หลักสูตร ID10 : การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามอัตลักษณ์เพื่อส่งเสริมการเกษตรโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนตำบลกระสัง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

ข้าพเจ้านางสาวศุภากร ทรงชัยยศ ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ตำบลกระสัง

จากการดำเนินงานในเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมาได้มีการประชุมปรึกษาหารือกับผู้นำชุมชน และกลุ่มเกษตรกรในชุมชน ได้แก่ หมู่ 6 บ้านโพธิ์ หมู่ 7 บ้านดอนหวาย หมู่ 13 บ้านน้อยสุขเจริญ และหมู่ 18 บ้านใหม่พัฒนา โดยได้พูดคุยและร่วมกันวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก (SWOT Analysis) ที่ส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรในชุมชน ทำให้ได้ทราบถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และทราบถึงปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการทำการเกษตรของเกษตรกร

คนในชุมชนมีการปลูกพืชผักทางการเกษตรที่ค่อนข้างหลากหลาย เช่น พริกชี้ฟ้า พริกซุปเปอร์ฮอท คะน้า กะเพรา โหระพา ขึ้นฉ่าย กระเฉดน้ำ ผักชี บวบ มะเขือยาว มะเขือเทศ มะเขือเปราะ ข้าวโพด อ้อยหวาน เมล่อน โกโก้ เป็นต้น

ผลจากการทำ SWOT สามารถสรุปเบื้องต้นได้ตามตาราง ดังนี้

จุดแข็ง จุดอ่อน
1. คุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร ผักมีความสดใหม่อยู่เสมอ

2. มีความหลากหลายของผลผลิตทางการเกษตร

3. ไม่ใช้สารเคมีในการปลูกพืชผัก

1. กำลังการผลิตที่มีไม่เพียงพอ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตลอด

2. พืชผักบางชนิดสามารถปลูกได้ตามฤดูกาลเท่านั้น

3. การตลาดยังไม่แข็งแรงพอ

โอกาส อุปสรรค
1. ชุมชนอยู่ใกล้ตัวเมือง สะดวกต่อการเดินทางไปขายผลผลิตทำให้สามารถลดต้นทุนในการเดินทางได้

2. ชุมชนอยู่ใกล้ห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง ง่ายต่อการขยายตลาด

 

1. ความต่อเนื่องของการส่งผลผลิตเข้าไปขายในห้างสรรพสินค้า

2. คนในชุมชนไม่มีพื้นที่ทำการเกษตร

3. ประสบปัญหาเกี่ยวกับศัตรูพืชที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หายขาดได้ เช่น เพลี้ยแป้ง หนอน ด้วงปีกแข็ง

ในบทความนี้ผู้เขียนขอหยิบยกเอาจุดอ่อนเรื่อง “การตลาด” มาเป็นประเด็นปัญหาหลัก เนื่องจากในปัจจุบันไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าเรื่องของการตลาดนั้นจำเป็นในการทำธุรกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ เลยก็ว่าได้เพราะการตลาดถือเป็นกิจกรรมที่มีผลต่อความสำเร็จของธุรกิจทุก ๆ ประเภท

ความสำคัญของการตลาด

  1. การตลาดเป็นเครื่องมือให้เกิดการแลกเปลี่ยนและสร้างความนิยมแก่กิจการ
  2. การตลาดเป็นตัวเชื่อมระหว่างเจ้าของสินค้าและผู้บริโภค
  3. การตลาดเป็นตัวนำหรือชี้แนะในการปรับปรุงการผลิตสินค้าและการให้บริการ

ผู้เขียนให้ความสำคัญกับเรื่องของการตลาด เพราะมั่นใจเป็นอย่างมากว่าถ้ามีการตลาดที่ดีก็จะช่วยให้สามารถพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนต่อไปได้แน่นอนค่ะ

ช่องทางการจัดจำหน่ายของเกษตรกรในชุมชน

ในปัจจุบันหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรเรียบร้อยแล้ว เกษตรกรในชุมชนจะนำผลผลิตที่ได้ไปจำหน่ายที่ตลาดสด โดยเป็นการนำไปจำหน่ายเอง ไม่ได้มีการขายส่งให้พ่อค้าคนกลางไปขายต่อแต่อย่างใด ถือได้ว่าเป็นการปลูกเอง – ขายเอง ซึ่งกลุ่มลูกค้าก็จะเป็นลูกค้าประจำที่ซื้อในทุก ๆ วัน ทำให้ไม่มีการขยายการตลาด ไม่มีช่องทางการจำหน่ายช่องทางอื่นที่อาจเป็นการเพิ่มรายได้ให้ตัวเกษตรกรเอง

นอกเหนือจากการนำผลผลิตไปจำหน่ายที่ตลาดสดหรือที่เรียกกันว่าขายปลีกแล้ว เกษตรกรยังสามารถนำผลผลิตไปจำหน่ายให้กับพ่อค้า-แม่ค้ารายใหญ่ในตลาดหรือที่เรียกว่าการขายส่งได้อีกด้วย หรือจะเป็นการขยายการตลาดจากที่ขายให้คนนอกชุมชนอย่างเดียวก็มาขายให้คนในชุมชนด้วยกันเอง โดยอาจจะมีการสร้างกลุ่มขึ้นใน Social Media เป็นกลุ่มที่มีไว้สำหรับการซื้อ–ขายของภายในชุมชนเพื่อคนในชุมชน ให้มีเงินหมุนเวียนในชุมชนของตนเอง นอกจากนี้ยังสามารถสร้างกลุ่มที่เกี่ยวกับคนรักสุขภาพ  เพื่อเป็นการเจาะกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพเน้นการบริโภคผักโดยเฉพาะ หรือจะมีการพัฒนาพื้นที่ทำการเกษตรในชุมชนเป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับผักปลอดสารพิษ เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของในหลวง ร.9 ก็ได้ ซึ่งก็ถือเป็นการขยายการตลาด และเป็นการโฆษณา ประชาสัมพันธ์การเกษตรในชุมชนตำบลกระสังไปด้วย ถ้าเกษตรกรหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องการตลาดก็จะสามารถช่วยเพิ่มรายได้ เพิ่มยอดขาย และขยายฐานลูกค้าเพิ่มได้อย่างแน่นอน..

สุดท้ายนี้ผู้เขียนและทีมงานขอขอบพระคุณผู้นำชุมชน และเกษตรกรทั้ง 4 หมู่บ้าน ที่ให้ความร่วมมือในการจัดกิจกรรมเป็นอย่างมาก :))

ลิงก์สำหรับทำแบบทดสอบ

https://forms.gle/bnamXT44A64nt3fp9

อื่นๆ

เมนู