ชื่อบทความ : กองทุนชุมชน
สถานที่ : สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
เจ้าของบทความ : นางสาวศศิวัลย์ รัตน์ประโคน
กองทุนชุมชน หมายถึง กลุ่ม กองทุน และองค์กรการเงินในชุมชนที่ประชาชนจัดตั้งขึ้นเองและสนับสนุนโดยภาครัฐ เพื่อส่งเสริม พัฒนาให้สมาชิกและคนในชุมชนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนในการประกอบอาชีพก่อให้เกิดรายได้และสวัสดิการชุมชน ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตให้พึ่งพาตนเองได้ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
บทบาทหน้าที่ของคณะทำงานจัดการกองทุนชุมชน
(1) สำรวจข้อมูลกองทุนชุมชนในหมู่บ้าน/ชุมชน และจัดทำฐานข้อมูลกองทุนชุมชนให้ครบถ้วนถูกต้องเป็นปัจจุบัน
(2) ประสานงานและบูรณาการการทำงานร่วมกันของกองทุนชุมชนในหมู่บ้าน
(3) ส่งเสริมและสนับสนุนในครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งทุนจากกองทุนชุมชน
(4) ส่งเสริมการฝึกอาชีพและสนับสนุนเงินทุนในการประกอบอาชีพให้ครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย
(5) สนับสนุนและพัฒนาอาชีพของครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยให้มีการทำงานในรูปแบบกลุ่มอาชีพและส่งเสริมช่องทางการตลาด
(6) ติดตามการใช้ประโยชน์เงินทุนของครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับจากกองทุนชุมชนในหมู่บ้าน
(7) รายงานผลการดำเนินงานให้อำเภอทราบ
องค์ประกอบการบริหารจัดการกองทุนชุมชน
- กลุ่ม/กองทุนชุมชน
(1) กลุ่ม/กองทุนชุมชน ที่ภาครัฐสนับสนุนเงินกองทุน เช่น โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และกองทุนสวัสดิการต่างๆ
(2) กลุ่ม/กองทุนชุมชน ที่ประชาชนจัดตั้งเอง โดยภาครัฐไม่ได้สนับสนุนเงินทุนในการจัดตั้งกองทุน เช่น กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์
- กลไกการขับเคลื่อน
(1) กลุ่ม/องค์กร เครือข่ายภาคประชาชน เช่นคณะทำงานจัดการกองทุนชุมชน คณะกรรมการศูนย์จัดการกองทุนชุมชนคณะกรรมการกลุ่ม/กองทุนชุมชนคณะกรรมการหมู่บ้าน คณะทำงานเฉพาะกิจ
- กลุ่มเป้าหมาย
(1) สมาชิกกลุ่ม/กองทุนชุมชน
(2) คนในชุมชน (ผู้มีรายได้น้อย)
- กระบวนการขับเคลื่อนการดำเนินงานกองทุนชุมชนหนุนเสริมอาชีพผู้มีรายได้น้อย
- ผลสัมฤทธิ์
สมาชิกและผู้มีรายได้น้อยมีอาชีพและมีรายได้เพิ่มขึ้น มีหนี้สินลดลง มีเงินออมเป็นหลักประกัน สร้างความมั่นคงทางการเงินและได้รับสวัสดิการอย่างทั่วถึง
***ผู้มีรายได้น้อย หมายถึง ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยในหมู่บ้านเป้าหมายพื้นที่ จากข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ปี 2560 ดังนี้
(1) ครัวเรือนในหมู่บ้านที่ไม่ผ่านเกณฑ์รายได้เฉลี่ยคนละ 38,000 บาทต่อปี
(2) ครัวเรือนในหมู่บ้านที่ไม่ผ่านเกณฑ์รายได้เฉลี่ยระหว่าง 38,001 -79,200 บาทต่อคนต่อปี (79,200 บาท คิดจากฐานค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท x 22 วัน เฉลี่ยวันที่ทำงานใน 1 เดือน x 12 เดือน)
(3) ครัวเรื่อนในหมู่บ้านที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ผู้มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี)
แหล่งที่มา : สำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย