ID10 การจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างกลไกและการดำเนินการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ (กลุ่มเกษตรปลอดภัย)

ข้าพเจ้านางสาวศุภากร ทรงชัยยศ ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ตำบลกระสัง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์

สำหรับบทความประจำเดือนกรกฎาคม 2564 ขอนำเสนอเกี่ยวกับความรู้และทักษะที่ได้จากการจัดอบรมครั้งที่ 2 (ช่วงบ่าย) ซึ่งกลุ่มเกษตรปลอดภัยได้จัดกิจกรรมการอบรมภายใต้กิจกรรม “การจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างกลไกและการดำเนินการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ (กลุ่มเกษตรปลอดภัย)” ชื่อโครงการ ID๑๐ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามอัตลักษณ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน” ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (๑ ตำบล ๑ มหาวิทยาลัย)

        

          กิจกรรมการอบรมครั้งที่ 2 จัดอบรมและให้ความรู้ในหัวข้อเรื่อง “วิธีการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช” ในวันที่ 26 มิถุนายน 2564 ณ วัดทรงศิลา หมู่ 7 บ้านดอนหวาย ตำบลกระสัง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร 2 ท่าน คือ

  1. นายสุรพงษ์ ทองเชื้อ (ข้าราชการบำนาญ) อดีตอาจารย์ประจำคณะพืชศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์
  2. อาจารย์วงจันทร์ พูลเพิ่ม อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

การอบรมในช่วงบ่ายให้ผู้เข้าอบรมได้ลงมือปฏิบัติการผลิตสารชีวภาพและการทำอุปกรณ์ดักแมลงเพื่อใช้ในการป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูพืช โดยมีวัสดุ อุปกรณ์และขั้นตอนการทำ ดังนี้

การปฏิบัติการผลิตสารชีวภาพและอุปกรณ์ดักแมลงเพื่อใช้ในการป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูพืช

  1. การผลิตเชื้อราเขียวหรือไตรโคเดอร์มา มีดังนี้

วัสดุอุปกรณ์

  1. หัวเชื้อราไตรโคเดอร์มา (เชื้อเป็น) 2 ขวด
  2. หม้อหุงข้าวไฟฟ้า (5ลิตร) 1 ใบ
  3. ข้าวสาร (เก่าค้างปี) จำนวน 2 กิโลกรัม
  4. ถุงพลาสติกใส ขนาด 8×12 จำนวน 1 กิโลกรัม
  5. ยางวง 1 ถุง
  6. เข็มหมุด 1 กล่อง
  7. ตาชั่ง
  8. น้ำเปล่า

ขั้นตอนการทำ

  1. หุงข้าวตามสัดส่วน (ข้าว 3 ถ้วย/น้ำ 2 ถ้วย) ข้าวไม่สุกจนเกินไป (สุก ๆ ดิบ ๆ) และตักข้าวใส่ถุงพลาสติกใส ขนาด 8×12 ที่เตรียมไว้ ถุงละ 1 ทัพพี
  2. หยดหัวเชื้อไตรโคเดอร์มา ใส่ลงไปในถุงพลาสติกที่ตักข้าวไว้ 3-4 หยด (1กรัม/ถุง) แล้วใช้ยางวงรัดปากถุงไว้แน่น บีบข้าวในถุงเบา ๆ ให้เชื้อกระจายทั่วถุง
  3. นำเข็มหมุดมาเจาะรูบริเวณปากถุง เพื่อการระบายอากาศประมาณ 10 – 15 รู/ถุง รีดถุงข้าวให้แบนแล้วนำไปเก็บไว้ในที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่มีมดไรและอากาศไม่ร้อน โดยจะต้องไม่วางซ้อนกัน
  4. ผ่านไปสองวันจะมีเส้นใยสีขาวของเชื้อราเจริญอยู่ในถุง นำถุงข้าวมาขยำเล็กน้อยให้เส้นใยแตกออก แล้วนำไปวางที่เดิม
  5. 4 – 5 วันต่อมา เชื้อในถุงจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวสามารถนำไปใช้หรือเก็บไว้ในตู้เย็นได้
  6. การนำไปฉีดพ่นจะนำเชื้อรามาล้างกับน้ำสะอาด เอาสปอร์ของเชื้อราไปล้างจนขาวสะอาดและกรองเอาส่วนของข้าวทิ้งไป โดยการฉีดพ่นจะใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา 1 ลิตร ผสมกับน้ำ 200 ลิตร (ควรฉีดพ่นให้กับพืชหรือผักในช่วงเวลาก่อน 09:00 น. หรือ หลังจากเวลา 15:00 น.)

        

  1. การผลิตกับดักกาวเหนียว มีดังนี้

วัสดุอุปกรณ์

  1. ไม้ไผ่เหลา กว้างขนาด 2 เซนติเมตร ยาว 60 เซนติเมตร จำนวน 10–20 ท่อน
  2. มีดอีโต้ จำนวน 1 ด้าม
  3. ค้อน จำนวน 1 เต้า
  4. ลวด จำนวน 1 ขด
  5. แผ่นฟิวเจอร์บอร์ด (สีเหลือง) ขนาดเท่ากระดาษ A4 จำนวน 20 แผ่น
  6. ไม้พายเล็ก จำนวน 6 อัน
  7. กาวเหนียวสำหรับกำจัดแมลงศัตรูพืช ได้แก่ แทงเกิลฟุตไบโอกูล-ซี 1 กระปุก

ขั้นตอนการทำ

        

  1. นำไม้ไผ่ที่เตรียมไว้เสี้ยมโคนให้แหลม จากนั้นนำไปติดกับแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดสีเหลืองที่เตรียมไว้โดยใช้ลวดยึดแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดกับไม้ไผ่ให้แน่นตามจำนวนที่ต้องการ
  2. นำแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดที่เตรียมไว้ตามข้อ 1 จากนั้นใช้ไม้พายจุ่มกาวเหนียวแล้วนำมาทาให้รอบด้านทั้งหมดของแผ่นฟิวเจอร์บอร์ด
  3. นำกับดักสีเหลืองไปติดตั้งในแปลงปลูกพืชบริเวณที่ต้องการ โดยใช้ระยะห่าง 4 × 4 เมตร สูงจากพื้น 30 – 50 เซนติเมตร
  4. ช่วงอากาศหนาวการระบาดของแมลงน้อยอาจติดกับดักกาวเหนียวสีเหลืองไว้ประมาณ 15-20 อัน/พื้นที่ 1 ไร่ แต่ในฤดูร้อนและฤดูฝนแมลงระบาดมากอาจต้องใช้กับดักประมาณ 60-80 อัน/พื้นที่ 1 ไร่
  5. หลังจากเทหรือป้ายกาวเหนียวในหนึ่งครั้งจะอยู่ได้นาน 10-15 วัน หลังจากนั้นจึงทาหรือป้ายกาวเหนียวใหม่อีกครั้ง โดยจะต้องทำความสะอาดแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดด้วยวิธีการล้างแมลงศัตรูพืชที่ติดกาวเหนียว โดยให้ใช้น้ำมันเบนซินล้างหลังจากนั้นทำความสะอาดด้วยผงซักฟอก

         

          หลังจากที่ให้ผู้เข้าร่วมอบรมลงมือปฏิบัติการผลิตสารชีวภาพและอุปกรณ์ดักแมลงเพื่อใช้ในการป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูพืชเรียบร้อยแล้ว ในช่วงต่อมาได้มีการลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมแปลงผักและสาธิตการใช้กับดักกาวเหนียวให้กับกลุ่มผู้เข้าร่วมอบรม ได้ทำการสาธิต ณ แปลงปลูกผักของ นางหลัน โขงรัมย์ หลังจากทำการสาธิตการใช้กับดักกาวเหนียวได้มีการทำแปลงเกษตรแบบเขตกรรมโดยท่านวิทยากรอีกด้วย

     

      

          ขั้นตอนการทำแปลงเกษตรแบบเขตกรรม มีวิธีดังนี้

  1. ทำการขุดดินเป็นหลุมลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความลึกประมาณ 30 เซนติเมตร ความกว้างและความยาวตามความต้องการ
  2. เมื่อทำการขุดดินตามข้อที่ 1. เรียบร้อยแล้ว นำปุ๋ยหมักแห้งที่หมักเตรียมไว้ (ปุ๋ยหมักแห้งทำการหมักไว้ในช่วงการอบรมครั้งที่ 1 ซึ่งวิธีการทำอยู่ในบทความเดือนมิถุนายน) มาเทใส่ให้ทั่วหลุมที่ขุดไว้จากนั้นนำดินกลบหลุมให้เรียบร้อย
  3. หลังจากกลบหลุมตามข้อที่ 2. เรียบร้อยแล้วให้นำเอาฟางแห้งหรือหญ้าแห้ง มาวางบนหลุมที่ทำการกลบแล้วนำบัวรดน้ำมารดให้ดินชุ่ม หลังจากนั้นประมาณ 7 วัน จึงจะสามารถนำพืชผักมาลงแปลงผักได้

              

   

          เขตกรรม หมายถึง การปรับปรุงดิน น้ำ อากาศ แสงแดด สภาพแวดล้อม ให้มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช การบำรุงให้พืชมีความสมบูรณ์อยู่เสมอจะทำให้พืชมีความแข็งแรงทนทานต่อการเข้าทำลายของโรคและแมลงศัตรูพืชได้ (ที่มา : www.gotoknow.org)

          เขตกรรม หมายถึง แนวทางสำคัญในการป้องกันศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพเพราะเป็นการจัดการระบบการเพาะปลูกที่สร้างเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช โดยอาจเป็นการจัดการระบบการเพาะปลูกทั้งในเชิงของพื้นที่หรือเวลาที่มีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของศัตรูพืช-ศัตรูธรรมชาติ ปรับเปลี่ยนร่มเงาและสภาพภูมิอากาศย่อยในระดับฟาร์มหรือปรับเปลี่ยนเงื่อนไขของการระบาดของโรคและแมลง แนวทางของการเขตกรรมที่ดีอาจเป็นการปลูกพืชที่หลากหลาย การปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกพืชร่วม การปลูกพืชในเวลาที่เหมาะสมและการปลูกพืชไล่และล่อแมลง เป็นต้น (ที่มา : www.greennet.or.th)

ดูความหมายจากแหล่งข้อมูลที่ได้มา ทำให้สรุปได้ว่า การเขตกรรม เป็นการจัดการพื้นที่ทางการเกษตร โดยมีวิธีการต่าง ๆ ที่ทำให้พื้นที่การเกษตรมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิดและลดการระบาดของแมลงศัตรูพืชและให้พืชมีการเจริญเติบโตได้ดี

ลิงก์สำหรับทำแบบทดสอบ https://forms.gle/JnZmTHwarcwSphWo7

อื่นๆ

เมนู