แหล่งท่องเที่ยวเมืองโบราณบ้านไทรโยง | นักเล่าเรื่องในชุมชน
ข้าพเจ้านางสาวนภัสนันท์ ลาศรี ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานพร้อมกับทีมงานที่ตำบลกระสัง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบล เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ
การลงพื้นที่
การปฏิบัติงานเดือนเมษายน ข้าพเจ้าและทีมงานได้ลงพื้นที่ หมู่ 3 บ้านไทรโยง และหมู่ 19 บ้านไทรโยงเหนือ ที่มีลักษณะที่เห็นได้เด่นชัด คือ เป็นเมืองโบราณซึ่งมีคูล้อมรอบ 3 ชั้น ลักษณะเป็นทรงกลมอย่างเห็นได้ชัด ความสำคัญทางประวัติศาสตร์โบราณคดีนั้น เมืองไทรโยง ในเขตอำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ จากการรวบรวมข้อมูล พบรายงานการศึกษาสำรวจเมืองและชุมชนโบราณในท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์ โบราณวัตถุที่พบในเมืองได้แก่ไหและโอ่ง สันนิษฐานว่าเป็นซากวัด หรือ ปราสาท และมีการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน ราว 150 ปี มาแล้ว (2528) โดยอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากเมืองศรีภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีหลวงวิเศษ สังขะโห พร้อมครอบครัวและบริวารเป็นกลุ่มแรก
ในปี 2527 กรมศิลปากรได้เข้าสำรวจ พบเศษภาชนะดินเผา ประเภทเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ สีนวล สีเทา สีน้ำตาล สีเหลืองปนแดง ผิวเรียบ ลายขูดขีดและลายเชือกทาบ เคยขุดพบกาดินเผาที่ตกแต่งบริเวณบ่าด้วยลวดลายรูปสัตว์ (นก)
ซึ่งจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้กลุ่มของข้าพเจ้าได้ไปสอบถามถึงประวัติความเป็นมาของเมืองไทรโยงจากผู้เฒ่าผู้แก่ พอดีวันนั้นกลุ่มของข้าพเจ้าได้พบกับตาน้อยพอดี ข้าพเจ้าจึงได้เอ่ยถามตาน้อยว่า ตาน้อยในฐานะที่ตาเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่นี่ และอยู่ที่นี่มานานตาช่วยเล่าถึงประวัติความเป็นมาของเมืองไทรโยงให้พวกหนูฟังหน่อยได้ไหมคะ พอข้าพเจ้าพูดจบตาน้อยก็ตอบกลับมาว่าได้สิ ตาน้อยจึงค่อยๆเล่าให้ฟังว่า จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในสมัยนั้นซึ่งนานมาแล้วสัก 100 ปีได้อยู่ เล่าให้ตาฟังว่า เมื่อก่อนหมู่บ้านแห่งนี้เป็นเมืองโบราณ มีกษัตริย์ในสมัยนั้นตั้งเมืองนี้ขึ้นเพื่อเป็นที่พักในการทำศึกสงคราม ซึ่งคนในสมัยนั้นก็ได้ขุดคูน้ำล้อมรอบหมู่บ้านเป็น 3 ชั้น เพื่อป้องกันศัตรูและข้าศึกเข้ามาโจมตี ซึ่งในสมัยนั้นก็ได้มีการสร้างวัดสร้างโบสถ์ ขึ้นบริเวณใกล้ๆกับคูน้ำโบราณ โบสถ์และวัดที่สร้างขึ้นนั้นต่อมาก็เกิดการผุพังไปตามกาลเวลา จนเหลือเพียงแค่เสาโบสถ์ หลังจากนั้นก็มีส่วนราชการได้นำเสาโบสถ์ไปเก็บไว้ยังส่วนกลาง แล้วชาวบ้านก็ได้ใช้ชีวิตปกติเรื่อยมา
ตาน้อยยังเล่าให้ฟังอีกว่า บริเวณแห่งนี้มีความมหัศจรรย์เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งวันนั้นอยู่ดีๆเกิดปรากฎการณ์น้ำวนขึ้นในคูโบราณบริเวณโบสถ์เก่า ซึ่งตาก็จำไม่ได้ว่าวันไหนเพราะมันนานมาแล้ว มันเป็นกระแสน้ำวนที่แรงมากและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ชาวบ้านบริเวณนั้นต่างตื่นตาตื่นใจ และมีชาวบ้านคนหนึ่งพูดขึ้นว่าให้ไปนำข้าวสุกที่หุงแล้วมาโยนลงไปในน้ำที่เกิดน้ำวนแล้วจะหาย จากนั้นชาวบ้านจึงได้ทำตาม โดยการนำข้าวสุกโยนเข้าไปยังบริเวณที่เกิดน้ำวน ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านอีกคน แล้วอยู่ดีๆน้ำวนได้หยุดลงแล้วกลับมาเป็นปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ชาวบ้านต่างตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ในวันนั้นชาวบ้านก็ไม่มีใครกล้าเข้าใกล้บริเวณนั้นอีกเลย และจากนั้นไม่นานนักตาน้อยคิดอยากจะปลูกพืชผักไว้กินเอง จึงได้ไปขุดดินเพื่อปลูกพืชผักในพื้นที่สวนของตน พอขุดไปได้สักพักตาน้อยได้ขุดพบไหและกำไลโบราณโดยบังเอิญ ตาน้อยเกิดความตกใจเป็นอย่างมากจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น และได้นำของที่ขุดพบนั้นมาไว้ยังบ้านของตน จากนั้นชาวบ้านละแวกนั้นได้ยินข่าวจากคำบอกเล่าปากต่อปากของชาวบ้านด้วยกัน จึงพากันแห่มาดูสิ่งของที่ตาน้อยขุดพบอย่างตื่นตาตื่นใจ หลายคนเกิดความอยากได้จึงขอแบ่งจากตาน้อยไปเศษเสี้ยวหนึ่งจากส่วนที่แตกหักนำไปพกไว้ติดตัวเพื่อความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อของตน แต่หลังจากนำไปได้เพียงข้ามคืนก็ต้องนำกลับมาคืนเพราะเกิดล้มป่วยกะทันหัน จึงคิดว่าน่าจะเกิดจากของสิ่งนี้แล้วจึงนำกลับไปคืนตาน้อย พอนำไปคืนก็หายจากอาการป่วยนั้นทันทีอย่างน่าเหลือเชื่อ จึงเป็นเหตุให้คนในชุมชนมีความเชื่อเรื่องสิ่งลี้ลับและวัตถุโบราณที่ขุดเจอเป็นอย่างมาก ชาวบ้านบางส่วนเมื่อขุดพบจึงไม่กล้าที่จะเก็บรักษาไว้ จึงทำให้สิ่งของบางอย่างที่ขุดเจอนั้นสูญหายไปตามกาลเวลา และนี่ก็เป็นเพียงความเชื่อส่วนบุคคล และเป็นความเชื่อของคนในชุมชนเท่านั้น
หลังจากนั้นกลุ่มของข้าพเจ้าได้เดินทางต่อไปเรื่อยๆ จนพบเข้ากับบ้านหลังหนึ่งซึ่งมีต้นโพธิ์ต้นใหญ่มาก ซึ่งเป็นที่น่าสนใจของกลุ่มข้าพเจ้าเป็นอย่างมาก ในจังหวะนั้นกลุ่มของข้าพเจ้าก็ได้พบกับยายคนหนึ่ง ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้ๆกับต้นโพธิ์ ข้าพเจ้าจึงเดินเข้าไปถาม สวัสดีค่ะคุณยาย คุณยายชื่อว่าอะไรคะ ยายตอบกลับมาว่ายายชื่อยายลอย แล้วข้าพเจ้าจึงถามต่อไปว่า ยายพอจะรู้ประวัติของต้นโพธิ์ต้นนี้ไหมคะ ยายลอยตอบข้าพเจ้าว่า รู้สิยายเป็นเจ้าของต้นโพธิ์ต้นนี้เอง เดี๋ยวยายจะเล่าประวัติให้ฟังนะ ต้นโพธิ์ต้นนี้มีอายุราว 100 กว่าปีมาแล้ว จากคำบอกเล่าของยายลอยซึ่งเป็นเจ้าของต้นโพธิ์ ชาวบ้านจะเรียกต้นโพธิ์ต้นนี้ว่า “ต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์” ยายลอยเล่าว่าต้นโพธิ์ต้นนี้มีมาตั้งแต่ยายยังไม่เกิด ปู่ย่าตาทวดเล่าให้ยายฟังว่า เมื่อก่อนมีหินก้อนใหญ่มากอยู่ห่างจากต้นโพธิ์ไม่ไกล แต่อยู่ดีๆก็มีชาวบ้านเห็นหินเดินได้ หินนั้นค่อยๆขยับตัวเรื่อยๆแล้วมาจบอยู่ใต้ต้นโพธิ์อย่างน่าอัศจรรย์ ชาวบ้านที่พบเห็นต่างนำดอกไม้ธูปเทียนมากราบไหว้ขอพร บางคนขอโชคลาภ อีกทั้งยังขอหวย ซึ่งมีชาวบ้านถูกจริงๆหลายงวดติด ชาวบ้านในหลายพื้นที่พอได้ยินข่าวจึงพากันแห่มาที่นี่บางคนพาร่างทรงมาเข้าทรงดูว่าที่นี่มีอะไร พอร่างทรงประทับร่างก็พูดขึ้นว่าใต้ต้นโพธิ์แห่งนี้มีพระพุทธรูปทองคำฝังอยู่ใต้ต้นโพธิ์ จึงทำพิธีเพื่อให้ได้พระพุทธรูปนั้นมาแต่ไม่สำเร็จเนื่องจากเกิดลม ฝนกระหน่ำลงมา อีกทั้งยายลอยเกิดอาการล้มป่วยขึ้น จากนั้นจึงได้ไล่ร่างทรงนั้นกลับไป อีกไม่นานก็มีเกจิอาจารย์ชื่อดังมาทำพิธีซ้ำอีกแต่ไม่สำเร็จ ยายลอยจึงไล่กลับไปอีก มีคนหลายๆคนพลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมากลางดึกเพื่อแอบมาทำพิธี แต่ทุกครั้งยายลอยจะรู้ตัวเสมอเพราะมีใครไม่รู้มาดึงขาให้ยายลอยตื่น ยายลอยจึงเชื่อสนิทใจว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้นโพธิ์แห่งนี้มีจริงและสามารถบันดาลโชคลาภให้กับตนและครอบครัวได้ และในทุกๆวันพระยายลอยจะนำน้ำแดงและพวงมาลัยมาถวายไม่เคยขาด เพราะยายลอยมีความเชื่อว่าต้นโพธิ์แห่งนี้จะช่วยปกปักรักษาตนและครอบครัวให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันตรายได้ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้เป็นเพียงความเชื่อของคนในชุมชนเท่านั้น
สรุปการลงพื้นที่
จากการลงพื้นที่ของข้าพเจ้าในครั้งนี้ทำให้ทราบถึงประวัติความเป็นมาจากคำบอกเล่าของชาวบ้านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเรื่องราวบางตอนมีความน่าทึ่งและอัศจรรย์ใจยิ่งนัก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงข้อมูลบางส่วนและเป็นความเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้น ดังนั้นกลุ่มของข้าพเจ้าจึงจะนำข้อมูลส่วนนี้ไปเก็บไว้เพื่อรวบรวมและหาข้อมูลส่วนอื่นๆเพิ่มเติมให้ได้มากที่สุดเพื่อให้หมู่บ้านไทรโยงแห่งนี้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวชุมชนโบราณสืบต่อไป
แบบทดสอบประจำบทความ