ข้าพเจ้า นางสาว วันดี โคมารัมย์ ประเภท บัณฑิตจบใหม่ ต.ลำดวน อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์

MS02 : การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนและการกระจายรายได้ในตำบลลำดวน อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ มีอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร ได้แก่ อาจารย์ปิติวรรณ ฝ้ายโคกสูง อาจารย์วณิชา แผลงรักษา อาจารย์ปัทมาวดี วงษ์เกิด และดร.วิษณุ  ปัญญายงค์

สำหรับการปฏิบัติงานลงพื้นที่ดำเนินโครงการประจำเดือน กันยายน

ข้าพเจ้าและทีมงานได้ลงสำรวจชุมชนตำบลลำดวนมีประเพณี ตามความเชื่อมายาวนาน ซึ่งในแต่ละเดือนจะมีประเพณีต่างๆ ดังนี้

  • เดือน 1 แข เมียก  : เล่นแม่มด, เล่นบังบ็อด
  • เดือน 2 แขเยเบาะ : –
  • เดือน 3 แข เมียกทม  : แซนเนี่ยะตา
  • เดือน 4 แข ประกุน : นิยมแต่งงาน
  • เดือน 5 แข แจด : เล่นตรุษ วันขึ้นปีใหม่
  • เดือน 6 แข ปิสาข : แซนเนี่ยะตา(นิยมบวชลูกหลาน)
  • เดือน 7 แข เจส : ฤดูไถว่าน ปลูกข้าว
  • เดือน 8 แข อาสาท : เข้าพรรษา ทำบุญ
  • เดือน 9 แข สราย : ฤดูกาลทำนา
  • เดือน 10 แข พอระบ็อท : บุญเดือน 10 (ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย)
  • เดือน 11 แข อาสุจ : บุญออกพรรษา ตักบาตเทโว
  • เดือน 12 แข กระเดิก: บุญลอยประทีป, ลอยกระทง

ข้าพเจ้าได้ยกตัวอย่างประเพณีมา 1 ประเพณี คือ ประเพณีแซนโฎนตา เป็นประเพณีหนึ่งที่มีความสำคัญ และปฏิบัติสืบทอดติดต่อกันมายาวนาน นับเป็นพัน ๆ ปีของชาวเขมร ที่แสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ สะท้อนให้เห็นความรัก ความผูกพัน ความกตัญญูรู้คุณ ของสมาชิกในครอบครัวเครือญาติ และชุมชน โดยจะประกอบพิธีกรรม
ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นลูก หลาน ญาติ พี่น้องที่ไปประกอบอาชีพ หรือตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อื่น ไม่ว่าจะใกล้ หรือไกลจะต้องเดินทางกลับมารวมญาติ เพื่อทำพิธีแซนโฎนตา เป็นประจำทุกปี
แซน หมายถึง การเซ่น การเซ่นไหว้ การบวงสรวง
โฎนตา หมายถึง การทำบุญให้ปู่ย่า ตายาย หรือ บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
ประเพณีแซนโฎนตา จึงหมายถึง ประเพณีการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ ที่นับได้ว่าเป็นประเพณีสำคัญที่คนไทยเชื้อสายเขมร มีการสืบทอดกันมาเป็นระยะเวลานาน

ขั้นตอนการประกอบพิธีกรรมแซนโฎนตา มีดังนี้
1. การเตรียมอุปกรณ์เครื่องเซ่นไหว้
2. การเซ่นไหว้ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน
3. การเซ่นไหว้ศาลพระภูมิประจำบ้าน
4. การประกอบพิธีกรรมแซนโฏนตาที่บ้าน
5. การประกอบพิธีกรรมบายเบ็น
6. การประกอบพิธีกรรมที่วัด
(ประกอบพิธีการแซนโฏนตา บางท้องถิ่นอาจมีความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย)
* เบ็นตุ้ย หมายถึง สารทเล็ก
* เบ็นทม หมายถึง สารทใหญ่

จุดมุ่งหมายการแซนโฎนตาความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษนั้น ดูจะมีเค้ามาจากศาสนาพุทธที่เชื่อว่า เมื่อผู้ตายตายไปแล้วจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ทำดีจะได้ไปสวรรค์ กับกลุ่มที่ทำชั่ว ทำบาปก็จะตกนรกเป็นสัตนรก ผี หรือเปรตพวกเหล่านี้จะได้รับทัณฑ์ทรมานมากน้อยต่างกัน เมื่อถึงแรม 1 ค่ำ เดือน 10 พระยายมจะอนุญาตให้ผีเหล่านี้เดินทางมาเยี่ยมลูกหลานได้ ผีจะพักอยู่ที่วัด และคอยดูทางว่าลูกหลานของตนจะมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ตนบ้างหรือไม่ ถ้าลูกหลานมาทำบุญอุทิศส่วนกุศล ผลบุญนี้พวกตนก็ได้รับ และเมื่อได้อิ่มหนำสำราญก็จะพากันอวยพรให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุข แต่ถ้ารอแล้วไม่เห็นลูกหลานมาทำบุญ ก็จะสาปแช่งไม่ให้มีความสุขความเจริญ จาก ตำนานความเชื่อของชาวบ้านดังกล่าว จึงพอสรุปได้ว่า จุดมุ่งหมายของการแซนโดนตา ก็คือการทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

ข้อมูลจากข้าพเจ้าและทีมงานไปลงสำรวจนั้นจะทำให้ข้าพเจ้าและทีมงานได้รู้ถึงวิถีความเป็นอยู่ของชุมชนตำบลลำดวนมากยิ่งขึ้น  เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่ชาวบ้านมีการอนุรักษ์ สืบสานมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อคงความเป็นเอกลักษณ์ของตำบลลำดวนต่อไป

     

 

อื่นๆ

เมนู