ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์

ประวัติพันธุ์

“เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม เลิศล้ำเมืองกีฬา” คําขวัญจังหวัดบุรีรัมย์ที่สะท้อนถึงภูมิประเทศของจังหวัดบุรีรัมย์ที่มีภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้วมากที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ ภูเขาไฟพนมรุ้ง ภูเขาไฟอังคาร ภูเขาไฟปลายบัด ภูเขาไฟคอก ภูเขาไฟหลุบ และภูเขาไฟกระโดง การสลายตัวของหินภูเขาไฟเป็นต้นกําเนิดของชุดดินภูเขาไฟ กลุ่มชุดดินที่ 1 และ กลุ่มชุดดินที่ 28 ทําให้ภูมิศาสตร์ดังกล่าวของบุรีรัมย์เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพ มีกลิ่นหอมเหนียวนุ่มไม่แฉะไม่แข็งกระด้าง และจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันประชาชนในจังหวัดบุรีรัมย์ได้มีการสืบสานบุญประเพณีข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟ เรียกว่าประเพณีบุญกุ้มข้าวใหญ่เพื่อเป็นการสํานึกในบุญคุณของข้าวที่หล่อเลี้ยงชีวิตทุกคน และเป็นการแสดงออกถึงพลังความร่วมแรงร่วมใจของชุมชนเพื่อสืบทอดจิตวิญญาณของชาวนาซึ่งถือปฏิบัติร่วมกันหลัง การเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ

ในปี พ.ศ. 2524 เกษตรอําเภอประโคนชัยได้เล็งเห็นถึงปัญหาของการเก็บรักษาพันธุ์ข้าวของเกษตรกรที่ยังขาดความรู้ในเรื่องการผลิตข้าวให้มีคุณภาพ จึงได้ศึกษาวิธีการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตข้าวให้มีคุณภาพเพื่อเป็นขวัญและกําลังใจให้เกษตรกร โดยจัดการประกวดข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟทุกปี ซึ่งข้าวหอมมะลิที่ชนะการประกวด ส่วนใหญ่มาจากข้าวที่ปลูกในพื้นที่ดินภูเขาไฟทําให้ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟเป็นที่รู้จักนับแต่นั้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะประจำพันธุ์

ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ (Kaow Hom Mali Din Phu Kao Fai Buriram Rice) หมายถึง ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวขาว ที่แปรรูปมาจากข้าวหอมมะลิพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข 15 ปลูกในฤดูนาปีบนพื้นที่ที่มีแร่ธาตุจากดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ ทําให้เมล็ดข้าวเรียวยาว เลื่อมมัน มีท้องไข่น้อย เมื่อหุงสุกจะเหนียวนุ่มไม่แข็งกระด้าง ครอบคลุมพื้นที่ 7 อําเภอ ของจังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ อําเภอเมืองบุรีรัมย์ อําเภอละหานทราย อําเภอเฉลิมพระเกียรติ อําเภอห้วยราช อําเภอประโคนชัย อําเภอปะคํา และอําเภอนางรอง

ความสัมพันธ์กับแหล่งภูมิศาสตร์

ลักษณะภูมิประเทศ จังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ระหว่างเส้นรุ้งที่ 102 องศา 15 ลิปดาตะวันออก กับ 103 องศา 30 ลิปดาตะวันออก และระหว่างเส้นแวงที่ 14 องศา 15 ลิปดาเหนือ กับ 15 องศา 45 ลิปดาเหนือ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบสูงลาดจากทิศใต้ลงไปทางทิศเหนือ พื้นที่มี ลักษณะเป็นลูกคลื่น เป็นที่ราบขั้นบันได และช่องเขาที่เกิดจากภูเขาไฟเมื่อประมาณเก้าแสนถึงหนึ่งล้านปี เศษ ทําให้จังหวัดบุรีรัมย์มีลักษณะภูมิประเทศที่สําคัญ 3 ลักษณะ คือ ทางตอนใต้เป็นพื้นที่สูงและภูเขาซึ่ง พื้นที่เป็นลอนลึก ภูเขาและช่องเขาบริเวณเทือกเขาพนมดงรักมีความสูงตั้งแต่ 200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 25 ของพื้นที่จังหวัด ตอนกลางเป็นพื้นที่ลูกคลื่นลอนตื้นความสูงตั้งแต่ 150 – 20 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่จะทอดขนานเป็นแนวยาวทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ครอบคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 60 ของพื้นที่จังหวัด และตอนเหนือเป็นพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำมูล

ลักษณะของพื้นที่ จัดว่าเป็นแบบมรสุมเขตร้อน มีช่วงฝนตกสลับกับช่วงอากาศแห้งแล้งซึ่งแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม อากาศร้อนอบอ้าว บางช่วงส่งผลให้เกิดความแห้งแล้ง ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน – กันยายน ปริมาณน้ำฝนไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับอิทธิพลของลมมรสุมและลมพายุดีเปรสชั่นในทะเลจีนใต้ มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,200 มิลลิเมตร ต่อปี ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม – มกราคม ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและ ร่องความกดอากาศต่ำจากประเทศจีน อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 12.8 องศาเซลเซียส
คุณค่าทางโภชนาการ

ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ มีปริมาณสารสำคัญที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างน้อย 2 ชนิด สูงกว่าข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่อื่น ๆ คือ ฟอสฟอรัส และแคลเซียม (สูงกว่าข้าวหอมมะลิทั่วไปประมาณ 109-226% และ 65-149% ตามลำดับ)

อื่นๆ

เมนู