การสะท้อนความเห็น ความรู้สึก และผลที่ได้รับจากการทำงานในพื้นที่ที่มีต่อตนเองและชุมชน
ข้าพเจ้านางสาวนภัสนันท์ ลาศรี ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานพร้อมกับทีมงานที่ตำบลกระสัง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบล เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ
การลงพื้นที่
โดยตลอดระยะเวลาของการทำงานในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) โดยเริ่มต้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนมาถึงเดือนตุลาคม 2564 ในส่วนของเดือนแรกนั้นได้รับมอบหมายให้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลแบบฟอร์ม 01 แบบสอบถามข้อมูลบุคคล ครัวเรือนและชุมชน และแบบฟอร์ม 02 แบบสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและด้านอื่นๆต่อชาวบ้าน ชุมชนให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการสืบต่อไป ส่วนด้านการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนด้านสภาพแวดล้อม ด้านภูมิทัศน์ต่างๆในชุมชนนั้น จึงมีการปรึกษาหารือกับชุมชนร่วมกับผู้นำชุมชนและชาวบ้านในชุมชน ทำให้ข้าพเจ้าและทีมงานทำให้ได้ทราบข้อมูลในด้านต่างๆของพื้นที่ชุมชน รวมถึงความต้องการและแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ของชุมชนเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาร่วมกันส่งเสริม แก้ไขให้ดีขึ้นต่อไป
หลังจากที่ได้เก็บรวมรวมข้อมูลต่างๆมาได้บางส่วนแล้วนั้น จึงได้มีการประชุมปรึกษาหารือกับอาจารย์และสมาชิกในกลุ่มเพื่อไปนำเสนอสิ่งที่ได้จากการประชุมให้กับผู้นำชุมชนและชาวบ้านเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จากนั้นจึงได้เกิดการจัดอบรมครั้งที่ 1 เกิดขึ้นคือ การจัดอบรมทักษะความรู้เรื่องต้นไผ่ เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน การอบรมครั้งที่ 2 เรื่องการจัดอบรมทักษะความรู้การประดิษฐ์โคมไฟจากต้นไผ่ เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน การอบรมครั้งที่ 3 เรื่องการอบรมเชิงปฏิบัติการการปรับภูมิทัศน์ เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ส่วนการจัดอบรมครั้งที่ 4 ครั้งสุดท้ายนั้น จะจัดเกี่ยวกับเรื่องนักเล่าเรื่องในชุมชน ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ การจัดอบรมทั้ง 4 ครั้งนั้น เกิดประโยชน์ต่อชาวบ้านและคนในชุมชนเป็นอย่างมาก รวมถึงการสร้างและพัฒนาทางด้านอาชีพ และในส่วนของพื้นที่ในชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น จากการร่วมแรงร่วมใจกันของคนในชุมชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน
อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมชุมชนชมเพลิน โดยเริ่มแรกมีงบประมาณให้หมู่บ้านละ2000 บาท ในการบริหารจัดการให้ผู้นำชุมชนและคนในชุมชนจัดสรรในการเลือกซื้อต้นไม้ ดอกไม้มาใช้ปลูกในกิจกกรม ซึ่งทั้ง 3 หมู่บ้านได้ใช้ต้นไม้และดอกไม้ชนิดเดียวกัน แต่จัดหาวันและเวลาในการปลูกคนละวันกัน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือและร่วมแรงร่วมใจกันเป็นอย่างดี จนกิจกรรมนี้บรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์
สิ่งที่ได้รับและประสบการณ์จากการทำงาน
จากการลงพื้นที่ทำงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยกลุ่มของข้าพเจ้านั้นได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบด้วยกันทั้งหมด 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านไทรโยงหมู่ 3 บ้านไทรโยงเหนือหมู่ 19 และบ้านกลันทาหมู่ 10 ซึ่งในแต่ละหมู่บ้านนั้นมีความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน ดังนี้
บ้านไทรโยงหมู่ 3 จะมีลักษณะความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างแออัด โดยลักษณะของบ้านส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้ชิดหรืออยู่ติดกันแบบเครือญาติ โดยคนในชุมชนจะพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีของกินของใช้ก็แบ่งปันกันกินแบ่งปันกันใช้ โดยไม่ถือตัว เวลามีงานในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือกัน ผู้นำชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถเป็นหลักให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี
บ้านไทรโยงหมู่ 19 ลักษณะความเป็นอยู่ของชุมชนจะแบ่งออกเป็น 2 คุ้ม คือคุ้มบ้านไทรโยงเหนือกับคุ้มบ้านพะไล ซึ่งมีระยะทางห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตร ลักษณะของบ้านจะคล้ายกับบ้านไทรโยงหมู่ 3 ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่อยู่กันแบบเครือญาติ เวลามีงานในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือกัน ผู้นำชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถเป็นหลักให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี
บ้านกลันทาหมู่ 10 ลักษณะความเป็นอยู่ของชุมชนก็แบ่งเป็น 2 คุ้ม เช่นเดียวกันกับบ้านไทรโยงหมู่ 19 ซึ่งได้แก่ คุ้มบ้านกลันทา กับคุ้มหนองตามา ซึ่งลักษณะของบ้านทางคุ้มกลันทาจะค่อนข้างแออัด ส่วนทางด้านคุ้มหนองตามาจะสะอาดสะอ้านมาก บ้านเรือนแบ่งเป็นสัดเป็นส่วน ชาวบ้านร่วมด้วยช่วยกันดูและรักษาความสะอาดบ้านของตนและชุมชนเป็นอย่างดี
จากประสบการณ์การทำงานลงพื้นที่ในทั้ง 3 หมู่บ้านนั้น ทำให้ได้เห็นลักษณะการดำเนินชีวิตและวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่แตกต่างกันออกไป ชาวบ้านบางคนทำเกษตร ทำนา ปลูกผัก เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ บางคนเลี้ยงสุกร เลี้ยงโค เลี้ยงกระบือ บางคนไม่มีที่ดินทำกินก็ออกไปทำงานรับจ้างทั่วไป บางคนเปิดร้านเพื่อค้าขาย แต่ส่วนใหญ่นั้นชาวบ้านจะทำอาชีพรับจ้างทั่วไป นอกจากจะได้รู้ถึงประสบการณ์และวิถีชีวิตของคนในชุมชนแล้ว ยังได้ประสบการณ์การทำงานร่วมกันกับผู้อื่น การสร้างปฏิสัมพันธ์ต่อผู้นำชุมชนและคนในชุมชนอีกด้วย
อีกทั้งยังได้ประสบการณ์ในการลงพื้นที่สัมภาษณ์ ถ่ายคลิปวิดีโอและมอบเสื้อให้กับผู้ที่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของทั้ง 3 หมู่บ้าน ข้าพเจ้าได้ถามไถ่ถึงอากาศหลังฉีดวัคซีนของชาวบ้าน แต่ละคนก็จะมีอาการที่แตกต่างกันออกไปแล้วแต่ภูมิคุ้มกันในร่างกาย แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการอ่อนล้าอ่อนเพลียเพียงแค่ 1-2 วันก็หายเป็นปกติ บางรายไม่มีอาการใดๆ
ความประทับใจต่อการทำงาน
ความประทับใจในครั้งแรกของการทำงานลงพื้นที่เลยก็คือ ผู้ใหญ่บ้านของทั้ง 3 หมู่บ้านและคนในชุมชนให้ความร่วมมือและให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี เพราะในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในครั้งแรกนั้นบ้านบางหลังไม่มีป้ายชื่อและบ้านเลขที่ส่วนใหญ่จะมีการขอข้อมูลจากผู้ใหญ่บ้านและคนในชุมชนเพื่อที่จะถามหาบ้านที่ต้องการหา แถมยังมีคุณป้าท่านหนึ่งเตือนให้ระวังสุนัขอีกด้วย ข้าพเจ้าและสมาชิกในกลุ่มก็กล้าๆกลัวๆแต่ประทับใจตรงที่ว่า เมื่อป้าเห็นว่าพวกเรากลัวสุนัขป้าก็อาสาเดินไปส่งถึงที่พร้อมทั้งนั่งรอรับกลับ และยังมีหลายๆความประทับใจ คือเวลาไปลงพื้นที่เก็บข้อมูล พี่ ป้า น้า อา ก็จะมีขนม ผลไม้และของฝากติดไม้ติดมือมาให้ตลอด นี่คือความประทับใจที่มีต่อผู้นำชุมชนและคนในชุมชนเสมอมา เหมือนดั่งคำพูดที่ว่า “คนไทยไม่เคยทิ้งกัน” อย่างแท้จริง
ปัญหาและอุปสรรครวมถึงการแก้ปัญหาที่พบในการทำงาน
โดยปัญหาแรกที่พบก่อนจะเริ่มต้นในการทำงานเลยก็คือ การค้นหาอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากสำหรับการเริ่มต้นทำงาน และการที่จะต้องหาจุดสนใจหรือจุดเช็คอินของชุมชนแห่งนี้ให้ได้ ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจแล้วนั้น พบเพียงแค่คูโบราณล้อมรอบหมู่บ้าน 3 ชั้น บางส่วนก็ถูกขุดลอกรวมเป็นชั้นเดียว จึงเกิดเป็นปัญหาในการทำงาน และแก้ปัญหาโดยการปรึกษาหารือกับอาจารย์ประจำกลุ่ม ผู้นำชุมชนและชาวบ้านเพื่อร่วมกันแสดงความคิดเห็นผลักดันให้ชุมชนแห่งนี้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป
ปัญหาต่อมาคือปัญหาด้านการจัดอบรมของทั้ง 3 ครั้ง รวมถึงปัญหาด้านการจัดหาวิทยากรที่การจัดอบรมในครั้งแรก คือติดต่อวิทยากรไม่ได้ จึงเกิดการเปลี่ยนวิทยากรในระยะเวลาที่ใกล้กับวันที่จะจัดอบรม และกลุ่มของข้าพเจ้าก็ได้แก้ปัญหาในการจัดหาวิทยากรได้ทันวันและเวลาในการจัดอบรม การจัดอบรมในครั้งแรกนั้นก็สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ส่วนปัญหาในการจัดอบรมครั้งที่ 2 เรื่องการประดิษฐ์โคมไฟจากกระบอกไม้ไผ่นั้น คือในเรื่องของสภาพอากาศในวันนั้นมีฝนตกตลอดทั้งวัน ทำให้การเดินทางมาร่วมการอบรมนั้นลำบาก แต่ชาวบ้านก็ร่วมแรงร่วมใจกันเป็นอย่างมากในการเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ และอุปสรรคอีกอย่างคือในเรื่องของกระบอกไม้ไผ่ที่ใช้ในการทำโคมไฟนั้นยังมีความชื้นและไม่แห้ง ทำให้เกิดปัญหาต่อการใช้สว่านในการเจาะรูกระบอกไม้ไผ่เป็นอย่างมาก จึงแก้ปัญหาโดยการเปลี่ยนหัวสว่านแต่ก็ยังมีอุปสรรคอยู่เล็กน้อย ซึ่งประสบการณ์ในการจัดอบรมครั้งนี้กลุ่มของข้าพเจ้าได้เรียนรู้ว่า ครั้งหน้าต้องตากกระบอกไม้ไผ่ให้แห้งก่อน เพื่อจะได้เจาะรูได้ง่ายขึ้น แต่ก็ยังถือว่าประสบความสำเร็จและลุล่วงไปได้ด้วยดี ส่วนการจัดอบรมในครั้งที่ 3 ไม่มีอุปสรรคใดๆ
ทั้งนี้ในการทำงานร่วมกันกับคนหมู่มากนั้นย่อมมีปัญหาและอุปสรรคเป็นเรื่องธรรมดา อยู่ที่ว่าเราจะสามารถแก้ไขปัญหานั้นให้ดีขึ้นได้อย่างไร ตลอดระยะเวลาของการทำงานนี้ข้าพเจ้าได้รับประสบการณ์มากมายที่เกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติงาน หลังจากนี้ข้าพเจ้าและกลุ่มของข้าพเจ้าจะใช้ประสบการณ์ที่มีเพื่อพัฒนาให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการให้เกิดประโยชน์ต่อชาวบ้าน ชุมชน สังคมและประเทศชาติสืบต่อไป
แบบทดสอบประจำเดือน