ข้าพเจ้านางสาวศุภากร ทรงชัยยศ ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ตำบลกระสัง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

สำหรับบทความในเดือนพฤษภาคม ข้าพเจ้าและทีมงานเขียนบทความในหัวข้อเกี่ยวกับการสัมภาษณ์เกษตรกรในชุมชนตำบลกระสัง เพื่อทราบถึงประวัติโดยย่อของเกษตรกรในชุมชนเบื้องต้น

“ เริ่มต้นการสัมภาษณ์การทำเกษตรของ คุณถาวร พรมหงษ์ ”

  1. ประวัติเบื้องต้นของเกษตรกร

ชื่อเกษตรกร นางถาวร พรมหงษ์ อายุ 48 ปี อาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 101 หมู่ 7 บ้านดอนหวาย ตำบลกระสัง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งก่อนที่พี่ถาวรจะมาทำการเกษตรเมื่อก่อนพี่ถาวรเคยเป็นลูกจ้างทำงานที่โรงงานเย็บผ้าแห่งหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์แต่เนื่องจากงานค่อนข้างหนักและรายได้ไม่พอใช้ต่อครอบครัวจึงได้ลาออกจากงานประจำและมาประกอบอาชีพเกษตรกร โดยมีที่ดินทำกินทั้งหมด 10 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 2 ไร่ เพราะพี่ถาวรเห็นว่าตนเองมีที่ดินพอสำหรับการทำเกษตร และสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินทำกินของตนเองได้จึงเริ่มทำการเกษตรปลูกพืชผักตั้งแต่พี่ถาวรมีอายุ 22 ปี ซึ่งรวม ๆ แล้ว พี่ถาวรทำอาชีพเกษตรกรมาทั้งสิ้น 26 ปีแล้ว เรียกได้ว่าทำการเกษตรมามากกว่าครึ่งชีวิตแล้วก็ว่าได้ค่ะ

                     

  1. พี่ถาวรปลูกพืชผักอะไรบ้าง?

พี่ถาวรปลูกพืชผักค่อนข้างหลากหลายชนิด เช่น พริกซุปเปอร์ฮอท โหระพา มะเขือพวง มะเขือยาว มะนาว กะเพรา ผักชี นางลัก ผักบุ้ง ต้นหอม คะน้าและผักกระเฉดน้ำ เป็นต้น ซึ่งพืชผักแต่ละชนิดก็จะหมุนเวียนปลูกกันตามฤดูกาลไปเรื่อย ๆ อย่างเช่นการปลูกผักกระเฉดน้ำจะเริ่มปลูกในช่วงหน้าหนาว ประมาณเดือนมกราคม – เดือนมีนาคม โดยจะเริ่มปลูกผักกระเฉดในสระน้ำที่แห้งแล้วปล่อยให้ผักกระเฉดจับตัวกับดินก่อน พอเข้าสู่ช่วงหน้าร้อนประมาณเดือนเมษายนจะเริ่มปล่อยน้ำลงสระทำให้ผักกระเฉดเจริญเติบโตได้เร็วขึ้นและออกผลผลิตตลอดสามารถเก็บเกี่ยวขายได้ทุกวัน นอกจากการปลูกพืชผักแล้วพี่ถาวรยังเลี้ยงสัตว์อีกด้วย เช่น วัวพันธุ์ สุกร ปลานิล ปลาช่อน และหอยเชอรี่ เป็นต้น

                                   

  1. เป็นการทำการเกษตรแบบไหน?

เป็นการทำเกษตรแบบผสมผสาน เพราะว่าพี่ถาวรมีการเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชไปพร้อม ๆ กัน สามารถนำมูลสัตว์มาใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชผักได้ และสามารถนำพืชผักไปใช้ประโยชน์กับสัตว์ได้เช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นการเกื้อกูลประโยชน์ต่อกันและกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยหลักการอยู่รวมกันระหว่างพืชและสัตว์นั่นเอง

“เกล็ดความรู้”

ระบบเกษตรแบบผสมผสาน (Integrated Farming System) หมายถึง เป็นระบบการเกษตรที่มีการเพาะปลูกพืชหรือการเลี้ยงสัตว์ต่างชนิดอยู่ในพื้นที่เดียวกันภายใต้การเกื้อกูลประโยชน์ต่อกันและกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยอาศัยหลักการอยู่รวมกันระหว่างพืชและสัตว์ การอยู่รวมกันอาจจะอยู่ในรูปความสัมพันธ์ระหว่างพืชกับพืช พืชกับสัตว์ หรือสัตว์กับสัตว์ก็ได้ ตัวอย่างเช่น การเลี้ยงไก่หรือสุกรบนบ่อปลา การเลี้ยงปลาในนาข้าว การเลี้ยงผึ้งในสวนผลไม้ เป็นต้น (https://sites/prawati-khwam-pen-ma)

           

 

  1. ทำไมถึงเลือกที่จะทำเกษตรแบบผสมผสาน?

พี่ถาวรให้ความเห็นว่าที่เลือกทำการเกษตรแบบผสมผสานเพราะว่าพี่ถาวรมีที่ดินทำกินที่ค่อนข้างมากและไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร เลยทำการจัดสรรที่ดินให้เกิดประโยชน์มากที่สุดและไม่ทำให้ตัวเองเหนื่อยเกินไป จึงมีการแบ่งที่ดินเพื่อเลี้ยงสัตว์และปลูกพืช ซึ่งก็เป็นผลดีเนื่องจากทั้งสองอย่างสามารถใช้ประโยชน์จากกันและกันได้ สามารถนำมูลวัวไปเป็นปุ๋ยในการปลูกพืชผัก สามารถนำเศษพืชผักไปเป็นอาหารให้สุกรและวัวได้ ทำให้ประหยัดต้นทุนในการซื้อปุ๋ยและอาหารให้สัตว์

  1. แสดงว่าในการทำการเกษตรพี่ถาวรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ใช่ไหม?

การทำการเกษตรของพี่ถาวรจะใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ แต่สัดส่วนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์จะมากกว่าการใช้ปุ๋ยเคมี เพราะการใช้ปุ๋ยเคมีพี่ถาวรจะใช้เมื่อเริ่มปลูกพืชผักในช่วงแรก ๆ เท่านั้น หลังจากนั้นเมื่อพืชโตจนถึงช่วงของการเก็บเกี่ยวจะไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ (มูลวัว) แทนหรือที่เรียกกันว่าเป็นการปลูกผักแบบปลอดสารพิษนั่นเอง

  1. มีวิธีการจัดการศัตรูพืชอย่างไรบ้าง?

สำหรับสวนเกษตรของพี่ถาวรไม่ค่อยพบปัญหาเรื่องของวัชพืชและศัตรูพืชมากนัก ถ้าเจอปัญหาก็จะเป็นในเรื่องของหญ้าที่ขึ้นแทรกระหว่างต้นพืชที่ปลูกก็จะใช้วิธีการถอนหญ้าและตัดหญ้าเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเรื่องของหนอนหรือแมลงไม่ค่อยเป็นปัญหาเลยปล่อยไปตามธรรมชาติ

  1. นำผลผลิตไปจำหน่ายที่ไหนบ้างและช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดส่งผลกระทบมาก-น้อยแค่ไหน?

พี่ถาวรจะขายส่งให้กับพ่อค้า-แม่ค้าที่ตลาดไนท์บาร์ซ่า จังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งเป็นลูกค้าประจำ และนำไปขายเองที่ตลาดสดตอนเช้าหน้าวัดกลาง พระอารามหลวง จังหวัดบุรีรัมย์ แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เกิดการแพร่เชื้อระลอกใหม่จึงทำให้ตลาดโดนสั่งงดขายชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเพื่อเป็นการลดการแพร่ระบาดของเชื้อตามนโยบายของรัฐบาล จึงทำให้ได้รับผลกระทบในเรื่องของรายได้ลดลงค่อนข้างมาก

               

  1. ความคุ้มทุนในการทำการเกษตร

ถามถึงความคุ้มทุนก็มีความคุ้มทุนอยู่แต่ก็ไม่ได้มีกำไรมากเพราะการทำเกษตรไม่ใช่ว่าจะลงทุนแค่ครั้งเดียวแล้วจบแต่ต้องลงทุนอยู่ตลอด มีทั้งค่าปุ๋ยที่มีราคาค่อนข้างสูง ค่าเมล็ดพันธุ์ที่ต้องเปลี่ยนชนิดของพืชผักตามฤดูกาล แต่พี่ถาวรทำเกษตรเองปลูกเอง เก็บเกี่ยวเองและจำหน่ายเอง จึงทำให้สามารถประหยัดต้นทุนในส่วนของการจ้างแรงงานไปได้เยอะเลยทีเดียว

  1. ข้อดี – ข้อเสียของการทำการเกษตร

ข้อดี    1. ช่วยให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

  1. ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงเพราะเหมือนได้ออกกำลังการในทุก ๆ วัน
  2. สามารถนำผลผลิตที่ได้มาบริโภคเองในครัวเรือนช่วยให้ประหยัดเงินได้
  3. ได้ใช้พื้นที่ทำกินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์
  4. เป็นอิสระไม่ต้องเป็นลูกน้องใคร
  5. ได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวไม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน

ข้อเสีย 1. เหนื่อย เนื่องจากทำงานคนเดียว

  1. ต้นทุนค่อนข้างสูง เพราะราคาปุ๋ยค่อนข้างแพง

 10. เป้าหมายและแผนพัฒนาในการทำเกษตรของพี่ถาวรคืออะไร?

เป้าหมายคืออยากขยายพื้นที่ทำการเกษตรให้มากขึ้นจากเดิมแบ่งพื้นที่ทำการเกษตร 2 ไร่ ก็อยากจะเพิ่มเป็น 3-4 ไร่ ถ้ามีกำลังกายและกำลังทุนในการทำและอยากพัฒนาพื้นที่เกษตรของตนเองเป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตรที่สามารถให้ความรู้กับเด็กรุ่นใหม่ สามารถมาดูงานและได้ความรู้กลับไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป

จากบทสัมภาษณ์เราได้เห็นเป้าหมายและแผนการพัฒนาการทำเกษตรของพี่ถาวรแล้วทำให้รู้ว่าพี่ถาวรรักในอาชีพเกษตรกรเป็นอย่างมาก และพร้อมที่จะแบ่งปันความรู้ทางด้านการเกษตรที่มีให้กับคนรุ่นหลัง ๆ ที่สนใจในเรื่องของการเกษตรเช่นเดียวกันกับพี่ถาวร พวกเราทีมงานจะขอเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เป้าหมายและแผนการพัฒนาการเกษตรของพี่ถาวรเป็นไปอย่างที่หวังไว้ค่ะ

สุดท้ายนี้ขอขอบพระคุณพี่ถาวร พรมหงษ์ ผู้ให้ข้อมูลเพื่อให้บทสัมภาษณ์นี้เสร็จสมบูรณ์และขอบคุณน้องปันปัน หลานสาวคนสวยของพี่ถาวรที่พาชมสวนด้วยนะคะ 🙂

                  

 

ลิงก์สำหรับทำแบบฝึกหัด https://forms.gle/aHrartmXzysaASaL7

อื่นๆ

เมนู