ข้าพเจ้านางสาวปวีณา พันธ์คูณ ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานพร้อมกับทีมงานที่ตำบลกระสัง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบล เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ

การลงพื้นที่

          ดิฉันและทีมงานได้ลงพื้นที่จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการร่วมกับคนในชุมชนมาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งเป็นการจัดการอบรมเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว นอกจากนี้ดิฉันและทีมงานก็ได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนในด้านต่างๆ ซึ่งในการเขียนบทความประจำเดือนกันยายนนี้ ดิฉันจะนำเสนอเกี่ยวกับความเป็นมาของชุมชนและสิ่งของโบราณที่ขุดพบในบริเวณพื้นที่ของชุมชนบ้านไทรโยงเหนือ ตำบลกระสัง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เก็บข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์ คุณตาน้อย เปลี่ยนรัมย์ เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านไทรโยงเหนือ ประกอบกับเอกสารของกรมธนารักษ์ ที่เข้ามาสำรวจหมู่บ้าน ได้ข้อมูลดังนี้

          คุณตาน้อย เปลี่ยนรัมย์ อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านไทรโยงเหนือมาแล้วประมาณ 75 ปี คุณตาน้อยเล่าว่าแต่เดิมพื้นที่นี้เป็นหนึ่งหมู่บ้านชื่อว่าบ้านไทรโยง รอบๆหมู่บ้านมีคูน้ำ 2-3 ชั้นล้อมรอบหมู่บ้าน หลังจากมีการสร้างทางหลวงหมาย เลย 226 ตัดผ่านกลางหมู่บ้าน ทำให้หมู่บ้านแยกออกเป็น 2 ส่วน จึงได้มีการแยกเป็น 2 หมู่บ้าน โดยทางด้านทิศใต้เป็นหมู่ 3 บ้านไทรโยง และทางด้านทิศเหนือเป็นหมู่ 19 บ้านไทรโยงเหนือ (ประมาณ 20 มาแล้ว) บริเวณที่เป็นที่ตั้งศาลากลางหมู่บ้านไทรโยง (หมู่ 3) ปัจจุบัน มีต้นไทรอยู่หลายต้นมีรากไทรห้อยระโยงรยางค์ แต่ถูกตัดทิ้งออกจนหมดเพื่อทำให้เป็นพื้นที่โล่งในการสร้างบ้านที่อยู่อาศัย ผู้คนส่วนใหญ่ทำการเกษตร ทำให้มีการถางพื้นที่เพื่อทำเกษตร และมีการขุดพบของโบราณ โดยเฉพาะของจำพวกภาชนะ เช่น ถ้วย ชาม ไห แจกัน ที่เป็นเครื่องปั้นดินเผา รวมทั้งเครื่องประดับที่มีลักษณะเป็นสำริด เช่น กำไล เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านที่ขุดพบของโบราณส่วนใหญ่จะพบจากการถางพื้นที่ การไถนา ไถสวน ลักษณะของโบราณที่พบส่วนใหญ่จะแตก หัก ไม่สมบูรณ์ จึงไม่มีการเก็บมา มีคนส่วนน้อยที่จะขุดพบของโบราณที่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ คุณตาน้อย เป็นหนึ่งในคนที่ขุดพบของโบราณที่อยู่ในสมบูรณ์ (เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว) โดยขุดพบบริเวณที่สวนของคุณตาน้อยเอง มีทั้งไห แจกัน อย่างละ 1 ใบ และมีเครื่องประดับสำริดที่มีลักษณะคล้ายกำไรหลายวง คุณตาน้อยบอกว่าหลังจากขุดพบของโบราณ ก็ได้นำกลับมาไว้ที่บ้าน เพราะเชื่อว่าเป็นของที่บรรพบุรุษทิ้งเอาไว้ให้ เป็นของที่มีคุณค่าควรเก็บรักษาไว้ ปัจจุบันไม่มีการขุดพบของโบราณอีกเลย

   

     

**เกร็ดความรู้**

อะไรคือสำริด

“สำริด” หมายถึงโลหะที่มีส่วนผสมของแร่ทองแดงเป็นหลัก และช่างตั้งใจที่จะผสมแร่ผสมแร่ดีบุกเข้าไปด้วย เผาในอุณหภูมิประมาณ ๑,๒๐๐ องศาเซลเซียส โดยทั่วไปคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับการทำเครื่องมือใช้และเครื่องประดับสำริด จะใช้ดีบุกผสมราว ๑๐-๑๕ เปอร์เซ็นต์ 

ที่มา: http://www.openbase.in.th/node/866

          จากข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์คุณตาน้อย สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากเอกสารของกรมธนารักษ์ ที่ได้เข้ามาสำรวจบริเวณพื้นที่ของหมู่บ้านว่า เมืองไทรโยง เป็นเมืองโบราณ ตั้งอยู่ที่ราบลอนลาดด้านตะวันตกของภูเขาไฟกระโดง ห่างออกมาประมาณ 9.5 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นที่เนินสลับที่ราบ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 160 เมตร มีกำแพงเมือง-คูเมืองขุดล้อมรอบขอบเนิน 3-4 ชั้น กว้างยาวประมาณ 560×700 เมตร คลุมพื้นที่เมืองโดยรวมประมาณ 185 ไร่ คูเมืองขุดลึกถึงระดับกักเก็บน้ำ มีคันดินกำแพงประกบทั้งด้านในและด้านนอก จากการศึกษาสภาพแวดล้อมการตั้งถิ่นฐาน พบว่าเมืองไทรโยงน่าจะเป็นเมืองบริวารด้านตะวันตกเมืองหนึ่งของเมืองบุรีรัมย์ เช่นเดียวกับเมืองบริวารที่มีกำเพงเมือง-คูเมืองล้อมรอบอีกหลายแห่ง ที่ตั้งอยู่รอบเมืองบุรีรัมย์ เช่น บ้านรุน และบ้านตะโคง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองบุรีรัมย์ บ้านพระครู ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองบุรีรัมย์ บ้านสนวน ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองบุรีรัมย์ และบ้านสลักได ทางทิศใต้ของเมืองบุรีรัมย์ เมืองโบราณเหล่านี้ล้วนมีรูปแบบกำแพงเมือง-คูเมืองรูปแบบเดียวกันกับเมืองบุรีรัมย์ และเมืองไทรโยง แสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีการขุดสร้างกำแพงเมือง-คูเมือง ที่มีฐานความรู้เดียวกัน และน่าจะมีช่วงเวลาที่ร่วมสมัยกัน

   

   

          ในปี 2527 กรมศิลปากรได้เข้ามาสำรวจ พบเศษภาชนะดินเผา ประเภทเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ สีนวล สีเทา สีน้ำตาล สีเหลืองปนแดง ผิวเรียบ ลายขูดขีด และลายเชือกทาบ ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งแบบไหขอม ซึ่งมีการกำหนดอายุไว้ในช่วงศตวรรษที่ 17-19 และเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีคันดินและคูน้ำล้อมรอบหลายชั้น

ที่มา: เอกสารการกำหนดขอบเขตที่ดินกำแพงเมือง-คูเมือง เมืองไทรโยง เลขที่ทะเบียน 26-48 (กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง)

**เกร็ดความรู้**

การสัมภาษณ์

เป็นเทคนิควิธีการรวบรวมข้อมูลวิธีหนึ่งซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลจากแหล่งปฐมภูมิโดยอาศัยการเผชิญหน้า (face-to-face) โดยอาจเป็นการสัมภาษณ์แบบเดี่ยวเป็นรายบุคคล หรืออาจสัมภาษณ์เป็นกลุ่มก็ได้ แต่ผู้ให้ข้อมูลจะให้ข้อมูลจากปากของตนเอง ในยุคปัจจุบัน การสัมภาษณ์อาจดำเนินการโดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศช่วย เช่น การสัมภาษณ์ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) แต่สิ่งที่สำคัญคือ จะต้องมีการเผชิญหน้ากันเสมอ และผู้ถูกสัมภาษณ์จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข้อมูลด้วยตนเองเสมอ

การเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ อาจทำการจดบันทึกคำตอบไว้บนกระดาษ หรืออาจใช้การบันทึกเสียงของผู้ให้สัมภาษณ์โดยตรงเลยก็ได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยมารยาทและจรรยาบรรณของนักวิจัย/นักพัฒนาหลักสูตร หากมีการบันทึกเสียงของผู้ให้สัมภาษณ์ นักวิจัย/นักพัฒนาหลักสูตรควรต้องขออนุญาตผู้ถูกสัมภาษณ์ก่อนเสมอ

ข้อเด่นของการสัมภาษณ์

    • สามารถใช้ได้กับกลุ่มผู้ให้ข้อมูลที่มีความรู้ดี และไม่มีความรู้
    • เปิดโอกาสให้มีการซักถามเพื่อปรับ
    • ความเข้าใจในประเด็นคำถามต่าง ๆ
    • มีอัตราการตอบสูงกว่า เมื่อเทียบกับการเขียนตอบ

ข้อด้อยของการสัมภาษณ์

    • จำนวนผู้ถูกสัมภาษณ์มีผลต่อคำตอบที่ได้
    • ข้อมูลที่ได้อาจด้อยกว่าข้อมูลที่ได้จากการสังเกต

ที่มา: https://northnfe.blogspot.com/2019/08/blog-post_27.html

แบบทดสอบประจำบทความ

https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSfVjfcmFHoL2HwQVyPIU-aCK7U4s0WWaXtJLtPukv-z-Dh56w/viewform

คลิปประจำบทความ

 

อื่นๆ

เมนู