ข้าพเจ้านางสาว สิริยากรณ์ เพชรฤทธิ์ ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ตำบลในเมือง

หลักสูตร: การบริหารจัดการขยะและการเพิ่มมูลค่าเพื่อสร้างอาชีพเสริมให้กับชุมชน

ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

ข้าพเจ้าและทีมงานได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะ การแยกประเภทขยะที่ถูกวิธีเพื่อให้สามารถนำขยะมาใช้ประโยชน์และช่วยลดการใช้จ่ายในครัวเรือน จากการแยกขยะบางประเภทไปขายและนำไปทำเป็นสิ่งต่างๆเพื่อใช้ประโยชน์ตามประเภทของขยะเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับครอบครัว

ข้าพเจ้าและทีมงานได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจและสอบถามการบริหารจัดการขยะภายในชุมชนเพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับนำขยะมาใช้ประโยชน์ โดยข้าพเจ้าและทีมงานได้ศึกษาข้อมูลการนำขยะเปียกมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใส่ต้นไม้ในบ้าน โดยมีส่วนประกอบหลักในการทำปุ๋ยมี 3 ส่วน ดังนี้

1.เศษอาหาร เช่น เศษข้าว เศษผัก เปลือกผลไม้ เปลือกไข่ ก้างปลา เศษหมู ขนมปัง ฯลฯ ที่เหลือจากการบริโภค ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือน ร้านอาหาร โรงอาหาร หรือโรงครัว เมื่อนำมาทำปุ๋ยหมักจะใช้เฉพาะส่วนที่เป็นกาก จึงต้องแยกน้ำที่อยู่ในเศษอาหารออกก่อน หากเศษอาหารมีขนาดใหญ่ก็สับให้มีขนาดเล็กลง

2.จุลินทรีย์ ควรเป็นประเภทที่ใช้ออกซิเจน จะช่วยให้ไม่ส่งกลิ่นเหม็นและไม่ทำให้เกิดน้ำเสีย แหล่งจุลินทรีย์ที่หาได้ง่ายคือมูลสัตว์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น มูลวัว มูลไก่ มูลหมู มูลม้า มูลแพะ ซึ่งมีจุลินทรีย์หลายประเภทและจำนวนมาก เช่น เชื้อราแอคติโนมัยซีตส์ (Actinomycetes) ช่วยให้กระบวนการย่อยสลายเศษอาหารกลายเป็นปุ๋ยหมักได้เร็วขึ้น

3.เศษใบไม้ ช่วยให้เศษอาหารมีความโปร่งพรุน ไม่อัดแน่นจนเกินไป ทั้งยังมีธาตุคาร์บอนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและสร้างเซลล์ของจุลินทรีย์

สิ่งที่ต้องเตรียม

  1. เศษผักผลไม้ 3 กิโลกรัม
  2. น้ำตาลทรายแดงหรือกากน้ำตาล 1 กิโลกรัม
  3. หัวเชื้อจุลินทรีย์
  4. น้ำสะอาด

ขั้นตอนและวิธีการทำ

  1. นำเศษผักผลไม้ ที่มีในครัวเรือนทั้งเปลือก ใบ ผล และเมล็ด ผสมกับน้ำตาลทรายแดงหรือกากน้ำตาล คลุกเคล้าให้เข้ากัน หากใช้กากน้ำตาลซึ่งค่อนข้างข้นควรกวนให้เข้ากัน
  2. บรรจุใส่ถุงตาข่ายหรือถุงปุ๋ย วางลงในถังพลาสติก ปิดฝาให้เรียบร้อย
  3. ประมาณ 10 วัน จะได้น้ำจุลินทรีย์ซึมออกมา ให้เติมน้ำลงไป 5 เท่าของปริมาตรน้ำจุลินทรีย์ที่ได้ กดให้จมน้ำ หากลอยขึ้นมาจะทำให้การหมักไม่สมบูรณ์ เกิดกลิ่นเหม็นได้
  4. สามารถเติมขยะสดเพิ่มลงไปได้ทุกวัน น้ำที่นำไปใช้ได้จะมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลเข้ม กลิ่นหอมอมเปรี้ยวอมหวาน ส่วนกากสามารถนำไปตากให้แห้ง โรยเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ต่อไปได้

การใช้งาน ผสมน้ำหมัก 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 5 ลิตร ใช้ฉีดพ่นหรือรดลงในดินสัปดาห์ละครั้ง

ประโยชน์  นอกจากมีธาตุอาหารที่ช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดีแล้ว ยังมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ในดิน ช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุให้กลายเป็นปุ๋ยสำหรับพืช ทำให้ดินร่วนซุย  และพัฒนาการเจริญเติบโตของพืช.

ข้อควรระวัง  หากการหมักยังไม่สมบูรณ์ ปริมาณกรดและน้ำตาลยังสูงอยู่ จะส่งผลเป็นพิษต่อพืช

สรุปขั้นตอนและวิธีการทำ ดังนี้

ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

  1. หากผสมสมุนไพร เช่น สะเดา ตะไคร้หอม ยาสูบ ดีปลี หรือพริกขี้หนู โดยใส่ผงสมุนไพร 2 – 5 ช้อนโต๊ะลงไปในส่วนผสมของขั้นตอนการหมักปุ๋ยอินทรีย์น้ำแต่แรก จะสามารถใช้เป็นสารไล่แมลงได้ด้วย
  2. สามารถใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำในการบำบัดน้ำเสียและกำจัดคราบไขมันอุดตันในท่อ โดยใช้ผสมน้ำในอัตราส่วน 1 : 10 เทใส่ในท่อน้ำทิ้ง บ่อบำบัดไขมัน บ่อน้ำเสีย ทิ้งไว้หนึ่งคืนแล้วจึงราดน้ำตาม
  3. ไม่ควรเก็บปุ๋ยอินทรีย์น้ำไว้ในที่ที่โดนแดด ควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องประมาณ 20 – 30 องศาเซลเซียส จะเก็บได้นาน 6 เดือน
  4. ปุ๋ยอินทรีย์น้ำมีธาตุอาหารค่อนข้างน้อย แต่มีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการปรับปรุงโครงสร้างและคุณภาพดิน ดังนั้นจึงอาจใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีในปริมาณเล็กน้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบำรุงต้นไม้

Tags:

อื่นๆ

เมนู