“ปลายฝนต้นหนาว” เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เข้าสู่ฤดุกาลเก็บเกี่ยวข้าวนาปีของชาวบ้านตำบลบ้านปรือ อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ ข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูล CBD เพื่อรวบรวมส่งให้คณะทำงานและเก็บข้อมูลการทำธนาคารน้ำใต้ดินในหมู่บ้านระกาใต้ได้พบปะพูดคุยเกี่ยวกับการเข้าพื้นที่ในช่วงการเกิดการเกิดโรคระบาดโควิด19 ร่วมกับผู้นำชุมชนและชาวบ้านเพื่อลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงานในพื้นที่การเดินทางเก็บข้อมูลในแต่ละวันนั้นได้ผ่านท้องทุ่งนาที่เต็มไปด้วยต้นข้าวรวงสีทองอร่ามพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวทำให้รับรู้สัมผัสได้ถึงกลิ่นไอท้องทุ่ง ความสุขความสมหวังความดีงามต่างๆของวิถีชีวิตแบบชนบท สิ่งต่างๆเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่นั้นๆ หากแต่ความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพราะฤดูกาลในธรรมชาตินั้นคนเราไม่อาจที่จะคาดเดาได้ถูกต้องนัก ดังนั้นเราจึงต้องหาวิธีการต่างๆและเรียนรู้จากธรรมชาติเพื่อนำมาปรับปรุงและแก้ไขปัญหาต่างๆให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ความอุดมสมบูรณ์ยังอยู่ยั่งยืนตลอดไป นั่นก็คือการทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดที่ข้าพเจ้าและคณะทำงานประจำตำบลบ้านปรือ อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับผิดชอบอยู่ในขณะนี้ การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดในหมู่บ้านระกาใต้จำนวน 20 หลุมนั้นทางคณะทำงาน ผู้นำชุมชนได้ประชุมและคัดเลือกตามความเหมาะสมในพื้นที่แล้ว และได้เริ่มขุดทำธนาคารน้ำใต้ดินโดยมีผู้นำชุมชนและชาวบ้านเป็นผู้ร่วมทำกิจกรรมด้วย แต่ก็ต้องป้องกันความเสี่ยงด้วยการใส่หน้ากากอนามัยและฉีดวัคซีนให้ครบ การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดช่วยลดปัญหาการระเหยของน้ำได้ และเพิ่มระดับน้ำใต้ดินในบ่อน้ำตื้นแก้ปัญหาน้ำเค็ม ดินเค็มเพราะมวลน้ำเค็มมีน้ำหนักมากกว่าน้ำจืด ทำให้น้ำเค็มอยู่ลึกลงไปในชั้นบาดาลด้านล่างช่วยลดปัญหาน้ำขัง น้ำเน่าเสียบนพื้นดินได้ดี เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวดิน ความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ก็จะดีขึ้นเมื่อทุกคนหันมาทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดในชุมชน
เขียนโดย นายโกมินทร์ เกือรัมย์