ข้าพเจ้า นางสาวศุภากร ทรงชัยยศ ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ตำบลกระสัง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
หลักสูตร ID 10 การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามเอกลักษณ์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยมีส่วนร่วมของชุมชน ตำบลกระสัง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
ตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ได้จัดทำ “โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ)” ข้าพเจ้านางสาวศุภากร ทรงชัยยศ ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้ถูกจ้างงานในโครงการนี้ ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 โดยมีการเริ่มประชุมกับทีมงานและอาจารย์ประจำหลักสูตร โดยได้มีการพูดคุยและเสนอแนวทางปฏิบัติงานร่วมกันก่อนจะมีการลงพื้นที่ตำบลกระสัง ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อแนะนำตัวกับผู้นำตำบล ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการ และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลกระสัง เพื่อขอความร่วมมือในการให้ข้อมูลเพื่อประโยชน์แก่การพัฒนาชุมชนให้บรรลุตามเป้าหมายของโครงการ
โดยในการทำงานได้ลงพื้นที่ในเขตตำบลกระสัง อำเภอในเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีทั้งหมด 19 หมู่บ้าน และได้แบ่งกลุ่มเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 4 หมู่บ้าน ซึ่งหมู่บ้านที่ข้าพเจ้าได้รับมอบหมาย คือ หมู่ที่ 13 บ้านน้อยสุขเจริญ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป รองลงมาเป็นการค้าขายในชุมชน และทำการเกษตร ทำไร่ ทำนา ส่วนน้อยมากที่จะรับราชการ ในการทำนาของคนในชุมชนจะเริ่มมีการหว่านข้าวช่วงเดือนพฤษภาคม และมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมของทุกปี การส่งขายจะส่งให้กับโรงสีข้าวเอกชนที่รับซื้อและเก็บไว้บริโภคภายในครัวเรือน โดยภาพรวมยังไม่มีกลุ่มสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ภายในชุมชน มีเพียงบางครัวเรือนที่มีอาชีพทำขนมซึ่งค่อนข้างน่าสนใจ เช่น ขนมเปี๊ยะไข่เค็ม ซึ่งได้ส่งจำหน่ายไปยังตลาดในตัวเมืองจังหวัดบุรีรัมย์ บ้านที่ผลิตบ้านเลขที่ 119/1 หมู่ 13 ตำบลกระสัง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อได้ลงพื้นที่เข้าไปสอบถาม คุณธัญณีย์ ชัยจริยาพงษ์ (พี่ตุ๊ก) พี่เจ้าของสูตรขนมเปี๊ยะไข่เค็มที่แสนอร่อย ถึงได้ทราบว่าพี่ตุ๊กได้ทำไข่เค็มเพื่อใช้ประกอบการทำขนมเปี๊ยะไข่เค็มเองด้วย นอกจากนั้นยังมีขนมเปี๊ยะอีกมากมายหลายไส้ เช่น ขนมเปี๊ยะมันม่วงลาวา ขนมเปี๊ยะทุเรียนลาวา ขนมเปี๊ยะฝอยทองไข่เค็ม ขนมเปี๊ยะไส้ฟักแบบโบราณอีกด้วย ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นขนมเปี๊ยะ หรือไข่เค็มใบเตยนี้สามารถนำมาพัฒนาเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP ของดีของเด่นของตำบลได้ไม่ยากเลยถ้ามีการใช้สื่อออนไลน์ในโปรโมทสินค้าเพื่อเป็นการขยายตลาดส่งออกเพื่อให้มีคนรู้จักสินค้ามากขึ้น
ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขอขอบพระคุณ นายประเสริฐ คะเลรัมย์ ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงประชาชน หมู่ 13 บ้านน้อยสุขเจริญ เป็นอย่างมากที่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล และทำการต้อนรับข้าพเจ้าเป็นอย่างดีตลอดการลงสำรวจพื้นที่