ในเดือนพฤศจิกายนนี้ คณะผู้ดำเนินงานตำบลบ้านปรือได้มีการประชุมหารือกันผ่าน google meet เพื่อหาแนวทางในการดำเนินงานจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด รวมไปถึงการเก็บข้อมูล CBD ซึ่งได้ดำเนินโครงการงานทั้งสองอย่างควบคู่กันด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ยังคงแพร่ระบาดอยู่
ผู้ดำเนินโครงการยังดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดินอย่างต่อเนื่อง แม้มีอุปสรรคการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ลงพื้นที่เพื่อคัดเลือกพื้นที่ที่ควรทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด โดยสำรวจพื้นที่หมู่บ้านระกาใต้ เมื่อปักหมุดบริเวณที่ได้รับการเลือกแล้ว ได้มีลงขุดธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ในการบริหารจัดการน้ำนั้น ควรออกแบบให้มีความเหมาะสมตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ทั้งเชิงพื้นที่และทิศ ให้สามารถใช้งานได้ตามระบบธนาคารน้ำใต้ดิน เพราะธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดมีหน้าที่ในการเติมน้ำลงดิน โดยนำน้ำที่มีบนดินลงสู่ใต้ดินอย่างรวดเร็วโดยทั่วไป น้ำที่อยู่บนผิวดินกว่าจะซึมซับลงในชั้นดินแต่ละชั้นต้องใช้เวลามาก เนื่องจากชั้นผิวดินมีอากาศแทรกอยู่ ทำให้การซึมซับน้ำลงดินได้ช้า การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด เป็นการเปิดช่องผิวดินเพื่อการเติมน้ำลงใต้ดินโดยตรงในระดับบนสุดของเปลือกโลกชั้นผิวดิน โดยน้ำที่เติมลงสู่ใต้ดินเป็นน้ำเหลือใช้และน้ำที่เกินจากความต้องการ เช่น น้ำฝน ที่ตกลงมาบนพื้นดินจำนวนมากเกินกว่าที่บ่อใช้รองรับน้ำฝนได้ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง หากสะสมนานจะกลายเป็นน้ำเสีย ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศหรือสุขภาพของผู้คนในชุมชน
การทำงานมีอุปสรรคเนื่องจากปัจจัยหลายอย่างทั้งที่ควบคุมได้อย่างเช่น อุปกรณ์ไม่เพียงพอ และควบคุมไม่ได้ เช่น สภาพภูมิอากาศ ทางคณะผู้จัดทำก็ได้มีการแก้ไขปัญหาเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น การทำธนาคารน้ำใต้ดินและการเก็บข้อมูล CBD จึงสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีด้วยความร่วมมือของผู้ปฏิบัติงานและประชากรในพื้นที่