ทรัพยากรน้ำ ในประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น มีทรัพยากรน้ำมากมายแต่ขีดความสามารถในการจัดการน้ำโดยรวมของประเทศยังไม่ดีนัก เราจึงมีทั้งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเน่าเสียอยู่ตลอดทั้งปี ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณไปเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่หน้าสนใจมากกว่าการใช้การจัดการน้ำที่ใช้ในปัจจุบัน กลับเป็นเรื่องของวิถีการจัดการน้ำแบบศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาของคนเล็กคนน้อยในระดับชุมชนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นระบบเหมืองฝาย ฝายแม้ว ฝายชะลอน้ำ ฝายมีชีวิต เขื่อนกั้นน้ำ โคกหนองนาโมเดล บึงรับน้ำ แก้มลิง บ่อเก็บน้ำในแปลงเกษตรแบบหลุมขนมครก หรืแม้แต่ธนาคารน้ำใต้ดิน ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายปัจจุบัน
ธนาคารน้ำใต้ดิน คือ การนำน้ำไปเก็บที่ชั้นใต้ดินในชั้นหินอุ้มน้ำ ในช่วงหน้าฝนที่มีน้ำมาก ธนาคารน้ำใต้ดินจะช่วยดูดซับน้ำเพื่อนำไปกักเก็บไว้ เมื่อถึงช่วงหน้าแล้งก็สามารถสูบน้ำมาใช้ได้ ธนาคารน้ำใต้ดินที่นิยมทำกันอยู่ มี 2 ประเภท คือธนาคารน้ำใต้ดิน “ระบบปิด” และธนาคารน้ำใต้ดิน “ ระบบเปิด” กล่าวกันว่าหากทำธนาคารน้ำใต้ดินทั้ง 2 ประเภทควบคู่ไปด้วยกัน จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยหลักการ เป็นการขุดบ่อ เจาะท่อ เพื่อส่งน้ำลงไปเก็บไว้ที่ชั้นน้ำบาดาล ขนาดและความลึกของบ่อขึ้นอยู่กับสภาพและชั้นดินของแต่ละพื้นที่ วิธีการชาวบ้านจะขุดบ่อให้ลึกถึงชั้นหินอุ้มน้ำ จากนั้นใส่ยางรถยนต์เพื่อป้องกันขอบบ่อพังทลาย ใส่วัสดุที่หาได้ในพื้นที่ เช่น อิฐหิน เศษปูน ขวดน้ำ ท่อนไม้ ใส่ให้เต็มช่องว่างด้านนอกยางรถยนต์ และนำท่อ PVC มาวางตรงกลางบ่อเพื่อเป็นช่องระบายอากาศ จากนั้นจึงนำวัสดุชนิดเดียวกันมาใส่ช่องว่างด้านในให้เต็ม คลุมด้วยผ้าไนล่อน แล้วทับด้วยก้อนหินและตามด้วยหินละเอียด เพื่อเป็นตัวกรองให้เศษดินหรือขยะไม่ให้เข้าไปอุดตันในบ่อ เมื่อฝนตกลงมา น้ำจะไหลจากผิวดินลงสู่ชั้นใต้ดินโดยตรง ผ่านระบบธนาคารน้ำใต้ดินนี้ น้ำที่ถูกเติมลงในชั้นหินอุ้มน้ำจนปริมาณมากพอ ก็จะเอ่อล้นขึ้นมาที่บ่อโดยอัตโนมัติ เกษตรกรสามารถสูบน้ำจากบ่อนี้มาใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องขุดเจาะหาแหล่งน้ำหรือสูบน้ำจากแหล่งน้ำห่างไกล ประหยัดพลังงาน ช่วยลดค่าใช้จ่าย จากหลักการที่กล่าวมาแล้วข้างต้นทำให้ คณะทำงานในโครงการยกระดับเศรษฐกิจ สังคม แบบบูรณาการ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ ทำธนาคารน้ำใต้ดิน ในหมู่บ้านปทุมเมฆ หมู่15 ตำบลบ้านปรือ อ. กระสัง จ.บุรีรัมย์ โดยเริ่มทำโครงการเป็นตัวอย่างและให้ความรู้กับประชาชนในช่วงเดือนสิงหาคม วิธีการโดยการคัดเลือกจากชาวบ้านที่มีความสนใจในการทำธนาคารน้ำใต้ดินเป็นแกนนำ คณะทำงานในโครงการได้สาธิตการขุดหลุมและ จัดหาอุปกรณ์ต่างๆในการจัดทำหลุมตัวอย่างสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ได้รับความสนใจจากชาวบ้านในชุมชนเป็นอย่างมาก และในเดือนต่อๆไป คณะทำงานจะดำเนินการจัดทำธนาคารใต้ดินให้ครบตามจำนวนที่ได้วางเป้าหมายไว้
จากประสบการณ์ของชาวบ้านเขาพบประโยชน์มากมายทั้งๆที่ลงทุนน้อยมาก กล่าวคือมันสามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังเพราะทำให้น้ำซึมลงใต้ดินได้ดีขึ้น ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งเพราะสามารถสูบน้ำจากธนาคารน้ำใต้ดินมาใช้ได้ตลอดเวลา แนวทางของวิถีการจัดการน้ำแบบศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาของคนเล็กคนน้อยในระดับชุมชนท้องถิ่น สามารถเป็นต้นแบบ และแก้ปัญหาในชุมชนที่ตัวเองอาศัยอยู่ได้ดีที่สุด