สวัสดีคะ! ท่านผู้อ่านทุกท่าน จากหลายเดือนที่ผ่านมาผู้เขียนได้นำเสนอบทความต่าง ๆ เกี่ยวกับภาพรวมและเนื้อหาจากการปฏิบัติงานของทีมงานผ่านทางเว็บไซต์ http://u2t.bru.ac.th/ โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ตามนโยบายโครงการจ้างงานของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ในเดือนนี้ผู้เขียนอยากขอนำเสนอ “ความในใจจากผู้ปฏิบัติงาน” เป็นความในใจของตัวผู้เขียนเอง อันดับแรก : ขอแนะนำตนเองก่อนนะคะ ชื่อ นางสาวรตนพร ฉิ่งเล็ก อายุ 45 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาการจัดการทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ อาศัยอยู่หมู่ที่ 6 บ้านโพธิ์ ตำบลกระสัง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ทำงานโครงการในประเภท ประชาชน ซึ่งโครงการมีการจ้างงานประเภทบัณฑิตจบใหม่ บัณฑิต และประชาชน เป็นการให้โอกาสคนในพื้นที่ได้นำความรู้ ความสามารถมาทำงานเพื่อช่วยเหลือพัฒนาชุมชนตนเอง
ตลอดการทำงานที่ผ่านมาได้เรียนรู้ รับรู้ รู้จัก และสัมผัสได้ถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนมากขึ้น ได้ทำความรู้จักผู้นำชุมชนหลายหมู่บ้านจากเมื่อก่อนเราไม่เคยรู้จักเลย รู้จักแต่ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 เพราะท่านมาช่วยทำไฟฟ้าให้ที่บ้าน คนในชุมชนยิ่งไม่รู้จักใครเลย รู้แต่ว่า “บ้านหลังนี้เป็นญาติเรานะ” “ต้องไปซื้อผักร้านพี่แดง แดงไหน???” ไม่เคยรู้ว่า!!! หมู่ 7 บ้านดอนหวายมีคนปลูกผักขาย ปลูกข้าวโพด พอได้มาทำงานทำให้ตัวเราเองได้รู้จักผู้นำชุมชน รู้จักคนในชุมชนมากขึ้น หลายภารกิจที่โครงการให้ปฏิบัติล้วนเป็นการนำตัวเราซึมซับเข้าสู่คนในชุมชน เช่น การเก็บข้อมูล 01 แบบสอบถามข้อมูลระดับบุคคล ครัวเรือน และชุมชน ยิ่งภารกิจหลักของกลุ่ม คือ การทำเกษตรปลอดภัย ตอนแรกที่รับเรื่องมาคิดก่อนเลย “บ้านเรา” หมายถึง บ้านของผู้เขียนเอง เพราะที่บ้านแม่ปลูกต้นมะม่วงงามเมืองย่าหลายร้อยต้น มะขามเปรี้ยวยักษ์ยี่สิบกว่าต้น น่าจะง่ายอยู่+++ ได้ GAP แล้วด้วย แต่พอได้ลงมือทำงานจริง ๆ งานเกษตรเป็นงานที่ยากมาก หนักมากเพราะคนที่ทำเกษตรต้องมีใจรักงานเกษตรจริง อดทน กว่าจะได้ต้นไม้ พืชสวนครัวมาจำหน่าย ต้องเจอกับปัญหาเรื่อง ดิน น้ำ ลมฟ้าอากาศ และศัตรูพืช อีกปัญหาที่สำคัญ คือ การขาย เนื่องจากอายุผักที่สั้น ขายไม่หมดก็เหี่ยว ต้องรู้จักวิธีการแปรรูป การเก็บรักษา ฉะนั้นในความรู้สึกของผู้เขียนขอยอมรับว่า…เกษตรกรเหล่านั้นมีจิตใจที่เข้มแข็งมาก ยืนหยัด ยึดมั่นในอาชีพเกษตรกรรม ทำให้ชุมชนมีพืชผักผลไม้ดี ๆ ไว้ทาน
ความตั้งใจของผู้เขียน คือ อยากช่วยเหลือเกษตรกรในชุมชน อาจไม่ได้มากมายแต่ขอให้ได้ช่วยบ้าง เช่น การจัดอบรมให้ความรู้ การจัดตั้งกลุ่มเพจ “เกษตรปลอดภัยบ้านโพธิ์ดอนหวาย” ซึ่งผู้เขียนยอมรับว่า ความตั้งใจช่วยเหลือมีมาก แต่ความมุ่งมั่น การเสียสละ ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จอาจยังไม่เพียงพอ นี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนเองต้องปรับปรุงตนเอง พัฒนาตนเอง ไม่ใช่เพราะหน้าที่ถึงทำแต่ต้องทำมาจากใจเพราะนี้คือ “ชุมชนของเรา”