เรามาทำความรู้จักประวัติความเป็นมาของขนมกระยาสารทประโคนชัยกันดีกว่า เริ่มกันเล้ยยย…..
กระยาสารท เป็นขนมไทยแต่โบราณ เมื่อถึงเทศกาลสารทของไทย ซึ่งจัดขึ้นในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 มีการทำบุญตักบาตรพระด้วยกระยาสารทและกล้วยไข่ เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณ กระยาสารทมีส่วนผสมของข้าวตอก ถั่ว งา มะพร้าวและน้ำตาล เนื่องจากกระยาสารทมีรสหวานจัด จึงควรรับประทานกับกล้วยไข่ ส่วนที่เหลือจากการทำบุญชาวบ้าน จะนำมาแลกเปลี่ยนกันซึ่งจะสุกในหน้าเทศกาลสารทไทยพอดี ในการนำกระยาสารทใส่บาตรถวายพระ จึงถวายกล้วยไข่ ควบคู่ ไปด้วย พระจะฉันเป็นของหวาน
กระยาสารทประโคนชัย กับประเพณี” เบ็นตู๊จ(สารทเล็ก )”
ประวัติและความหมาย ประเพณี ทำบุญกลางเดือน 10 หรือประเพณีสารทของกลุ่มวัฒนธรรมเขมรในเขตจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์ นั้นมีประเพณีทำบุญวันสารทเช่นเดียวกันกับกลุ่มวัฒนธรรมใน ภูมิภาคอื่นๆ แต่มีจุดประสงค์ที่จะทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วโดย เรียกว่า “แซนโดนตา” ( แซน-เซ่นสรวง, โดน-โคตรเง่า, ตา-ตา ) ส่วนประเพณีแซนโดนตาจะเรียกสารทเล็กว่า “เบ็นตูจ” เรียกสารทใหญ่ว่า “เบ็นทม” คำว่า “เบ็น” มาจากภาษาบาลีว่า “บิณฑะ” แปลว่า ก้อนข้าว ตูจ แปลว่า เล็ก ทม แปลว่า ใหญ่ ก็คือการทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ หรือการเซ่นผีปู่ย่าตายาย ของชาวเขมรที่ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่วงศาคณาญาติที่ล่วงลับไปแล้วได้แบ่งออกเป็นวันเบ็นตูจ และวันเบ็นทม คือ สารทเล็ก และสารทใหญ่
เมื่อก่อนถ้าถึงงานบุญสารทเล็ก เบ็นตู๊จ ชาวบ้านจะมีการรวมหมู่ญาติมิตร จัดกิจกรรมกวนกระยาสารท เพื่อทำบุญสารท และแบ่งปันกันกินในหมู่ญาติมิตร และแจกจ่ายบ้านใกล้เรือนเคียง ในปัจจุบันกระยาสารทหาทานได้ง่ายในประโคนชัย ไม่ต้องเตรียมเครื่องทำหาให้ยุ่งยาก แค่เข้ามาในถนนสายของฝาก ก็สามารถซื้อหากระยาสารทไปทำบุญ หรือซื้อไว้ทานเล่นและเป็นของฝากได้อย่างดี เป็นของขึ้นชื่อของชาวประโคนชัยอีกอย่างหนึ่งด้วย
สุดท้ายนี้ขอฝากให้ทุกๆท่านที่ได้ผ่านมาเข้าในอำเภอประโคนชัย ช่วยกันอุดหนุนขนมกระยาสารทตำบลประโคนชัยกันเยอะๆนะคะ
ขอบคุณรูปภาพจากร้านกระยาสารทแม่ถนอม