ข้าพเจ้านางสาวพนิดา  พรชัย  ประเภทนักศึกษา                                                                            หลักสูตร ID 10 การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามอัตลักษณ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยมีส่วนร่วมของชุมชน ตำบลกระสัง อำเภอเมืองบุุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์

     ข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่สำรวจ หมู่ที่ 15 บ้านโนนรัง ตามที่ได้รับมอบหมายและพบว่าจากการที่สำรวจจะเห็นได้ว่าหมู่บ้านโนนรังเป็นหมู่บ้านที่มีการทอผ้าไทยต่างๆ อาทิ ผ้าสไบลายขิดโบราณ ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าทอมือ ผ้าพันคอ ผ้าคลุม ผ้าลายขิด ผ้าขาวม้า ผ้าโสร่ง เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องจักรสานไม้ไผ่ รวมไปถึงการทำเกษตรกรรมภายในหมู่บ้านโนนรังมีการจัดตั้ง “กลุ่มทอผ้าไหมบ้านโนนรัง” โดยลักษณะเด่นจะอยู่ที่ผ้าสไบขิดโบราณ และผ้าไหมมัดหมี่  

ประวัติชุมชนบ้านโนนรัง
               บ้านโนนรัง หมู่  15 ต.กระสัง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์  เดิมนั้นบริเวณหมู่บ้านมีแต่ต้นรังเต็มไปหมด ต่อมามีพ่อสุก  จันทร์เกิด พ่อโนย  วิเศษหอม  พ่อยอด  จันทร์แพง  และพ่อลู  ศรีละมัด ได้เดินทางมาจากถิ่นฐานบ้านเดิม คือเดินทางมาจากจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธรและร้อยเอ็ด จนมาถึงแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์  เหมาะแก่การประกอบอาชีพเพราะผู้เฒ่าผู้แก่สมัยนั้นผู้ชายจะเป็นผู้ทำไร่ทำนา ส่วนผู้หญิงก็เลี้ยงลูกทอผ้าไว้ใช้นุ่งห่ม และเมื่อปี 2487 ได้ก่อตั้งหมู่บ้านขึ้นโดยการปกครองกับบ้านหนองม้าและบ้านโพธิ์ไทร ในปัจจุบันลูกหลานได้ภูมิปัญญาจากคนเฒ่าคนแก่สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่นทอผ้ามัดหมี่ ตัดเย็บเสื้อผ้า มีรายได้สร้างเป็นอาชีพเสริมสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณ ปัจจุบันบ้านโนนรังมีทั้งหมด 66 ครัวเรือน มีประชากรทั้งหมด 311 คน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม (ทำนา) หลังฤดูเก็บเกี่ยวก็ทำอาชีพเสริมเช่นการทอผ้า ซึ่งผ้าทอมือของบ้านโนนรัง มีคุณภาพดี ทนทาน เป็นที่ต้องการของลูกค้าและปัจจุบันได้รับการส่งเสริมในด้านการทอผ้าลายขิด เพื่อเป็นลายเอกลักษณ์ของโนนรัง มีภูมิปัญญาวัฒนธรรมที่น่าสนใจคือ รำแห่แม่นางด้ง เพื่อใช้ในงานสำคัญต่างๆ ของชุมชน

จำนวนครัวเรือนที่มีการทอผ้าไหมในหมู่บ้านโนนรัง

  1. นางบุญมา ท่วมไธสง 
  2. นางสมัย จันทมะณี
  3. นางลำไย แขนรัมย์
  4. นางอุไร โสละมัย
  5. นางหลา ทาวัน
  6. นางสาวพรทิพา ศรีละมัด
  7. นางสมยงค์ สุขเกษม
  8. นางเนียม สมสวย
  9. นางแล จันทร์แพง
  10. นางบุญเรือง แก้วฉลาด       
  11. นางสาวอำนวย จัตุรัตน์
  12. นางบุญก้อง ศรีละบุตร
  13. นางสาวทิพย์ สวัยรัมย์

ผลิตภัณฑ์ในชุมชนบ้านโนนรัง
       ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าทอมือ ผ้าพันคอ ผ้าคลุม ผ้าลายขิด ผ้าขาวม้า ผ้าโสร่ง เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องจักรสานไม้ไผ่ ปลาร้าบอง ข้าว GAP

 

ขั้นตอนการทอผ้าไหม
1.การเลี้ยงตัวไหม

          วงจรชีวิตของไหมหรือหนอนไหมใช้เวลาประมาณ 45 – 52 วัน หนอนไหมจะกินใบหม่อนหลังจากฟักออกจากไข่ประมาณวันที่ 10 จากนั้นจะหยุดกินอาหารและลอกคราบ ระยะนี้เรียกว่า “ไหมนอน” ต่อจากนั้นจะกินนอนและลอกคราบประมาณ 4 ครั้งเรียกว่า “ไหมตื่น” ลำตัวจะมีสีขาวเหลืองใสหดสั้น และหยุดกินอาหาร ระยะนี้เรียกว่า “หนอนสุก” ช่วงนี้ผู้เลี้ยงไหมต้องรีบแยกหนอนไหมสุกออกจากกองใบหม่อนและเตรียม “จ่อ” คืออุปกรณ์ที่จะให้ตัวไหมเกาะเพื่อชักใยห่อหุ้มตัวหนอนจะเริ่มพ่นใยได้ประมาณ 6-7 วัน ก็จะสามารถเก็บรังไหมออกจากจ่อได้ เส้นใยของหนอนเกิดจากการขับของเหลวชนิดหนึ่ง มีสารโปร่งแสงเป็นองค์ประกอบใยไหมที่เห็นแต่ละเส้นจะประกอบด้วยเส้นใยเล็กๆสองเส้นรวมกัน สามารถฉีกแยกออกจากกันได้ทั้งนี้รังไหมแต่ละรังจะให้สายไหมที่มีขนาดแตกต่างกัน ชั้นนอกสุดของรังจะมีความละเอียดพอสมควร ชั้นกลางจะเป็นเส้นหยาบและชั้นในสุดจะเป็นเส้นไหมที่ละเอียดที่สุด ซึ่งหนอนไหมแต่ละตัวจะชักใยยาวไม่เท่ากัน อาจสาวได้ยาวตั้งแต่ 350 – 1,200 เมตร หนอนไหมจะเจาะรังออกมาเป็นผีเสื้อเมื่ออยู่ในรังครบ 10 วัน ซึ่งผู้เลี้ยงจะคัดไหมที่สมบูรณ์ไว้ทำพันธุ์ ส่วนที่เหลือนำไปสาวไหมก่อนที่ผีเสื้อจะเจาะรังออกมา ซึ่งเส้นจะขาดและทำเส้นไหมไม่ได้

2.การสาวไหม

          นำไหมที่อบแห้งไปต้มในน้ำที่สะอาด รังไหมจะเริ่มพองตัวออก ใช้ปลายไม้เกี่ยวเส้นใยออกมารวมกันหลายๆเส้น การสาวต้องเริ่มต้นจากขุยรอบนอกและเส้นใยภายใน(ชั้นกลาง) รวมกันเรียกว่า “ไหมสาว” หรือ “ไหมเปลือก” ครั้นสาวถึงเส้นใยภายใน(ชั้นในสุด) แล้วเอารังไหมที่มีเส้นภายในแยกไปสาวต่างหาก เรียกว่า “เส้นไหมน้อย” หรือ “ไหมหนึ่ง” ผู้สาวไหมต้องมีความชำนาญและทักษะจึงจะได้เส้นไหมที่มีคุณภาพดี เมื่อเติมรังไหมลงไปอีกรังไหมใหม่สามารถรวมเส้นกับรังไหมเก่าได้ โดยไม่ทำให้เส้นไหมขาดใช้ไม้คีบลักษณะคล้ายไม้พาย มีร่องกลางสำหรับคีบ เกลี่ยรังไหมกดให้เส้นไหมตีเกลียวแน่นดูเล็ก ต้องระมัดระวังและต้องอาศัยความชำนาญและมีเทคนิคในการทำให้รังที่ต้มเกาะกันเป็นเส้นตามขนาดที่ต้องการ ทำให้เส้นไหมพันหรือไขว้กันหลายๆรอบ

3. การเตรียมเส้นไหม
          การเตรียมเส้นไหมพุ่ง จะเป็นการเตรียมเส้นไหมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการนำไปมัดหมี่โดยใช้เครื่องมือในการค้นลำหมี่ โดยการนำเส้นไหมที่กวักเรียบร้อยแล้ว มาทำการค้นปอยหมี่เพื่อให้ได้ลำหมี่พร้อมสำหรับการไปมัดหมี่ในกระบวนการต่อไป และการเตรียมไหมเครือ (ไหมเส้นยืน) โดยการค้นหูกหรือค้นเครือ คือ กรรมวิธีนำเอาเส้นไหมที่เตรียมไว้สำหรับเป็นไหมเครือไปค้น (กรอ) ให้ได้ความยาวตามจำนวนผืนของผู้ทอผ้าไหมตามที่ต้องการ ไหมหนึ่งเครือจะทำให้เป็นผ้าไหมได้ประมาณ 20-30 ผืน (1 ผืนยาวประมาณ 180-200 เซนติเมตร)

 

4. การมัดหมี่และการย้อมสี
          การมัดหมี่ คือการทำผ้าไหมให้มีลวดลาย ซึ่งลวดลายดังกล่าวอาจเป็นลายประยุกต์หรือลายโบราณ ที่มีการถักทอสืบต่อกันมา ในปัจจุบันมีการใช้ทั้งลายประยุกต์และลายโบราณโดยการมัดเส้นไหมให้เป็นลวดลายที่เส้นพุ่งด้วยเชือกฟางมัดลายแล้วนำไปย้อมสี แล้วนำมามัดลายอีกแล้วย้อมสีสลับกันหลายครั้ง เพื่อให้ผ้าไหมมีลวดลายและสีตามต้องการ ในส่วนของการย้อมสีก็จะนำสีที่ได้มาจากธรรมชาติ มาย้อมลงบนเส้นไหมที่ได้แต่ปัจจุบันการย้อมด้วยสีธรรมชาติเริ่มหายไป เนื่องจากมีสีวิทยาศาสตร์เข้ามาแทนที่ ที่หาซื้อง่ายตามร้านขายเส้นไหมหรือผ้าไหม เมื่อละลายน้ำจะแตกตัว ย้อมง่าย สีสดใส ราคาค่อนข้างถูกทนต่อการซักค่อนข้างดี
5. การแก้หมี่

          การตัดเส้นฟางที่ใช้มัดหมี่ในขั้นตอนการมัดหมี่ก่อนการนำมาย้อม

 

6. การทอผ้าไหม
          การทอผ้าไหมจะประกอบไปด้วยเส้นไหม 2 ชุด คือชุดแรกเป็น “เส้นไหมยืน” จะขึงไปตามความยาวผ้าอยู่ติดกับกี่ทอ(เครื่องทอ) หรือแกนม้วนด้านยืน อีกชุดหนึ่งคือ “เส้นไหมพุ่ง” จะถูกกรอเข้ากระสวย เพื่อให้กระสวยเป็นตัวนำเส้นด้ายพุ่งสอดขัดเส้นด้ายยืนเป็นมุมฉาก ทอสลับกันไปตลอดความยาวของผืนผ้า การสอดด้ายพุ่งแต่ละเส้นต้องสอดให้สุดถึงริมแต่ละด้าน แล้วจึงวกกลับมา จะทำให้เกิดริมผ้าเป็นเส้นตรงทั้งสองด้าน ส่วนลวดลายของผ้านั้นขึ้นอยู่กับการวางลายผ้าตามแบบของผู้ทอที่ได้ทำการมัดหมี่ไว้

หลังจากที่มีการทอผ้าเสร็จแล้วชาวบ้านก็จะนำไปจำหน่าย โดยส่งต่อไปยังกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโนนรัง เพื่อที่จะนำไปจำหน่ายและนำไปแปรรูป เช่น นำผ้าไหมไปตัดเย็บเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า พวงกุญแจ และยังมีการนำไปขายในงาน OTOP ตามสถานที่ต่างๆ

 

อื่นๆ

เมนู