หลังจากเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเกษตรกรในพื้นที่ตำบลบ้านปรือเกือบจะทุกหลังคาเรือนจะทำนาปลูกข้าว ซึ่งการทำการเกษตรในปัจจุบันมักจะเน้นความสะดวกรวดเร็ว โดยมีการใช้งานเครื่องจักรกลขนาดใหญ่เข้าช่วยจัดการในขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การไถนา การหว่านเมล็ดข้าว การใส่ปุ๋ย การพ่นยาฆ่าแมลงและในการเก็บเกี่ยว รวมทั้งการนำผลผลิตไปจำหน่าย นอกจากนี้ยังได้มีการเก็บฟางข้าวที่เหลือจากขั้นตอนการเก็บเกี่ยว โดยการใช้เครื่องจักรอัดฟางเป็นก้อนเพื่อสะดวกในการเก็บรักษาเป็นจำนวนมากเพื่อเก็บไว้ให้เป็นอาหารของสัตว์เลี้ยง ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่มักจะเลี้ยงวัว เลี้ยงควายควบคู่ไปกับการทำนามาตั้งแต่สมัยโบราณ หรือหากใครที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์เหล่านี้ ก็สามารถเก็บฟางไว้จำหน่าย แก่เกษตรกรที่เลี้ยงในฤดูขาดแคลน ในช่วงเดือนธันวาคมนี้ เกษตรกรที่ว่างเว้นจากการทำนา มักจะมีการปลูกผักสวนครัวโดยการทำแปลงปลูกผักขนาดย่อมไว้บริเวณรอบแหล่งน้ำในชุมชนเพื่อความสะดวกในการรดน้ำ มีการปลูกผักชนิดต่างๆ เช่น ผักชี ต้นหอม กระเทียม ผักกาด คะน้า พริก มะเขือ ผักบุ้ง ซึ่งนอกจากจะใช้บริโภคในครัวเรือนแล้ว ยังสามารถเก็บจำหน่ายเป็นรายได้ด้วย ซึ่งการปลูกพืชผักสวนครัวในรอบบริเวณแหล่งน้ำในชุมชนนี้เราจะทำกันทุกปี ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนคือช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ จะเห็นได้ว่าปัจจัยสำคัญที่สุดในการทำการเกษตรต่างๆก็คือน้ำ หากไม่มีน้ำก็ไม่สามารถปลูกพืชได้ ขั้นตอนการทำเกษตรตั้งแต่ต้นจนเก็บเกี่ยวจะขาดน้ำไม่ได้เลย เห็นได้จากการปลูกพืชผักของชาวบ้านมักจะเลือกพื้นที่บริเวณรอบแหล่งน้ำ ทั้งนี้จำนวนมีที่อยู่รอบแหล่งน้ำ หลายคนก็ไม่สามารถเข้าถึงได้เนื่องจากไม่พอกัน เกษตรกรหลายรายจึงเลือกที่จะทำการเกษตรในพื้นที่ส่วนตัวที่ห่างไกลจากแหล่งน้ำ โดยการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลมาใช้ในการทำการเกษตร และบางรายก็มีมากกว่า 1 บ่อ มีทั้งการขุดเจาะน้ำบาดาลใช้ในบ้าน และปอบาดาลเพื่อการเกษตร ซึ่งมีการขุดเจาะเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งการใช้น้ำบาดาลของชาวบ้านในชนบทมักจะเป็นการขุดเจาะขึ้นมาใช้เองไม่ได้มีการขออนุญาตแต่อย่างใด ซึ่งการใช้น้ำก็ไม่มีขีดจำกัดไม่มีการควบคุมใดๆ ซึ่งอาจจะทำให้ปริมาณน้ำใต้ดินในพื้นที่ลดปริมาณลง จะพบได้มากในฤดูแล้งที่บ่อน้ำใต้ดินบางบ่อไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้เนื่องจากระดับน้ำใต้ดินลดลงจนต่ำกว่าระดับท่อสูบน้ำ จนต้องมีการต่อเพิ่มความยาวของท่อสูบน้ำลงไปให้ถึงระดับน้ำ จากเหตุผลดังกล่าว เพื่อให้ระดับน้ำใต้ดินยังมีปริมาณที่เพียงพอต่อการใช้จึงควรส่งเสริมให้มีระบบเติมน้ำเข้าสู่ชั้นใต้ดิน ซึ่งก็คือระบบธนาคารน้ำใต้ดิน ถ้าหากเกษตรกรทุกหลังคาเรือนมีหลุมธนาคารน้ำใต้ดิน ก็จะสามารถช่วยเพิ่มปริมาณน้ำใต้ดินได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะทำให้ทุกคนมีน้ำใต้ดินใช้อย่างยั่งยืน
เขียนโดย นายเป็นหนึ่ง กุสารัมย์