นับเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้จาก “พระมหากษัตริย์ 2 พระองค์” แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10
เริ่มต้นจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “ราชภัฏ” ซึ่งหมายถึง “คนของพระราชา” ให้กับสถาบันราชภัฏ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 ยังความภาคภูมิใจสูงสุดมาสู่ชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ไม่เพียงพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมจากรัชกาลที่ 9 ตลอด 38 ปีที่ผ่านมา ชาวราชภัฏทั่วประเทศยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10” หลังจากเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์ทรงพระเมตตาพระราชทานพระราชวโรกาสให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง เข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม โอกาสนี้ ทรงมีพระราชดำรัสว่า
“….. ข้าพเจ้าได้ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ทำให้รู้สึกมีความสุขและผูกพันกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งหลายอย่างมาก ไปทุกครั้งก็มีความสุข อยากให้ทุกคนมีกำลังใจที่จะทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏของเรา เป็นประโยชน์กับประชาชน เป็นประโยชน์ต่อภูมิภาค และท้องถิ่นจริงๆ จังๆ ในเรื่องการดำรงชีวิต ในเรื่องความรู้ทั่วไป และข้อสำคัญคือ ผลิตคนดี ผลิตคนดีที่เห็นประโยชน์ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และสังคม คิดว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสถาบันที่เป็นประโยชน์และเป็นกลไกที่พัฒนาประเทศได้อย่างยิ่ง ถ้าหากตั้งใจ ร่วมกันและคุยกันมากๆ จะเป็นสถาบันหลักที่พัฒนาประเทศและประชาชนได้อย่างมาก…..”
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ทำให้วันนี้ตัวข้าพเจ้าได้รับโอกาสจากภาครัฐ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ร่วมจัดโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ๑ ตำบล ๑ มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ ให้ชุมชนเข้มแข็งและแข็งแรงสามารถสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นแก่พี่น้องในชุมชนของเรา
แม้ว่าในภาวการณ์ปัจจุบันนี้โรคโควิด-19 ระบาดแพร่หลายในพื้นที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัดแต่ชีวิตของคนเราก็ยังต้องดิ้นรนต่อสู้กันไปเพื่อปากท้องเพื่อครอบครัวของเราเอง ดังนั้นการที่เราได้ย้อนมาดูตัวเรา ชุมชนรอบข้างเรา นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ตัวเราเกิดการเรียนรู้จากสิ่งใกล้ตัวแล้วรู้จักพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นจนสามารถผ่านพ้นจากวิกฤติครั้งนี้ได้อย่างยั่งยืน ข้าพเจ้าเป็นประชาชนคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในชุมชน หมู่ที่ ๖ ตำบลกระสัง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ตัวเองขอยอมรับเลยว่า “น้อยนักที่จะได้เข้าไปร่วมในชุมชนหรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ ไม่รู้จักชุมชนของตนเองเลยว่ามีอะไรดี ๆ อยู่บ้าง” เพราะว่าตนเองก็อยู่แต่ที่บ้านทำงาน ดูแลโฮมสเตย์และสวนมะม่วงที่คุณแม่ตั้งใจทำให้เป็นสวนเกษตรอินทรีย์ จะรู้จักคนในชุมชนก็แค่คนที่มาช่วยทำงานที่สวน ถ้าจะให้นึกถึงชุมชนของตนเองก็จำได้คร่าว ๆ ว่า “บ้านผู้ใหญ่อยู่ที่ไหนเพราะต้องไปติดต่องาน” “บ้านผู้ช่วยมีขนมหวานขาย” “ในหมู่บ้านมี ๓ ร้าน ที่พอจะหาซื้อของมาทำอาหารได้” แค่นี้คือ ความจำที่นึกขึ้นได้เมื่อกล่าวถึงชุมชนของตนเอง แต่เมื่อได้รับโอกาสร่วมโครงการนี้ทำให้ตัวเองได้รู้จักชุมชนของเรามากยิ่งขึ้น ยังมี “ช่างไม้ทำบานหน้าต่าง” ยังมี “ร้านก๋วยเตี๋ยวป้าสมหวังอยู่ท้ายซอยใต้ต้นไม้” น้องมีนทีมงานอีกคนบอกว่า “ก๋วยเตี๋ยวเจ้านี้อร่อยมากแถมให้เยอะด้วย” ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้ออกสำรวจคงไม่รู้ว่าในชุมชนของเรายังมีอะไร ๆ ดีอีกเยอะ ส่วนอีกหมู่ที่ข้าพเจ้าไม่เคยไปเลยคือ หมู่ ๑๘ บ้านใหม่พัฒนา เป็นหมู่บ้านที่อยู่คนละฝั่งคลองส่งน้ำ ลักษณะบ้านก็จะปลูกติด ๆ กัน เหมือนอยู่บนเกาะประมาณนั้น.. ตอนไปสำรวจครั้งแรกไปเจอเรื่องฮา 555 “ศึกแย่งแคปหมู” พอดีไปเจอท่านผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านก็เลยขอสัมภาษณ์ตอบแบบสอบถาม ท่านก็นั่งลงตั้งใจตอบคำถามจนเสร็จ พอหันไปถามแม่ค้าจะซื้อแคปหมูที่เหลืออยู่ ๑ ถุง ก็ต้องตกใจเพราะมันได้หายไปแล้ว…. รู้อีกทีลูกค้าอีกคนซื้อไปแล้วเลยอดกินแคปหมู เรื่องศึกแย่งแคปหมูก็จบลงตรงนี้..ที่รอยยิ้มของทุกคน
แม้ว่าการสำรวจอาจจะเป็นเพียงชั่วเวลาสั้นก็ตามแต่ก็ทำให้เราได้เรียนรู้ ได้พบเจอเหตุการณ์ ได้พบเจอสิ่งที่เราสามารถนำมาพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งและความแข็งแรงให้เกิดขึ้นในชุมชนของเราได้ หนทางการพัฒนาสร้างรากแก้วยังอีกยาวไกล หวังว่าใจเราจะไม่ท้อ ไม่เหนื่อย เพื่อตอบแทนในพระมหาเมตตากรุณาธิคุณที่ให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสถาบันที่เป็นประโยชน์และเป็นกลไกที่พัฒนาประเทศได้