ดิฉันนางสาวพนิดา พรชัย เจ้าหน้าที่ปฎิบัติงาน (นักศึกษา)   หลักสูตร ID10 : การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามอัตลักษณ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ตำบลกระสัง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์

          บันทึกการทำงานเดือนกันยายนเป็นเดือนที่ 9 ของการทำงานกับโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ(มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้แก่ประเทศ)  ดิฉันผู้ปฏิบัติงานประเภทนักศึกษา ปฏิบัติงานในตำบลกระสัง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์  แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ก็ยังไม่ดีขึ้น ทำให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนต้องทำงานกันแบบออนไลน์เป็นหลัก โดยในวันที่ 10 เดือนกันยายน 2564 ได้มีการจัดประชุมออนไลน์กับทีมงาน ตำบลกระสัง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ผ่าน Google meet ตั้งแต่เวลา 10.00-12.00 น. เพื่อพูดถึงกิจกรรมที่ผ่านมา,กิจกรรมที่มอบหมายเพิ่มเติมในเดือนกันยายนและวางแผนในการจัดทำกิจกรรมในเดือนถัดไป   สำหรับภาระงานและในเดือนนี้งานของดิฉันคือ การรวบรวมภาพกิจกรรมต่างๆ เพื่อจัดทำวิดีโอประจำเดือน  ในส่วนของบทความประจำเดือนนี้จะเป็นการนำเสนอประวัติของชุมชนบ้านโนนรัง

ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน

       หมู่บ้านโนนรัง เป็นการตั้งชื่อตามลักษณะทางกายภาพของหมู่บ้านคำว่า ”โนน” หมายถึงพื้นที่ที่สูงกว่าทุกแห่งในบริเวณนั้น ส่วนคำว่า”รัง” หรือคำว่า”ฮัง” เป็นชื่อของไม้ยืนต้นตระกูลเดียวกันกับไม้ยาง

         ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านได้เล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับประวัติของหมู่บ้านโนนรังไว้ว่า เมื่อครั้งที่ยังไม่ก่อตั้งหมู่บ้านมีพ่อใหญ่สุด จันทร์เทศ และพ่อใหญ่ลู ศรีละมัด ทั้งสองท่านเป็นนายฮ้อย ค้าขายวัวควายในต่างถิ่น ได้ชวนกันหอบลูกหลบหลานขึ้นเกวียณใช้วัวควายลากออกเดินทางเพื่อที่อยู่ใหม่เพราะต้องการหนีจากความแห้งแล้ง การเดินทางครั้งนั้นมีประมาณ 5 ครอบครัว ประกอบไปด้วยพ่อใหญ่สุด จันทร์เทศพ่อใหญ่ลู ศรีละมัด พ่อใหญ่โนย วิเศษหอม พ่อใหญ่ยอด จันทร์แพง อพยพเดินทางรอนแรมมาจากตำบลฟ้าห่วน อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร  การเดินทางใช้รถไฟฟืนในสมัยนั้นจากสถานีศรีสะเกษมาลงที่สถานีแสลงพัน และได้เดินเท้ามาเรื่อยๆ เพื่อหาทำเลที่ตั้งในการลงหลักปักฐานสร้างที่อยู่และที่ทำมาหากินแห่งใหม่ พ่อใหญ่สุด จันทร์เทศ,พ่อใหญ่ลู ศรีละมัดและครอบครัวได้เดินทางมาถึงหมู่บ้านโนนรังในปัจจุบัน จึงได้ตกลงกันปักหลักปักฐานอยู่ที่นี่ได้ถางป่าเพื่อทำที่อยู่อาศัย บริเวณนี้ไม่มีหนองน้ำแต่ได้ขุดดินไปเรื่อยๆก็มีน้ำออกมา  เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้นหลายครอบครัวที่อพยพมาจากหลายๆแห่งจึงได้มีการก่อตั้งหมู่บ้านขึ้น  ในปี พ.ศ. 2487 โดยใช้ชื่อว่าหมู่บ้านหนองม้า โดยมีพ่อใหญ่พุทธา บุญงอก เป็นผู้นำชุมชนในสมัยนั้น   ต่อมาชาวบ้านหลายคนมีความเห็นตรงกันว่าเมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้นจึงควรแยกหมู่บ้านเพราะจะสะดวกต่อการดูแลประชากรในชุมชนของตน จึงได้มีประชุมกันเพื่อที่จะตั้งชื่อหมู่บ้านและได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า“หมู่บ้านโนนรัง” ตามชื่อต้นรัง เพราะในบริเวณนี้มีต้นรังที่มีจำนวนมาก  

       ในสมัยนั้นผู้ชายจะเป็นผู้ทำไร่ทำนา และจักสาน ส่วนผู้หญิงก็เลี้ยงลูกและทอผ้าไว้นุ่งห่ม และนิยมทอผ้าลายขิด เพราะตามความเชื่อของชาวอีสานถือเป็นของสูงนิยมนำมาเป็นเครื่องกำนัลแก่ผู้ใหญ่ผ้าจะนำมาเป็นส่วนประกอบของเครื่องใช้ที่เป็นของสูงอย่าง เช่น หมอน ผ้าเบี่ยงทำใส่กับเครื่องนุ่งห่มใช้เฉพาะท่อนบนเท่านั้น ลวดลายที่มีการทอจะเป็นลายดอกขิด ลายดอกจัน หลังจากการแยกมาเป็นหมู่บ้านโนนรัง  ก็ได้รับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีการถ่ายทอดจากผู้เฒ่าผู้แก่ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นด้านการทำเครื่องจักสานได้แก่ กระด้ง ตะกร้า ไซดักปลา ข้องใส่ปลา และด้านการทอผ้า เช่น การทอผ้าลายขิด เพราะเห็นว่าเป็นลวดลายที่แปลกและต่างจากลวดลายอื่นๆ โดยผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดการทอผ้าขิดคือ คุณยายพรรณ ศรีละมัด ซึ่งเป็นลูกของพ่อใหญ่ลู ศรีละมัด คุณยายได้มีการทอผ้าลายขิดที่เป็นลายดั้งเดิมและปัจจุบันตั้งชื่อว่า ลายดอกรัง เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อหมู่บ้านโนนรังและการอนุรักษ์สืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าลายขิดมาจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

   

 

 

อื่นๆ

เมนู