยอมรับว่า ข้าวโพดเป็นพืชผลที่คนหลายวัยชอบทานกัน  ในประเทศไทยมีการปลูกข้าวโพดหลายสายพันธุ์   วันนี้เราจะมาทำความรู้จักเกี่ยวกับข้าวโพดโดยเน้นเรื่อง “ข้าวโพดข้าวเหนียว”

ข้าวโพดข้าวเหนียว : Waxy Corn (แว๊กซี่ คอร์น)  มีชื่อวิทยาศาสตร์ : Zea mays ceratina (ซี เม เซลาติน่า)  อยู่ในวงศ์ : Poaceae (โพเช่)  ในข้าวโพดข้าวเหนียวมีโปรตีน  คาร์โบไฮเดรต  ไขมัน พลังงาน รวมถึงวิตามินต่าง ๆ คือวิตามินเอ วิตามินอี วิตามินซี วิตามินบี1  วิตามินบี2  และวิตามินบี 3  ยังมีแร่ธาตุ คือ แคลเซียม ฟอสฟอรัส  โพแทสเซียม  สังกะสี  เหล็ก  อีกทั้งมีเส้นใย  ด้วยสารอาหารที่มากมายทำให้ข้าวโพดข้าวเหนียวนับเป็นพืชผักสมุนไพร   เพราะช่วยบำรุงปอด  บำรุงหัวใจ บำรุงตับ บำรุงกระเพาะอาหาร ช่วยบำรุงผิวพรรณ บำรุงสายตา และบำรุงร่างกาย   ช่วยในการรักษาตับอักเสบ รักษาไตอักเสบ  ช่วยรักษาปอดอักเสบช่วยระบบทางเดินปัสสาวะ ช่วยขับปัสสาวะ แก้ท้องร่วง แก้บิด ช่วยรักษาไข้ทับระดู แก้คลื่นไส้อาเจียน ช่วยเจริญอาหาร ช่วยรักษาความดันโลหิตสูง ช่วยป้องกันโรคเบาหวาน ช่วยลดคอเรสเตอรอลในเลือด ช่วยป้องกันโรคหัวใจ ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ช่วยย่อยอาหารในลำไส้ มีอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความชรา แก้ไข้ แก้หวัด ช่วยบำรุงความจำ ช่วยรักษาแผลอักเสบ ช่วยรักษาแผลสด  ด้วยสรรพคุณหลากหลายของข้าวโพดข้าวเหนียวทำให้คนนิยมทานทั้งนำมาทานเล่น เช่น ข้าวโพดต้ม ข้าวโพดอบเนย  นำมาประกอบอาหารคาว อาหารหวาน เช่น  ข้าวโพดทอด  ผัดผักรวมมิตร  แกงเลียง  และขนมสาคูข้าวโพด  เมื่อเราเห็นคุณประโยชน์มากมายของข้าวโพดข้าวเหนียวแล้ว เรามาลองศึกษาวิธีการปลูกเผื่อเราจะได้นำไปปลูกในแปลงผักเล็กๆ บ้าง..

การปลูก

ข้าวโพดสามารถเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย หน้าดินลึก หน้าดินไม่แน่น พื้นที่ไม่มีน้ำท่วมขัง มีความชื้นที่เพียงพอ หากหน้าดินแห้งหรือขาดน้ำ ข้าวโพดจะหยุดเติบโต และเหี่ยวตายได้ง่ายมาก ทั้งนี้ ข้าวโพดข้าวเหนียวสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ขอเพียงให้มีน้ำเพียงพอเท่านั้น บางพื้นที่ เช่น ภาคเหนือ อีสาน นิยมปลูกหลังการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ในช่วงเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม เพราะช่วงนี้ดินยังมีความชื้นอยู่มาก ทำให้ประหยัดน้ำได้มาก แต่หลังการปลูกประมาณ 1-2 เดือน อาจต้องให้น้ำเพิ่ม เพราะช่วงนี้อากาศจะแห้ง และร้อน ทำให้หน้าดินสูญเสียความชื้นได้ง่าย

ขั้นตอนการปลูก

  1. การเตรียมดิน ด้วยการไถดะลึกประมาณ 15 ซม. เพื่อตากดินให้แห้ง กำจัดวัชพืช และกำจัดไข่หรือตัวอ่อนแมลง โดยตากดินประมาณ 1 สัปดาห์ และหลังจากนั้นให้ทำการไถแปรอีก 1 ครั้ง เพื่อให้ก้อนไถแตกเป็นก้อนเล็ก และทำการตากดินอีกประมาณ 1 สัปดาห์
  2. การปลูก สามารถปลูกเป็นแถวโดยการยกร่องหรือปลูกหลังการเตรียมดินเสร็จโดยไม่ยกร่องก็ได้ แต่พื้นที่ควรเป็นพื้นที่ที่สามารถระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ท่วมขังในกรณีที่ฝนตก ทั้งนี้ การปลูกข้าวโพดนิยมปลูกโดยการยกร่องมากกว่า เพราะง่ายต่อการดูแล การให้น้ำ การให้ปุ๋ย และการควบคุมวัชพืช
  •  การปลูกโดยไม่ยกร่อง ให้ปลูกระยะระหว่างแถวที่ 70 เซนติเมตร ระหว่างต้นที่ 20 เซนติเมตร โดยหยอด 2 เมล็ด/หลุม หากเมล็ดงอกทั้งสองเมล็ดให้ถอนเหลือไว้เพียงหลุมละต้น
  • การปลูกโดยการยกร่อง ใช้วิธีการไถยกร่องสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างร่องประมาณ 70-80 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 20 เซนติเมตร หยอดเมล็ด 2 เมล็ด/หลุม และให้ถอนต้นอ่อนให้เหลือหลุมละ 1 ต้น เมื่อต้นอ่อนตั้งต้นได้แล้วหรือต้นอ่อนสูงประมาณ 10-20 เซนติเมตร

ก่อนปลูกให้นำเมล็ดมาแช่น้ำประมาณ 30 นาที เพื่อให้ต้นกล้างอกได้เร็ว และกำจัดเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง

การดูแล

  1. การให้น้ำ สำหรับแปลงปลูกที่มีการยกร่องสามารถให้น้ำตามร่องดินเพื่อให้ความชุ่มชื้น แก่ดินก่อนปลูก หลังการหยอดเมล็ดเมื่อเมล็ดงอกแล้ว 1 สัปดาห์ เริ่มให้น้ำตามร่อง โดยให้ที่ความถี่ 1-2 ครั้ง/เดือน โดยขึ้นอยู่กับสภาพความชื้นของดิน ทั้งนี้ในช่วงติดฝักระวังอย่าให้ดินแห้งเป็นดีที่สุด
  2. การใส่ปุ๋ย ให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์ในอัตราต้นละ 0.3 กิโลกรัม หรือ 2 กำมือ/ต้น ส่วนปุ๋ยเคมีให้ใช้สูตร 20-20-0 โดยการใส่รองพื้นหรือใส่เมื่อเมล็ดงอกแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ ในอัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ และให้สูตร 12-12-24 ในอัตราเดียวกันในช่วงก่อนติดฝัก
  3. การกำจัดวัชพืช ให้ทำการถอนวัชพืชเป็นระยะ 1 ครั้ง/เดือน หลังเมล็ดงอกแล้ว และสามารถยึดได้เมื่อต้นข้าวโพดโตจนสามารถคุมดินได้แล้ว
  4. โรค และแมลง ที่มักพบ ได้แก่ โรคราน้ำค้าง ซึ่งสามารถกำจัดด้วยการฉีดพ่นสารกำจัดราทั่วไปตามท้องตลาด นอกจากนั้นมักพบหนอนเจาะลำต้นหรือหนอนเจาะฝักที่ชอบเจาะกินก้านฝัก แกนฝักหรือเมล็ดอ่อนของข้าวโพด ทั้งนี้ สามารถป้องกัน และกำจัดด้วยการใช้ฉีดพ่นแบคทีเรียบีที

การเก็บเกี่ยว

ข้าวโพดข้าวเหนียวจะสามารถเก็บผลได้โดยสังเกตที่ใยไหมมีสีน้ำตาล เมื่อบีบที่ปลายฝักจะยุบตัวง่าย ซึ่งจะมีอายุการเก็บเกี่ยวในช่วง 55-65 วัน ลักษณะที่สังเกตได้คือ ฝักมีสีเขียว สีเส้นไหมมีสีน้ำตาล บีบที่ปลายฝักจะยุบ  ทั้งนี้การเก็บเพื่อความแน่ใจควรสุ่มเก็บในแปลงประมาณ 2-3 ฝัก ในจุดต่างๆของแปลงเสียก่อน หรือเปิดดูเมล็ด หากเมล็ดมีลักษณะอวบเต็มไม่มีช่องว่างระหว่างเมล็ดก็สามารถเก็บผลผลิตได้

วิธีการเก็บ

ใช้มีดหรือกรรไกรตัด ให้มีข้อติดมาด้วย ตัดเบามือให้ระวังเมล็ดข้าวโพดช้ำเสียหายง่าย

วิธีเก็บรักษาข้าวโพดข้าวเหนียว

นำข้าวโพดข้าวเหนียวสด มาเก็บในภาชนะที่เตรียมไว้ อย่าให้โดนแสงแดด มีอายุการเก็บได้ไม่เกิน 2 วัน ถ้าเกินนั้นความหวานและความสดจะลดลง

นี้คือขั้นตอนและการดูแลการปลูกข้าวโพดข้าวเหนียวที่ผู้เขียนอยากนำเสนอ และจากการลงพื้นที่หมู่ 7 ตำบลกระสัง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้ทำการปลูกข้าวโพดข้าวเหนียวเพื่อจำหน่าย โดยจะเริ่มปลูกหลังจากเสร็จจากการทำนา  สิ่งที่สำคัญมาก คือ การมีแหล่งน้ำสำหรับปลูกข้าวโพด บางครัวเรือนขุดสระเอง  บางครัวเรือนมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอย่างเช่น  การสูบน้ำบาดาลโดยใช้โซล่าเซลล์มาพักในบ่อ  ถือเป็นความก้าวหน้าของเกษตรกรรุ่นเก่าแต่หัวใจใหม่   เพื่อพัฒนาพืชผลทางการเกษตรอย่างยั่งยืน  ผลิตผลข้าวโพดที่ได้มา  ส่วนมากจะนำไปจำหน่ายเองตามในชุมชนและนอกชุมชนโดยการต้มขายขณะนี้ยังไม่มีการส่งขายนอกพื้นที่หรือแปรรูปอื่น ๆ  หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลิตผลข้าวโพดข้าวเหนียวในชุมชน ม.7 จะเติบโตเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนตำบลกระสังต่อไป

 

         เพื่อน ๆ ทราบแล้วนะคะว่า  การปลูกข้าวโพดข้าวเหนียวก็ไม่ยากมาก เราสามารถที่จะปลูกไว้สำหรับทานเองในครอบครัว  เป็นแปลงข้าวโพดเล็กๆ น่ารัก น่ารัก นอกจากคุณค่าทางสารอาหารและสรรพคุณมากมากแล้วตอนที่ลำตันโตไปยืนถ่ายภาพก็สวยงาม..สวยทั้งคนสวยทั้งต้นข้าวโพดจร้า!!!

ลิ้งค์วีดีโอ https://youtu.be/spBYPHefFmg

อื่นๆ

เมนู