ความเชื่อเรื่องประเพณีและวัฒนธรรมพื้นบ้านของบ้านไทรโยง

         ข้าพเจ้านางสาวนภัสนันท์  ลาศรี ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานพร้อมกับทีมงานที่ตำบลกระสัง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบล เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ

การลงพื้นที่

       จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนด้านสภาพแวดล้อม ด้านภูมิทัศน์ต่างๆในชุมชน จึงมีการปรึกษาหารือกับชุมชนร่วมกับผู้นำชุมชนและชาวบ้านในชุมชน ทำให้ข้าพเจ้าและทีมงานทำให้ได้ทราบข้อมูลในด้านต่างๆของพื้นที่ชุมชน รวมถึงความต้องการและแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ของชุมชนให้มีความน่าสนใจ ที่จะสามารถช่วยยกระดับชุมชนผ่านการท่องเที่ยว โดยที่ให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ

         ซึ่งในเดือนกันยายนนี้นั้นกลุ่มของข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลของบ้านไทรโยงจากผู้เฒ่าผู้แก่ของชุมชนในเรื่องของประเพณีและวัฒนธรรมด้านความเชื่อที่สืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่ก็ได้บอกเล่าถึงประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆที่สำคัญ ได้แก่ การประกอบพิธีกรรมรำ “แม่มะม๊วด” และประเพณี “แซนโฎนตา”

          ข้าพเจ้าและทีมงานมีความสนใจเกี่ยวกับความเชื่อของคนในชุมชนแห่งนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งความเชื่อเกี่ยวกับการ   “รำมะม๊วด” เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่พบว่ามีการทำสืบต่อกันมาในชุมชน ถือเป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นเพื่อการรักษาอาการเจ็บป่วยหรือปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไปจากตนเองและครอบครัว โดยในพิธีกรรมจะประกอบด้วยผู้ประกอบพิธีกรรมเรียกว่า  “แม่มะม๊วด” หรือ “ครูมะม๊วด” เป็นร่างทรง เชื่อกันว่าเป็นสื่อกลางของเทวดา มีหูทิพย์ตาทิพย์ มีหน้าที่ทำนายสาเหตุและรักษาอาการเจ็บป่วย โดยผู้เป็นร่างทรงจะต้องทำพิธีไหว้ครูมะม๊วดในทุกๆปี และอีกฝั่งหนึ่งคือผู้มีอาการเจ็บป่วยที่ต้องการหาสาเหตุจากร่างทรงเพื่อหาหนทางรักษา

              มีการจัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้บูชาวางไว้บนโต๊ะ เป็นแถวยาวด้านหัวโรง ซึ่งจะกำหนดทิศด้านใดด้านหนึ่งเป็นหัวโรง ขึ้นอยู่กับแม่หมอโดยร่างทรงแต่ละคนจะมีเครื่องเซ่นไหว้ที่จัดเรียงไว้ในถาดของใครของมัน เครื่องเซ่นไหว้หลักๆ จะประกอบด้วย ผลไม้ ขนม ข้าวตอก ก่อนเริ่มพิธีนักดนตรีจะโหมโรงด้วยเพลงดนตรีเป็นจังหวะทำนองดนตรีพื้นบ้าน เครื่องดนตรีจะมี 4 ชิ้น ประกอบด้วย แคน กลองโทน ฉิ่ง ฉาบ โดยมีการร้องรำเป็นจังหวะสลับกับการรำของแม่มดแต่ละคน บางห่วงจังหวะการละเล่น มีแม่หมอ หรือแม่มด ประกอบพิธีเข้าทรง โดยแต่ละคนจะมีขันคนละ 1 ใบ ข้างในจะใส่ข้าวสารไว้เกือบเต็มขันแล้วจุดธูปปักตรงขอบขัน พอดนตรีเริ่มบรรเลงเพลงแม่มดก็บูชาครูไหว้ครู เสร็จก็นั่งทางในสักครู่ก่อนจะอัญเชิญร่างทรง โดยการหมุนเวียนขันที่มีเทียนจุดอยู่วนๆ รอบจากช้าๆ ไปจนถึงเร็ว จะกี่รอบนั้นขึ้นอยู่ว่าร่างทรงจะมาประทับตอนนั้น จะสังเกตได้ตอนที่แม่มดกระแทกขันกับพื้นจนเทียนดับและข้าวสารกระเด็นกระดอนออกจากขัน

                 การเล่นมะม๊วด เพื่อขจัดปัดเป่าโรคร้ายก็เป็นอีกความเชื่อหนึ่งของชุมชน พิธีกรรม “ปะโจลมะม๊วด” มีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด ทราบแต่เพียงว่าพิธีกรรมนี้มีมานานแล้ว และได้รับการถ่ายทอดต่อเนื่องกันมาจากรุ่นสู่รุ่นและปฏิบัติมาโดยตลอดจนกระทั่งทุกวันนี้ ความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรม “ปะโจลมะม๊วด” ภูมิปัญญารักษาโรคด้วยเพลงดนตรี ที่สืบสานกันมานาน ตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งมีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของชาวไทยเชื้อสายเขมร เป็นพิธีกรรมที่ช่วยคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างคนกับธรรมชาติ

                 

                     

                       

                                                           

                

           และอีกหนึ่งความเชื่อของหมู่บ้านไทรโยงแห่งนี้คือการแซนโฎนตา คำว่า “แซน” หมายถึง การเซ่นไหว้ การบวงสรวง คำว่า “โฎน” หมายถึง ย่าหรือยาย คำว่า “ตา” หมายถึง ปู่หรือตา ดังนั้นประเพณีนี้จึงหมายถึง การเซ่นไหว้ปู่ ย่า ตา ยาย หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ถือเป็นวันสารทเดือนสิบของชาวเขมร การประกอบพิธีแซนโฎนตา แต่ละบ้านจะเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ ทั้งอาหารคาว-หวาน ผลไม้ อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อเซ่นไหว้ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน เซ่นไหว้ศาลพระภูมิประจำบ้าน ประกอบพิธี กรรมแซนโฎนตาที่บ้าน และประกอบพิธีกรรมที่วัด โดยการทำเช่นนี้เพื่อให้บรรพบุรุษรับผลบุญกุศลที่อุทิศไป ทำให้บ่วงกรรมที่มีบรรเทาลง ซึ่งชาวเขมรยึดถือประเพณีนี้สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ด้วยความเชื่อที่ว่าถ้าในยุคของตนได้แซนโฎนตาให้แก่ผี บรรพบุรุษ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ไปแล้ว รุ่นลูกจะต้องแซนโฎนตาให้ตนเหมือนกัน เพื่อให้ลูกหลานต้องปฏิบัติสืบทอดต่อ ๆ กันไปไม่สิ้นสุด ซึ่งความหมายของแซนโฎนตา ก็คือการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะบรรพบุรุษหรือญาติที่ใกล้ชิด และหมายรวมทั้งผู้ที่ล่วงลับไปแล้วโดยไม่เจาะจงว่าเป็นใครด้วย

         ประเพณีแซนโฎนตาเริ่มต้น ดังนี้

         1. วันเบ็ณฑ์ตู๊จหรือวันเบ็ณฑ์เล็ก คือวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 10 จะมีทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่บ้าน และนำภัตตาหารไปถวายพระสงฆ์ที่วัด

         2. วันกันซ็อง หรือกันเบ็ณฑ์ เป็นวันหลังจากวันเบ็ญฑ์ตู๊จ คือเป็นวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 ตอนเช้าและเพล ชาวบ้านจะไปถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่วัด

         3. วันแซนโฎนตา หรือวันเบ็ณฑ์ธม (วันสารทใหญ่) คือวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันที่ญาติพี่น้องทุกคนต้องร่วมกันทำบุญที่วัด เป็นหน้าที่ที่ขาดไม่ได้ มีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษอีกครั้งที่บ้าน

      คำว่า “เบ็ณฑ์” ตรงกับภาษาไทยว่าบิณฑ แปลว่า การรวมให้เป็นก้อน การปั้นให้เป็นก้อน การหาเลี้ยงชีวิตหรือหมายถึงก้อนข้าว

            สิ่งของที่ต้องเตรียมในพิธีแซนโฎนตา แต่ละบ้านจะทำพิธีแซนโฎนตาแล้วแต่เวลาตามสะดวก สิ่งของที่ต้อง เตรียมในพิธีแซนโฎนตา ได้แก่

          1.กรวยดอกไม้ 5 กรวย หรือที่เรียกว่าขันธ์ 5 ใส่พานพร้อมทั้งเงินทองของมีค่า

          2.เสื้อผ้าใหม่ ผ้าโสร่ง และผ้าซิ่นไหม ที่ยังไม่ได้ใช้ 1 สำรับ พร้อมแป้งหอม น้ำหอม น้ำอบ หวี กระจก

          3.สำรับกับข้าว 1 สำรับ เป็ดต้ม 1 ตัว ไก่ต้ม 1 ตัว หรืออานมีหัวหมู ตามแต่ฐานะ

          4.ขนมต่างๆ ได้แก่ ขนมข้าวต้มห่อด้วยใบมะพร้าวอ่อน ขนมข้าวต้มหมู ข้าวต้มมัด ขนมเทียน ขนมใส่ไส้                               ขนมนางเล็ด ขนมไข่หงส์ ขนมข้าวเกรียบ ขนมข้าวพอง

          5.ผลไม้ต่างๆ แต่ที่ขาดไม่ได้คือมะพร้าวอ่อนและกล้วยน้ำว้าสุก

          6.น้ำดื่ม เหล้า ตามแต่เห็นสมควร

          7.เทียน 2 เล่ม จุดไว้อย่าให้ดับ

           8.กระถางธูปและธูป ไว้สำหรับจุดเวลาเซ่น และจะใช้ปักไว้ตามจานอาหารด้วย                                                               

             เหตุที่จัดงานบุญกันในเดือน 10 นี้ ก็ด้วยว่าเดือนนี้ตอนกลางคืนพระจันทร์จะอับแสงและมืดกว่าเดือนอื่นๆ เชื่อกันว่าเป็นช่วงเวลาที่ยมบาลจะปลดปล่อยวิญญาณ ให้ขึ้นมาปะปนกับมนุษย์บนโลก เพื่อเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องและรอรับส่วนบุญ ทั้งจากญาติพี่น้องและบุคคลอื่น โดยผ่านพิธีกรรมการทำบุญอุทิศไปให้..

            คนเฒ่าผู็แก่ได้เล่าให้ฟังอีกว่าในสมัยก่อนช่วงเทศกาลแซนโฎนตา พอตกกลางคืนคนมักจะได้ยินเสียงคนคุยกันที่ใต้ถุนเรือน เมื่อมองลอดช่องพื้นกระดานลงไปจะเห็นคนผมหงอกผมดำนั่งผิงไฟคุยกัน แต่ฟังไม่รู้เรื่องว่าพูดภาษาอะไร คนเฒ่าคนแก่บอกว่านั่นคือ “ขม๊อจโฎนตา” หรือผีปู่ย่าตายาย ที่เทวดาท่านปล่อยให้มาเยี่ยมลูกหลานและรับส่วนบุญกุศลที่ลูกหลานอุทิศให้ในช่วงเทศกาลแซนโฎนตาจะมีประเพณีที่เรียกว่า “จูนโฎนตา” คือ บรรดาลูกหลานญาติพี่น้องจะกลับมาบ้านมาไหว้พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และจะนำเอามะพร้าว ข้าวสารเหนียว ขนมต่างๆ มามอบให้ หรืออาจมอบเงินด้วย เพื่อให้ท่านได้ใช้ทำบุญในประเพณีแซนโฎนตา หากพ่อแม่ ปู่ย่าตายายเสียชีวิตไปแล้ว ก็จะไปกราบไหว้ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพและมอบข้าวของเงินทองให้ หรือถ้าทำไม่ได้ก็จะนำสิ่งของเหล่านี้ไปถวายพระที่วัดแทน เหมือนกับเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ใหญ่หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับ

                                                   

                                             

                                                     

            จากการลงพื้นที่ของข้าพเจ้าและทีมงานในครั้งนี้ทำให้ข้าพเจ้าได้เห็นถึงความเชื่อความศรัทธาของผู้คนในชุมชนแห่งนี้ที่สืบต่อกันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ส่งต่อสู่ลูกหลานให้ได้เข้าใจถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่และความเชื่อในพิธีกรรมต่างๆของผู้คนในชุมชนแห่งนี้ตั้งแต่อดีตสู่ปัจจุบัน ซึ่งในความเชื่อนี้กลุ่มของข้าพเจ้าจะร่วมแรงร่วมใจกันกับคนในชุมชนเพื่อพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวที่น่าสนใจให้ผู้คนต่างหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวชมเมืองโบราณทั้งความเชื่อด้านประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชนเพื่อเกิดความรู้ด้านความเชื่อความศรัทธาของคนในชุมชนสืบไป

แบบทดสอบประจำเดือน

https://forms.gle/a1gmjCyfSRJp5RLF7

อื่นๆ

เมนู