หากมองย้อนไปถึงอดีตกาล งานประเพณีแห่เทียนพรรษาของชาวประโคนชัยถือเป็นงานรื่นเริง สนุกสนาน สร้างความสามัคคีในชุมชน โดยอาศัยความร่วมมือของคนในชุมชน 6 คุ้มวัด ได้แก่ วัดกลาง วัดแจ้ง วัดโคน วัดจำปา วัดโพธิ์ และวัดชัยมงคล ที่ได้ร่วมแกะสลักต้นเทียนและขบวนแห่เทียนพรรษาของตนเอง ในยุคแรกของการรังสรรค์เทียนพรรษาของช่างฝีมือชาวประโคนชัยจะถ่ายทอดออกมาผ่านลวดลายบนไม้ของ “ต้นกัวล” ในภาษาพื้นบ้าน หรือที่เรารู้จักกันคือต้นนุ่นนั่นเอง เนื่องจากเป็นไม้เนื้ออ่อนและเบาจึงสามารถทำการสลักเสลาไม้แทนต้นเทียนพรรษาและประดับประดาด้วยกระดาษหลากสีให้สวยงาม
ปัจจุบันวิวัฒนาการของการทำเทียนได้กลายมาเป็นเทียนพรรษาที่หล่อหลอมจากขี้ผึ้งทุกขั้นตอน โดยเป็นการร่วมมือกันในชุมชน หากได้เข้าไปสัมผัสแล้วจะรู้สึกได้ถึงความอบอุ่นในการช่วยเหลือเกื้อกูลและร่วมไม้ร่วมมือกัน จะเห็นภาพของเด็กตัวเล็ก ๆ เห็นผู้ใหญ่วัยทำงาน หรือแม้แต่ผู้สูงอายุที่สั่งสมประสบการณ์มายาวนาน สนุกสนานกับการช่วยกันทำเทียน และงานประเพณีแห่เทียนพรรษาที่ประโคนชัยติด 1 ใน 3 ของประเทศไทย ซึ่งมีนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดหรือชาวต่างชาติให้ความสนใจเป็นอย่างมากเพราะมีขบวนแห่เทียนที่สวยงามตระการตา
จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ไม่มีการจัดงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาในปีนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายมากที่ไม่ได้ชื่นชมฝีมืออันวิจิตรของช่างฝีมือและการมีส่วนร่วมของชาวประโคนชัยในการแกะสลักเทียน ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าปีหน้าจะได้ไปเที่ยวและชมความอลังการของประเพณีแห่เทียนพรรษาประโคนชัย
ภาพบรรยากาศประเพณีแห่เทียนพรรษาประโคนชัย