ผมนายชโลธร แสนคนึง เป็นทีมงาน u2t ของตำบลกระสัง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับหน้าที่รับผิดชอบเว็บไซต์ของตำบล ตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบล

 

บทความในเดือนนี้จะพูดถึง ความเชื่อของคนในชุมชนตำบลกระสัง เกี่ยวกับ ศาลตาปู่ หลวงอุดม ซึ่งชาวบ้านจะเคารพกราบไหว้ขอพรเพื่อความสบายใจ   และเพื่อให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง อีกทั้งยังขอพรในสิ่งที่ตัวเองต้องการ เสริมสร้างกำลังใจให้ตัวเองและครอบครัวอีกด้วย โดยเชื่อว่า มีจิตวิญญาณ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ลงมาให้คุณและโทษต่อคนได้ ใครปฏิบัติดีก็ได้ดี ปฏิบัติไม่ดีก็ได้โทษ

ศาลตาปู่ หลวงอุดม

ความเป็นมา

ศาลเจ้าปู่ตาเปรียบเสมือนศาลหลักบ้านประจำหมู่บ้านบ้านกระ เป็นที่เคารพสักการะนับถือของชาวบ้าน ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านตำบลกระสังยังไม่ละทิ้งประเพณีความเชื่อนี้ และยังสืบทอดกันมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน ที่มาคำว่าปู่ตาหลวงอุดม หมายถึง บรรพชนของชาวอีสานในสมัยโบราณ คำว่า ปู่ หมายถึง ปู่และย่า ที่เป็นพ่อแม่ของพ่อ ส่วนคำว่า ตา หมายถึง ตาและยายที่เป็นพ่อแม่ของแม่ เมื่อบรรพบุรุษสองสายนี้ล่วงลับไปหลายชั่วอายุคน จนไม่สามารถที่จะจำชื่อได้ ลูกหลานรุ่นหลัง ๆ จึงเรียนเป็นกลาง ๆ ว่า ปู่ตา การเลี้ยงปู่ตา เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลส่งไปให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปเพราะเมื่อปู่ตามีชีวิตอยู่นั้น ได้สร้างคุณงานความดีไว้กับลูกหลาน และสังคมมากมายหลายประการ เช่น ให้การเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนให้เป็นคนดี สะสมสาธารณสมบัติไว้เพื่อลูกหลาน เพื่อแสดงถึงกตัญญูกตเวที จึงมีการเลี้ยงปู่ตาสืบต่อไปเป็นประเพณี ประเพณีการเลี้ยงปู่ตาจะกระทำพร้อมกันทั้งหมู่บ้าน กำหนดเวลาเลี้ยงปู่ตามักจะทำระหว่างเดือน 3 และเดือน 6  ภายในหอปู่ตานั้น จะประกอบด้วยรูปปั้นปู่ตา แท่นบูชา ข้าทาสชายหญิง รูปปั้นช้าง ม้า วัว ควาย หอก พวงมาลัย ดอกไม้ ธูปเทียน พิธีสะเดาะเคราะห์นั้นทำได้โดยมีเครื่องสงเคราะห์ ซึ่งก็คืออาหารหวานคาวบรรจุลงในกระทงกาบกล้วยรูปสามเหลี่ยม วิธีทำกระทงกาบกล้วยให้มีรูปร่างตามที่ต้องการ ทำได้โดยใช้ไม้ไผ่เป็นโครง ภายในกระทงจะคั่นให้เป็นช่อง ๙ ช่อง แต่ละช่องจะบรรจุ หมาก ๑ คำ บุหรี่ ๑ มวน เมี่ยง ๑ คำ ขนมต้ม ๑ ชิ้น ข้าวดำ ข้าวแดงอย่างละก้อน กระทงรูปสามเหลี่ยมจะเป็นเครื่องส่งเคราะห์ร้ายของครอบครัวไปให้พ้น เครื่องเซ่นปู่ตา ได้แก่ น้ำหอม ดอกไม้ ธูปเทียน เหล้าโรง ไก่ต้ม ไข่ต้ม เมื่อถึงวันเลี้ยงปู่ตา ในตอนเช้าชาวบ้านจะร่วมกันให้เป็นระเบียบ เช่น ช่วยกันถางหญ้า จัดแท่นบูชา เปลี่ยนเครื่องนุ่งห่ม หรืออาจจะซ่อมแซมหอปู่ตาให้ดีกว่าเดิม โดยการเปลี่ยนเสามุงสังกะสีใหม่ เป็นต้น เมื่อจะเริ่มพิธีเลี้ยงปู่ตา เฒ่าจ้ำก็จะนำเครื่องเซ่นและกระทงสงเคราะห์วางบนแท่นบูชา เสร็จแล้วเฒ่าจ้ำจะแบ่งอาหารที่ชาวบ้านนำไปเซ่นออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งให้ลูกหลานเอากลับไปบ้าน อีกส่วนหนึ่งมอบให้ปู่ตา หลังจากเซ่นปู่ตาเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็จะนำน้ำหอมที่บูชาปู่ตามาสาดกัน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ปู่ตาประทานความร่มเย็นมาให้แล้ว

ความสำคัญและคุณค่าทางสังคมและทางจิตใจที่มีในวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน 

มีความสำคัญเพราะชาวบ้านเชื่อว่า ตาปู่เป็นผู้คุ้มครองลูกหลานชาวบ้าน ชาวบ้านจะเคารพตาปู่อย่างจริงใจ เด็ก ๆ จะไม่ไปวิ่งเล่นใกล้ศาลตาปู่ เพราะเกรงว่าตาปู่จะรำคาญ แล้วบันดาลให้เจ็บไข้ได้ เมื่อเดินทางออกจากหมู่บ้านถ้าผ่านศาลตาปู่ทุกคนจะยกมือไหว้ แล้วอธิษฐานบอกกล่าวดัง ๆ ว่า ” ตาปู่เอย ปกปัก รักษา คุ่มครองลูกหลาน การเลี้ยงปู่ตา เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลส่งไปให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปเพราะเมื่อปู่ตามีชีวิตอยู่นั้น ได้สร้างคุณงานความดีไว้กับลูกหลาน และสังคมมากมายหลายประการ เช่น ให้การเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนให้เป็นคนดี สะสมสาธารณสมบัติไว้เพื่อลูกหลาน เพื่อแสดงถึงกตัญญูกตเวที จึงมีการเลี้ยงปู่ตาสืบต่อไปเป็นประเพณี

 

อื่นๆ

เมนู