แหล่งท่องเที่ยวเมืองโบราณบ้านไทรโยง | ความเชื่อ

          ข้าพเจ้านางสาวนภัสนันท์ ลาศรี ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานพร้อมกับทีมงานที่ตำบลกระสัง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบล เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ

การลงพื้นที่

          การปฏิบัติงานเดือนมีนาคม ข้าพเจ้าและทีมงานได้ลงพื้นที่ หมู่ 3 บ้านไทรโยง และหมู่ 19 บ้านไทรโยงเหนือ ที่มีลักษณะที่เห็นได้เด่นชัด คือ เป็นเมืองโบราณซึ่งมีคูล้อมรอบ 3 ชั้น ลักษณะเป็นทรงกลมอย่างเห็นได้ชัด  ความสำคัญทางประวัติศาสตร์โบราณคดีนั้น เมืองไทรโยง เลขที่ทะเบียน 26-48 ในเขตอำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ จากการรวบรวมข้อมูล พบรายงานการศึกษาสำรวจเมืองและชุมชนโบราณในท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดย สรเชต วรคามวิชัย(2528) และหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมจังหวัดบุรีรัมย์(2532,2541) สรุปไว้ว่า เมืองไทรโยงมีลักษณะเมืองเป็นรูปทรงกลม มีคูเมืองโบราณ 3 ชั้น โบราณวัตถุที่พบในเมืองได้แก่ไหและโอ่ง บริเวณศาลพระภูมิทางทิศเหนือของหมู่บ้านมีก้อนหินที่ประกอบเป็นศาลพระภูมิ 1 หลัง เสาปูนซีเมนต์ 10 เสา สันนิษฐานว่าเป็นซากวัด หรือ ปราสาท และมีการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน ราว 150 ปี  มาแล้ว (2528) โดยอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากเมืองศรีภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีหลวงวิเศษ สังขะโห พร้อมครอบครัวและบริวารเป็นกลุ่มแรก

           ในปี 2527 กรมศิลปากรได้เข้าสำรวจ พบเศษภาชนะดินเผา ประเภทเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ สีนวล สีเทา สีน้ำตาล       สีเหลืองปนแดง ผิวเรียบ ลายขูดขีดและลายเชือกทาบ เคยขุดพบกาดินเผาที่ตกแต่งบริเวณบ่าด้วยลวดลายรูปสัตว์ (นก) ภาชนะ ดินเผาเนื้อแกร่งแบบไหขอม ซึ่งมีการกำหนดอายุไว้ในช่วง 17-19 และเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีคันดินและคูน้ำล้อมรอบหลายชั้น

     

     

จากการสำรวจในพื้นที่ (2556) พบเศษภาชนะดินเผาแบบพิมายดำ ภาชนะดินเผาเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ เนื้อดินเคลือบโคลนแดง มีทั้งแบบผิวหนาและผิวบาง ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเคลือบขาวและพบเศษตะกรันโลหะในบริเวณขอบเนินเมืองใกล้แนวกำแพงเมือง-คูเมือง อย่างไรก็ตามจากการศึกษาสภาพแวดล้อมการตั้งถิ่นฐาน รูปแบบกำแพงเมือง-คูเมือง ที่เป็นรูปไข่ล้อมรอบ เนิน 3-4 ชั้น และโบราณวัตุที่พบภายในเมือง สันนิษฐานว่า เมืองโบราณแห่งนี้น่าจะมีอายุไม่น้อยไปกว่าสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตอนปลาย จนถึงสมัยทวารวดีต่อเนื่องถึงสมัยลพบุรีราวพุทธศตวรรษที่ 17-19 เป็นอย่างน้อย

สรุปการลงพื้นที่

           ข้าพเจ้าและทีมงานมีความสนใจเกี่ยวกับความเชื่อของคนในหมู่บ้านไทรโยงนี้ มีความเชื่อเกี่ยวกับการรำมะม๊วด ซึ่งเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่พบว่ามีการทำสืบต่อกันมาในชุมชน ถือเป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นเพื่อการรักษาอาการเจ็บป่วยหรือปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายที่ไม่ดีออกจากตนเองและครอบครัว โดยในพิธีกรรมจะประกอบด้วยผู้ประกอบพิธีกรรมเรียกว่า “แม่มะม๊วด” หรือ “ครูมะม๊วด” เป็นร่างทรง เชื่อกันว่าเป็นสื่อกลางของเทวดา มีหูทิพย์ตาทิพย์ มีหน้าที่ทำนายสาเหตุและรักษาอาการเจ็บป่วย โดยผู้เป็นร่างทรงจะต้องทำพิธีไหว้ครูมะม๊วดทุกปี และอีกฝั่งหนึ่งคือผู้มีอาการเจ็บป่วยที่ต้องการหาสาเหตุจากร่างทรงเพื่อหาหนทางรักษา

                      

           และอีกหนึ่งความเชื่อของหมู่บ้านไทรโยงแห่งนี้คือการแซนโฎนตา คำว่า “แซน” หมายถึง การเซ่นไหว้ การบวงสรวง      คำว่า “โฎน” หมายถึง ย่าหรือยาย คำว่า “ตา” หมายถึง ปู่หรือตา ดังนั้นประเพณีนี้จึงหมายถึง การเซ่นไหว้ปู่ ย่า ตา ยาย หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ถือเป็นวันสารทเดือนสิบของชาวเขมร การประกอบพิธีแซนโฎนตา แต่ละบ้านจะเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ ทั้งอาหารคาว-หวาน ผลไม้ อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อเซ่นไหว้ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน เซ่นไหว้ศาลพระภูมิประจำบ้าน ประกอบพิธี กรรมแซนโฎนตาที่บ้าน และประกอบพิธีกรรมที่วัด โดยการทำเช่นนี้เพื่อให้บรรพบุรุษรับผลบุญกุศลที่อุทิศไป ทำให้บ่วงกรรมที่มีบรรเทาลง ซึ่งชาวเขมรยึดถือประเพณีนี้สืบทอดกันมาอย่างยาวนานด้วยความเชื่อที่ว่าถ้าในยุคของตนได้แซนโฎนตาให้แก่ผีบรรพบุรุษ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ไปแล้ว รุ่นลูกจะต้องแซนโฎนตาให้ตนเหมือนกัน เพื่อให้ลูกหลานต้องปฏิบัติสืบทอดต่อ ๆ กันไป   ไม่สิ้นสุด 

             จากการลงพื้นที่ของข้าพเจ้าและทีมงานในครั้งนี้ทำให้ข้าพเจ้าได้เห็นถึงความเชื่อความศรัทธาของผู้คนในชุมชนแห่งนี้ที่สืบต่อกันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ส่งต่อสู่ลูกหลานให้ได้เข้าใจถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่และความเชื่อในพิธีกรรมต่างๆของผู้คนในชุมชนแห่งนี้จากอดีตสู่ปัจจุบัน เพื่อพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวที่น่าสนใจให้ผู้คนต่างหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวชมเมืองโบราณในอดีตเพื่อเกิดความรู้ด้านความเชื่อความศรัทธาและการเพิ่มรายได้ให้แก่คนในชุมชนสืบไป

                     

                   

https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSfJOgjnaxHJTv72AU3f53CdoHQ8bk2r2fsPYpjOJ3EU3yzbUw/viewform

                 

 

อื่นๆ

เมนู