บทความเดือนนี้ผู้เขียนขอนำเสนอ  “ประวัติความเป็นมา วิถีชีวิตคนในชุมชมหมู่  18”   หนึ่งในชุมชนที่รับผิดชอบในโครงการครั้งนี้  โดยมีป้าบัวทองหรือ นางบัวทอง  พาเจริญ  อายุ  71  ปี  อยู่ที่บ้านเลขที่  17  หมู่ 18  บ้านใหม่พัฒนา  ต.กระสัง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์  ที่อาศัยในชุมชนนี้มาตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบันเป็นผู้ให้ข้อมูล

 

                ก่อนอื่น…ขอเล่าประวัติของป้าบัวทองสักเล็กน้อย     ตอนเด็กขณะที่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่  1 ได้เรียนที่โรงเรียนบ้านกระสัง   ต่อมาเมื่อมีการตั้งโรงเรียนโพธิ์ดอนหวายที่บ้านดอนหวาย  หมู่  7  ก็ได้ย้ายมาเรียนใกล้บ้าน   ตั้งแต่เด็กจนมีครอบครัวได้อาศัยอยู่ที่ชุมชนนี้มาตลอด   มีบุตรกับคุณลุงทราย  2 คน อาศัยอยู่ในบริเวณบ้านเดียวกัน  ในบ้าน “ทรายทอง”  ผู้เขียนถามว่า  “ชื่อนี้ได้มาอย่างไร”  ป้าบัวทองบอกว่า “ลูก ๆ ตั้งให้…  พ่อ ชื่อ  ทราย  แม่  ชื่อ  ทอง  เลยตั้งชื่อบ้านว่า  บ้านทรายทอง”   น่ารักจัง!!!   ตั้งแต่ปี พ.ศ.2534  ป้าบัวทองทำงานเป็น ประธาน อสม.  มาตลอดจนปัจจุบัน  และยังทำงานเป็นประธานกลุ่มเงินล้าน  ประธานแม่บ้าน  เป็นกรรมการกลุ่มสตรีอำเภอเมือง    เป็นจิตอาสาของโรงพยาบาลบุรีรัมย์มา  15  ปีด้วย   คุณงามความดีของท่านทำให้ได้รับเกียรติบัตรจาก ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์  ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรักษาการประธานรัฐสภา เมื่อปี พ.ศ. 2535   ผู้ได้รับฉายาว่า “วีรบุรุษประชาธิปไตย”  

ป้าบัวทอง   เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า    เดิมทีชุมชนหมู่ 18 บ้านใหม่พัฒนา  เป็นชุมชนเดียวกันกับหมู่  7  บ้านดอนหวาย  ต.กระสัง  อ.เมือง จ.บุรีรัมย์  ผู้คนในชุมชนไปมาหาสู่กัน  ร่วมกิจกรรมงานบุญวัดเดียวกัน  แม้จะคนละฟากถนนก็ตามที  แต่ต่อมาเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นทำให้แยกหมู่บ้านหมู่ที่ 7  ออกมาเป็น  2 หมู่บ้าน  คือ  หมู่ 7  เดิม บ้านดอนหวาย  และ  หมู่  18  บ้านใหม่พัฒนา   โดยแบ่งตามภูมิประเทศเป็นหลักด้วย  หมู่ 18  จะอยู่คนละฝั่งคลองส่งน้ำต้องข้ามสะพานไป  ช่วงแรกมีจำนวนหลังคาเรือนอยู่ประมาณ  48  กว่าหลังคา  ปัจจุบันมีอยู่  50 กว่าหลังคา  ตั้งแต่ตั้งหมู่บ้านขึ้นมามีผู้ดำรงตำแหน่ง “ผู้ใหญ่บ้าน”  เพียง  2 ท่าน คือ  ท่านแรก  นายบุญสืบ  ไม่ยาก  และท่านที่สอง  คือ  นายจำแลง  คะเลรัมย์   ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน 2 สมัยจนถึงปัจจุบัน   ป้าเล่าต่อไปว่า   เมื่อก่อนวิถีชีวิตตอนที่ยังไม่แยกหมู่บ้าน  คนในชุมชนมีความสมัครสมานสามัคคี  ร่วมด้วยช่วยกัน  ต่อมาเมื่อแยกหมู่บ้านผู้ใหญ่บุญสืบนำชาวบ้านพัฒนามาโดยตลอด   นำโครงการดีที่รัฐมีมาพัฒนาหมู่บ้านจนเจริญในระดับหนึ่ง  ถนนในหมู่บ้านมีทั้งถนนคอนกรีต  ถนนลาดยาง    บ้านแต่ละหลังจัดระเบียบการสร้างบ้านได้สวยงามคล้ายหมู่บ้านจัดสรร

  • ความเชื่อ   คนในชุมชนนับถือศาสนาพุทธ  ไม่มีความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์  ไม่ว่าจะมีการขึ้นบ้านใหม่  งานแต่ง  งานศพ จะนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาร่วมพิธี   หลังจากเสร็จพิธีทางสงฆ์จึงจะเชิญผู้เฒ่าผู้แก่มาผูกแขนอวยพรให้ลูกหลาน
  • ประเพณี เมื่อก่อนจะมีพิธีสู่ขวัญข้าวช่วงเดือน 3   จะทำอาหารไปไหว้  แต่ปัจจุบันประเพณีพิธีสู่ขวัญข้าวได้หายไปตามกาลเวลา  ตามคนรุ่นเก่าที่เสียชีวิตไป ถึงแม้ว่ายังมีคนทำนาอยู่บ้างทางฝั่งทิศตะวันออกของหมู่บ้านแต่ก็ไม่ได้ทำพิธีสู่ขวัญข้าวเหมือนอดีต

ป้าบัวทองกล่าวถึง  วิถีชีวิตของคนแถวนี้ว่า   ในปัจจุบันจะใช้ชีวิตแบบใช้เงินซื้อทุกอย่าง  เช่น  ซื้อเครื่องต้มยำ หัวข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด  ผักกระเพรา  ทั้งที่บ้านของตนเองสามารถปลูกได้แต่ไม่ปลูก    และคนในหมู่บ้านส่วนมากประกอบอาชีพ  รับจ้าง  ทำให้ไม่ค่อยมีเวลามากนัก  ผู้เขียนเลยถามต่อไปว่า  “แล้วเด็ก ๆ ในหมู่บ้านมีนิสัยอย่างไร  มีสัมมาคารวะไหม”   ป้าตอบว่า  “เด็กในหมู่บ้านมีนิสัยดี  รู้จักมีสัมมาคารวะ  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่วัดทรงศิลาจะมีจัดบวชทุก 3  ปี”   ดังนั้น…วัดทรงศิลาที่ตั้งอยู่หมู่  7  รวมถึงโรงเรียนบ้านโพธิ์ดอนหวายยังคงเป็นสถานที่สำคัญของคนในชุมชนทั้ง  2  หมู่บ้านอยู่แม้ว่าจะคนละหมู่ก็ตาม

        แม้บทความจะมีเนื้อหาค่อนข้างสั้น ๆ  แต่ก็ได้สะท้อนให้เห็นความเป็นมาผู้คนของชุมชนบ้านใหม่พัฒนา   จากอดีตจนถึงปัจจุบัน จากมุมมองของป้าบัวทอง    สุดท้ายมีคำพูดดี ๆ  ของป้าบัวทองที่ผู้เขียนอยากนำมาฝากผู้อ่าน  “ทำความดีไม่มีเงื่อนไข  ช่วยเหลือผู้อื่นด้วยใจไม่หวังผลตอบแทน”

อื่นๆ

เมนู