นายอำนวย  จิตไทย ประเภทประชาชน

การดำเนินงานเดือนพฤษภาคมในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) รับผิดชอบในตำบลกระสังได้แก่ บ้านม่วงเหนือหมู่ 2 บ้านเครือชุด หมู่ 4 บ้านกลันทา หมู่ 10 บ้านลำดวน หมู่ 11 และบ้านม่วงพัฒนา หมู่ 16 อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์  มีการประชุมเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับงานสำรวจเก็บข้อมูลการใช้งานเครื่องจักสานในพื้นที่ 5 หมู่บ้านดังกล่าวได้ข้อมูลดังนี้

           1. ไซดักปลา ชาวบ้านส่วนใหญ่ใน หมู่ที่ 4, 10, 11, 16 นิยมใช้เป็นเครื่องมือดักปลาในกลุ่มปลาเล็กปลาน้อย ใช้งานในแหล่งน้ำที่ไม่ลึก ที่เป็นแหล่งน้ำไหลและเป็นการเปิดช่องระบายน้ำเข้าออกตามคันนา ไซมีหลายรูปทรง ตั้งชื่อตามรูปทรงนั้น เช่น ไซปากแตร สานเป็นรูปกรวยปากไซบานออกเป็นรูปปากแตร ไซท่อ สานคล้ายท่อดักปลา หรือไซสองหน้า มีช่อง 2 ด้าน ไซลอย ใช้วางลอยในช่วงน้ำตื้น ๆ แหวกกอข้าวหรือกอหญ้าออกแล้ววางแช่น้ำไว้ ใช้ดักปลากระดี่ ไซกบ สานเป็นลายขัดตาสี่เหลี่ยมรูปทรงกระบอก ใช้ดักกบ ไซโป้ง สานก้นโป่งเล็กน้อย จะมีรูปลักษณ์ที่ต่างกัน แต่มีลักษณะสานเป็นทรงกระบอกและทำปากทางเข้าเป็นงาแซง ไซต่าง ๆ มักไม่ต้องใช้เหยื่อ เพราะจะดักปลาที่ต้องไหลในกระแสน้ำ เว้นแต่ไซกบที่ต้องมีเหยื่ออย่างลูกปู ลูกปลาเพื่อให้กบมาติดกับดัก ซึ่งในหมู่บ้านนิยมใช้ไซที่มีลักษณะดังภาพ

 

ไซดักปลาที่นิยมใช้ในชุมชนหมู่ที่ 4, 10, 11, 16

             2. ฝาชี จากการสำรวจพบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่เกือบทุกครัวเรือนจะใช้ฝาชีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นเครื่องครอบอาหารสานด้วยไม้ไผ่ ทำเป็นตากลมๆ สานด้วยลายตาหมากกอก สำหรับครอบไม่ให้แมลงวันตอม

จะเห็นว่ารูปแบบและลวดลายของเครื่องจักสานที่ทำขึ้นโดยชนชาติต่างๆจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลวดลายในการสานจะมีจำกัดอยู่ไม่มากลายนัก และความจำกัดของลวดลายนี้ทำให้รูปทรงของเครื่องจักสานมีลักษณะที่ใกล้เคียงกันไปด้วย นอกจากนี้วัสดุที่ใช้ในการทำเครื่องจักสานใช้วัสดุไม้ไผ่ เป็นหัตถกรรมพื้นบ้านพื้นเมืองที่มีทำกันมาแต่โบราณ

ฝาชีที่นิยมใช้ในชุมชนหมู่บ้าน

                       จากการวิเคราะห์จะเห็นว่าเครื่องจักสานของชุมชนหมู่ที่ 4, 10, 11, 16 ที่เห็นชัดจะเป็นไซดักปลาและฝาชีครอบอาหารเป็นส่วนใหญ่เป็นที่นิยมเฉพาะถิ่นของเครื่องจักสาน สะท้อนให้เห็นถึงสภาพภูมิศาสตร์ของแต่ละท้องถิ่น สภาพการดำรงชีวิต ขนบประเพณี ความเชื่อ เครื่องจักสานของชุมชนนี้จึงเป็นศิลปหัตถกรรมที่มีคุณค่าเฉพาะกลุ่มที่สะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาของชาวบ้านได้หลายอย่าง เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ชาวบ้านเรียนรู้จากการสังเกตและการทดลองสืบต่อกันมาแต่บรรพบุรุษ จนทำให้เครื่องจักสานมีรูปแบบและประโยชน์ใช้สอยที่สมบูรณ์

อื่นๆ

เมนู