ID10 การจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างกลไกและการดำเนินการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ (กลุ่มเกษตรปลอดภัย)
ข้าพเจ้านางสาวศุภากร ทรงชัยยศ ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ตำบลกระสัง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์
สำหรับบทความประจำเดือนสิงหาคม 2564 ขอนำเสนอเกี่ยวกับความรู้ที่ได้จากการจัดอบรมครั้งที่ 3 ซึ่งกลุ่มเกษตรปลอดภัยได้จัดการอบรมภายใต้กิจกรรม “การจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างกลไกและการดำเนินการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ (กลุ่มเกษตรปลอดภัย)” ชื่อโครงการ ID๑๐ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามอัตลักษณ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน” ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (๑ ตำบล ๑ มหาวิทยาลัย)
กิจกรรมการอบรมครั้งที่ 3 จัดอบรมและให้ความรู้ในหัวข้อเรื่อง “การจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร” ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ณ ศาลาประชาคม หมู่ 7 บ้านดอนหวาย ตำบลกระสัง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร 3 ท่านจากสำนักงานเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์และอาจารย์ที่ปรึกษาประจำโครงการ 2 ท่าน
- นางสาวพัฒน์นรี ประโลมรัมย์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ
- นางสาวชนากานต์ ลำเหลือ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ
- นางธิดารัตน์ สำเร็จรัมย์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ
- นางสาวสุดารัตน์ ปีนะภา อาจารย์หัวหน้าโครงการ
- นางสาววงจันทร์ พูลเพิ่ม อาจารย์ที่ปรึกษาประจำกลุ่ม
แนวทางการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (บรรยายโดย นางสาวชนากานต์ ลำเหลือ)
“พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548” กำหนดให้วิสาหกิจชุมชน/เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ต้องมีการจดทะเบียนเพื่อได้รับการรับรองตามกฎหมาย จึงจะมีสิทธิในการขอรับ/ได้รับการส่งเสริมหรือสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน (วสช.)
วัตถุประสงค์ในการจดทะเบียน
- เพื่อให้เกิดการรวมตัวของคนในชุมชนในการประกอบกิจการของชุมชน ในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนได้อย่างมีความมั่นคง (ได้รับการรับรองตามกฎหมาย) นำไปสู่การพัฒนาให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้และมีระบบเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็ง
- เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานภาคีได้ทราบข้อมูลวิสาหกิจชุมชน/เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน เพื่อใช้เป็นเป้าหมายในการดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาที่ชัดเจน
วิสาหกิจชุมชน หมายถึง กิจการของชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการหรือการอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวกันประกอบกิจการดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลในรูปแบบใดหรือไม่เป็นนิติบุคคล เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชนและระหว่างชุมชน ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนกำหนด
เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน หมายถึง คณะบุคคลที่รวมตัวกัน โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดทำกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนในเครือข่ายฯ
ประโยชน์ในการจดทะเบียน
- ได้รับการรับรองตามกฎหมาย
- ได้รับการประเมินศักยภาพวิสาหกิจชุมชน
- สามารถขอรับการส่งเสริมหรือสนับสนุนตามวิธีการที่คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนได้ประกาศกำหนด
- สามารถมีสิทธิได้รับการส่งเสริมหรือสนับสนุนในการพัฒนากิจการตามมาตรการที่คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนจัดให้มี
- เพื่อนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจชุมชนที่มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ มีความพร้อมที่จะพัฒนาเพื่อการแข่งขันทางการค้าในอนาคตต่อไป
การจดทะเบียนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน มีลักษณะดังนี้
- ประกอบด้วยวิสาหกิจชุมชนตั้งแต่ 2 วิสาหกิจชุมชนขึ้นไปมารวมตัวกัน (โดยใช้ผู้มีอำนาจทำการแทนจากวิสาหกิจชุมชน)
- อาจมีบุคคลภายนอกมาร่วมดำเนินการ
- กิจกรรมที่ดำเนินการมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของวิสาหกิจชุมชนในเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน
- ต้องมีข้อบังคับในการบริหารจัดการของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน
การดำเนินงานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร (บรรยายโดย นางธิดารัตน์ สำเร็จรัมย์)
เกร็ดความรู้ : ปัจจุบันจังหวัดบุรีรัมย์มีการจดทะเบียนเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร จำนวน 392 กลุ่ม สมาชิก 10,691 คน (ที่มา : สำนักงานเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์)
กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร (Farm women group) หมายถึง การรวมกลุ่มของสตรีในภาคเกษตรตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป รวมตัวกันไปขอยื่นจดทะเบียนที่สำนักงานเกษตรอำเภอภายใต้ชื่อ “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร” เพื่อเป็นแหล่งรับการสนับสนุนและถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรและเคหกิจเกษตร ทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อพัฒนาอาชีพและยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน
เกร็ดความรู้ : เคหกิจเกษตร หมายถึง วิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ เช่น การแปรรูปอาหาร การถนอมอาหาร โภชนศึกษา การปรับปรุงสภาพแวดล้อม ให้เหมาะกับความเป็นอยู่ (ที่มา : www.ssnet.doae.go.th)
(ที่มา : สำนักงานเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์)
ประโยชน์ของกลุ่มแม่บ้านเกษตร
- ช่วยให้แม่บ้านเกษตรกรได้พัฒนาเต็มศักยภาพสามารถสร้างสุขให้ครอบครัว ชุมชนและสังคม
- มีรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น ลดค่าใช้จ่าย มีการออมเพิ่มขึ้นและสามารถจัดตั้งกองทุนในกลุ่มของตนเองได้
- เป็นแหล่งรับการสนับสนุนและถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรและเคหกิจเกษตร
- ได้รับความเชื่อถือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในฐานะองค์กรตัวแทนแม่บ้านเกษตรกร
เอกสารประกอบการขอจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร
- หนังสือขอจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร
- รายงานการประชุมกลุ่ม
- ทะเบียนสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร 10 คนขึ้นไป
- ใบสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร
- ยื่นเอกสารได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอที่กลุ่มตั้งอยู่
กลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร (บรรยายโดย นางสาวพัฒน์นรี ประโลมรัมย์)
“กลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร” คือ องค์กรเกษตรกรที่รวมตัวกันอย่างเป็นทางการ อาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเกิดจากการส่งเสริมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการ มีโครงสร้างการดำเนินงานและระเบียบข้อบังคับชัดเจนแต่ไม่มีกฎหมายรองรับ
สมาชิกกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร อาจเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเดียวกันหรือดำเนินกิจกรรมที่เกื้อหนุนกันมารวมตัวกันโดยธรรมชาติ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายการดำเนินงานในทิศทางเดียวกัน
การยื่นขอจดทะเบียนเป็นกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตรที่สำนักงานเกษตรอำเภอ
- ระเบียบข้อบังคับกลุ่ม
- รายชื่อคณะกรรมการกลุ่ม
- บัญชีรายชื่อสมาชิกกลุ่มและแผนงาน/กิจกรรมกลุ่ม
(ที่มา : สำนักงานเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์)
แนวทางการจัดตั้งกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร
- วัตถุประสงค์ของการสนับสนุนให้มีกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร
1. เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการประกอบกิจกรรมด้านการเกษตร
2.เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรร่วมกันแก้ไขปัญหาการผลิต การแปรรูป การตลาด
3.เพื่อเป็นศูนย์กลางรับความรู้ในการถ่ายทอดวิชาการไปสู่เกษตรกร
4.เพื่อใช้กระบวนการกลุ่มในการพัฒนาเกษตรกรให้มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพและสามารถพึ่งพาตนเองได้
2. ชื่อของกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร
ชื่อของกลุ่มให้ใช้ชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า “กลุ่ม” แล้วตามด้วยชื่อกิจกรรมหรือวัตถุประสงค์ของกลุ่ม เช่น กลุ่มฟื้นฟูอาชีพเกษตร กลุ่มปลูกพืชหมุนเวียน กลุ่มปรับปรุงคุณภาพยางแผ่น เป็นต้น
- การสนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่ม
3.1 การจัดโครงสร้างกลุ่ม สนับสนุนให้กลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตรมีการจัดโครงสร้างองค์กร โดยพิจารณาจากความเหมาะสมของขนาดและกิจกรรมของกลุ่ม เป็นโครงสร้างง่าย ๆ ที่กลุ่มสามารถปฏิบัติได้จริงประกอบด้วย 2 ส่วน เป็นอย่างน้อย คือ คณะกรรมการและสมาชิก
3.2 สมาชิกของกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร
- คุณสมบัติของสมาชิกกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร
- การเข้าเป็นสมาชิกและออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร
- บทบาทหน้าที่ของสมาชิก
3.3 คณะกรรมการของกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร
- คณะกรรมการกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร
- การคัดเลือกคณะกรรมการ
- บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการ
- บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการแต่ละตำแหน่ง
1) บทบาทหน้าที่ของประธาน
2) บทบาทหน้าที่ของเลขานุการ
3) บทบาทหน้าที่ของเหรัญญิก
3.4 การดำเนินงานของกลุ่ม
- มีแผนงานกิจกรรม การแก้ปัญหาด้านการเกษตรของกลุ่ม
- มีการสะสมทุนของกลุ่ม
- มีการพัฒนาความสามารถของสมาชิก
- การประชุมของกลุ่ม
3.5 ข้อบังคับกลุ่ม
- ชื่อกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร
- ที่ตั้งกลุ่ม
- วัตถุประสงค์ของกลุ่ม
- วิธีรับสมาชิกและให้สมาชิกออกจากกลุ่ม
- คณะกรรมการ วิธีการคัดเลือก จำนวนคณะกรรมการ วาระการอยู่ในตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง
การจัดตั้งและการขอใบรับรองการจัดตั้งกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร
กลุ่มจะต้องมีสมาชิกตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ยื่นคำขอใบรับรองต่อเกษตรอำเภอผ่านนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรที่รับผิดชอบตำบลที่กลุ่มตั้งอยู่ พร้อมเอกสารดังต่อไปนี้
- หนังสือคำขอใบรับรองการจัดตั้งกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตรตามแบบฟอร์มที่กรมส่งเสริมการเกษตรกำหนด
- ข้อบังคับกลุ่มหรือข้อตกลงร่วม หรือข้อกำหนด
- รายชื่อคณะกรรมการกลุ่ม
- บัญชีรายชื่อสมาชิกกลุ่ม
- แผนงาน/กิจกรรมของกลุ่ม เช่น แผนการประชุมกลุ่มและคณะกรรมการ หรือแผนการดำเนินงานของกลุ่ม
เจ้าหน้าที่จะพิจารณาตรวจสอบเอกสารเสนอเกษตรอำเภอ เพื่อขอออกใบรับรองการจัดตั้งกลุ่ม โดยให้เกษตรจังหวัดและเกษตรอำเภอเป็นผู้ลงนามในใบรับรองการจัดตั้งกลุ่ม
สุดท้ายนี้ในการจัดโครงการ ID๑๐ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามอัตลักษณ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (กลุ่มเกษตรปลอดภัย) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชนและคนในชุมชนเป็นอย่างมาก ข้าพเจ้าตัวแทนกลุ่มเกษตรปลอดภัยขอขอบคุณวิทยากร ผู้เข้าร่วมโครงการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดโครงการในครั้งนี้เป็นอย่างสูงค่ะ 🙂
ลิงก์สำหรับการทำแบบทดสอบ https://forms.gle/yfabS1RUJnYcryUM9