ตั้งแต่มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 96/2557 จัดตั้งศูนย์ดำรงธรรม เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานระดับจังหวัด และให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการในจังหวัดสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเสมอภาค มีคุณภาพ รวดเร็ว ลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน และประชาชนได้รับความพึงพอใจ จนกระทั่งมีการยกระดับเป็นศูนย์ดำรงธรรม มิติใหม่
ตลอดระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ภายใต้การขับเคลื่อนของกระทรวงมหาดไทยที่ได้บูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บริการประชาชนใน 7 ภารกิจหลัก คือ 1. รับเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ 2. บริการแบบเบ็ดเสร็จ 3. งานบริการส่งต่อ 4. บริการข้อมูลข่าวสาร/ให้คำปรึกษา 5. รับเรื่องความต้องการและข้อเสนอแนะ 6. เป็นศูนย์รองรับการปฏิบัติ เร่งด่วนของรัฐบาล และ 7. ดำเนินการด้วย ชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว
โดยตั้งแต่เปิดศูนย์ดำรงธรรม เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 จนถึงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2560 มีประชาชนมาใช้บริการผ่าน ศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ 3,064,771 เรื่อง สามารถแก้ไขแล้วเสร็จไปแล้ว 3,019,902 เรื่อง ซึ่งศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศได้ดำเนินการให้บริการได้เกือบครบ 100% ของปัญหาทั้งหมด เพราะเหลือเพียง 1.46% เท่านั้นที่ยังไม่ได้รับ การแก้ไข ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยได้กำชับ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาเรื่อง ร้องทุกข์ของประชาชน ให้ประชาชนได้รับการ ดูแลอย่างทั่วถึง และจะต้องไม่ล่าช้า
และในปีงบประมาณ 2560 กระทรวงมหาดไทยได้จัดให้มี การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หรือ Workshop เพื่อเพิ่มทักษะเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติงานศูนย์ดำรงธรรมให้มีประสิทธิภาพ เข้มแข็ง ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มทักษะบุคลากรของศูนย์ดำรงธรรมทั้งประเทศให้รองรับภารกิจการบริการและการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และถูกต้อง
โดยนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำว่า ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ที่ผ่านมา ศูนย์ดำรงธรรมได้ปฏิบัติภารกิจทั้ง 7 มิติ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นไปตามเจตนารมณ์ ของรัฐบาลที่ได้จัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมขึ้นมา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานระดับจังหวัด ให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างเสมอภาค มีคุณภาพ รวดเร็ว ลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน ถือว่า เห็นผลงานเป็นที่น่าพอใจ และมีประชาชนเข้ามารับบริการและร้องเรียนร้องทุกข์กับศูนย์ดำรงธรรม เป็นจำนวนมาก
อีกทั้งยังได้ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนภารกิจที่เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล อาทิ การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ปัญหายาเสพติด เรื่องที่ดินทำกินและการประกอบอาชีพ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่ โดยชุดปฏิบัติการพิเศษซึ่งถือว่า มีการทำงานในเชิงรุกมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา
สำหรับการทำงานในปี 2560 และในอนาคต ต่อไป กระทรวงมหาดไทยในฐานะที่กำกับดูแลและอำนวยการให้การบริหารงานของศูนย์ดำรงธรรมและการบริหารงานของจังหวัดเป็นไปด้วยความเรียบร้อยมีประสิทธิภาพ ได้กำหนดนโยบายและแนวทาง ปฏิบัติงานที่ชัดเจน มีเอกภาพ มีการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานทุกๆ ด้าน และเน้นการพัฒนาบุคลากรของศูนย์ดำรงธรรมให้มีความพร้อมในการทำงานทุกมิติ
ในการเสริมสร้างสมรรถนะให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน ทั้งระเบียบกฎหมาย เทคนิคการทำงาน การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน และเตรียมการ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการการทำงานร่วมกัน ทุกหน่วยงาน เช่น ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กระทรวงยุติธรรม กระทรวง การคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดยมีการกำหนดหลักสูตรที่สำคัญ อาทิ การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ การทวงหนี้ผิดกฎหมาย หรือการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร เทคนิควิธีการเจรจาประนีประนอม โดยมีผู้เชี่ยวชาญแต่ละ หน่วยงานมาบรรยายให้ความรู้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงานสามารถนำความรู้ไปใช้ในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ ปัญหาที่มีความยุ่งยากซับซ้อน
เพราะปัญหาที่ส่งผลให้เรื่องร้องเรียนได้รับการแก้ไขช้า และต้องใช้เวลานานในการแก้ไขปัญหา ได้แก่ 1. ปัญหาที่ดิน เช่น ข้อพิพาทที่ดินระหว่างประชาชนกับประชาชน หรือที่สาธารณประโยชน์ ความล่าช้าในการออกหลักฐานที่ดิน เป็นต้น 2. เรื่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องใช้เวลา ในการสอบสวนข้อเท็จจริงให้ชัดเจน เพราะป็นเรื่อง ที่ละเอียดอ่อน 3. ปัญหาหนี้นอกระบบ ที่ใช้เวลามากกว่าปกติ เมื่อไม่สามารถเจรจาประนอมหนี้ได้ หรือเจ้าหนี้ไม่ยอมเจรจา
นอกจากนี้ รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช.มีข้อสั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ให้ทุกหน่วยงานตรวจสอบ เรื่องราวร้องเรียนที่ค้างการพิจารณามานาน หรือ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ โดยให้เร่งดำเนินการให้ แล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ การทำงานในปี 2560 จึงมีความท้าทายและเป็นโจทย์สำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมแรงร่วมใจพัฒนาการทำงานและทำหน้าที่ เป็นตัวแทนของรัฐบาล โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน ทำให้คนไทยทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ดังนั้นศูนย์ดำรงธรรมจะต้องเป็นหน่วยเติมเต็มการบริการประชาชนของทุกส่วนราชการและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่ยังดำเนินการไม่สมบูรณ์ รวมทั้งสามารถส่งต่อการบริการซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ ส่วนราชการอื่น หรือเป็นอำนาจของผู้บริหาร ส่วนกลางได้อย่างรวดเร็ว และเป็นหน่วยประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนในเรื่องขั้นตอนการติดต่อราชการของส่วนราชการในพื้นที่
ในปัจจุบันเรื่องที่ประชาชนมีความทุกข์ร้อนและเข้ามาใช้บริการ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่มีความหลากหลาย บุคลากรของศูนย์ดำรงธรรม จึงต้องเป็นผู้มีความรอบรู้งานและโครงสร้างของส่วนราชการ รอบรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประชาชนในทุกด้าน เป็นนักประสานงานกับทุกส่วนราชการ สามารถประสานงานบูรณาการร่วมในการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วตอบสนอง ต่อความต้องการของประชาชน สร้างความสงบสุขให้แก่สังคมอย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมาการให้บริการของศูนย์ดำรงธรรมของทุกจังหวัด ให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ บางจังหวัดสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ตลอดทั้ง 7 วัน ตั้งแต่วันจันทร์ ไปจนถึงวันอาทิตย์ พร้อมทั้งเป็นการให้บริการ ในรูปแบบ ONE STOP SERVICE เพื่อให้ประชาชนใช้บริการในจุดเดียวแต่ครบวงจร ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการทำบัตรประจำตัวประชาชน ใบขับขี่รถยนต์ ใบขับขี่รถจักรยานยนต์ คัดสำเนาทะเบียนบ้าน ชำระภาษี ชำระค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ติดต่อกรณีประกันสังคม การขึ้นทะเบียนคนว่างงานไปจนถึงการต่อทะเบียนและขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว
รวมทั้งการรับเรื่องราวร้องทุกข์ การให้ คำปรึกษา ให้บริการข้อมูลข่าวสาร รวมถึงการให้บริการนอกสถานที่ ผ่านทางแอพพลิเคชั่น สปอนด์ (Application Spond) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ในศูนย์ดำรงธรรมยังได้มีการเชื่อมข้อมูลการดำเนินงานกับทำเนียบรัฐบาล เพื่อที่นายกรัฐมนตรีจะได้สามารถรับทราบถึงข้อมูลการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของจังหวัดต่างๆ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการกำหนดนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนต่อไป

Tags: , , ,

อื่นๆ

เมนู