ข้าพเจ้านางสาวมณีรัตน์ พลอยเพ็ชร์ ผู้ปฏิบัติงานประเภทบัณฑิตจบใหม่ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ หลักสูตรการบริหารจัดการขยะและการเพิ่มมูลค่าเพื่อสร้างอาชีพเสริมให้กับชุมชน (MS03) ได้ลงปฏิบัติงานในช่วงเดือนกันยายน เพื่อสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการจัดการขยะภายในชุมชน ทั้งขยะแห้งและขยะเปียก แต่เนื่องจากภาวะการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาที่มีความรุนแรงมาก จีงมีการพูดคุยกับประชาชนและกลุ่มต้นแบบในรูปแบบออนไลน์และทางโทรศัพท์เท่านั้น

 

การคัดแยกขยะแห้ง

ประชาชนในพื้นที่ได้มีการคัดแยกขยะแห้งจำพวก พลาสติก กระป๋อง และกระดาษ สำหรับขายให้ร้านรับซื้อของเก่า เพื่อนำไปรีไซเคิล แต่ยังไม่ได้รวมถึงพลาสติกที่เป็นกล่องอาหารและกระดาษที่เป็นกล่องนม ซึ่งต้องมีการล้างให้สะอาดก่อนคัดแยก จึงต้องมีการให้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าว

การนำขยะเปียกมาทำเป็นปุ๋ย

ทางทีมงานเคยไปเยี่ยมชมหอพักของคุณจงใจ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว จึงมาดูแลหอพักซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว ซึ่งหอพักดังกล่าวเป็นหอพักต้นแบบ(หอพักสีเขียว)ของพื้นที่เทศบาลเมืองบุรีรัมย์

คุณจงใจได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการขยะเปียกภายในหอพักว่า ‘ขยะอินทรีย์จำพวกเศษอาหารที่ทานเหลือจะนำไปรวบรวมไว้ โดยจะมีกลุ่มซาเล้งประจำชุมชนตระเวนเก็บ เพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์ ทำปุ๋ยหมัก เลี้ยงไส้เดือน และทำน้ำหมักชีวภาพ ถ้าเป็นเศษผลไม้จะรวบรวมไว้สำหรับการผลิตน้ำหมักชีวภาพภายในหอพักเอง’ เมื่อต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม จึงได้สอบถามพูดคุยผ่านทางโทรศัพท์ถึงรายละเอียดและวิธีการทำน้ำหมักชีวภาพ หรือ EM

จากการศึกษาข้อมูลและการสัมภาษณ์ผู้มีประสบการณ์ จึงสามารถเรียบเรียงกรรมวิธีในการผลิตน้ำหมักชีวภาพจากขยะอินทรีย์ ได้เป็นสองขั้นตอนหลัก คือ การทำหัวเชื้อ EM และการทำน้ำ EM สำหรับนำไปใช้ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

 

การทำหัวเชื้อ

  1. เริ่มจากการนำผักผลไม้มาสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปใส่ภาชนะปิดฝาให้มิดชิด
  2. นำผักผลไม้ไปผสมกับกากน้ำตาล ในอัตราส่วน 3 : 1 จากนั้นคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วปิดฝาทิ้งไว้
  3. เปิดฝาเพื่อกวนทุก ๆ 5-7 วัน เพื่อให้เศษผักสัมผัสกับอากาศ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการย่อยสลายได้ดีขึ้น โดยหมักทิ้งไว้ 1-2 เดือน

เมื่อครบกำหนดจะมีน้ำออกมา ซึ่งน้ำที่ได้จากการหมักนี้ก็คือน้ำหัวเชื้อ ซึ่งสามารถเก็บไว้ใช้ได้โดยใส่ภาชนะ แล้วปิดฝาให้แน่น ไม่ให้สัมผัสกับอากาศ

ขั้นตอนการทำน้ำ EM

  1. ใส่น้ำฝนลงไปในถังที่จะใช้หมัก หากใช้น้ำประปา ควรใส่ถังเปิดฝาทิ้งไว้ 2-3 วัน เพื่อให้คลอรีนระเหยไปเสียก่อน
  2. นำกากน้ำตาลเทใส่ลงไป แล้วคนให้ละลาย
  3. นำน้ำหัวเชื้อ ผสมลงไป คนให้เข้ากัน
  4. นำเศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ สับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ลงไปในถุงปุ๋ย แล้วนำถุงปุ๋ยนั้นใส่ลงในถังหมักดังกล่าว กดให้น้ำท่วมถุง จากนั้นก็ปิดฝาให้สนิท

โดยอัตราส่วนของส่วนผสมคือ น้ำ 16 ลิตร : กากน้ำตาล 500 มล. : หัวเชื้อ 500 มล.

เมื่อผสมส่วนต่าง ๆ จนครบแล้ว ให้หมักทิ้งไว้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ ก็สามารถนำน้ำจุลินทรีย์ธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ได้

 

อื่นๆ

เมนู