ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญของการทำธนาคารน้ำใต้ดินให้สมบูรณ์ เพราะธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดมีหน้าที่ในการเติมน้ำลงดิน โดยนำน้ำที่มีบนดินลงสู่ใต้ดินอย่างรวดเร็ว เพราะโดยทั่วไป น้ำที่อยู่บนผิวดินกว่าจะซึมซับลงในชั้นดินแต่ละชั้นต้องใช้เวลามาก เนื่องจากชั้นผิวดินมีอากาศแทรกอยู่ ทำให้การซึมซับน้ำลงดินได้ช้า และเป็นการเปิดช่องผิวดินเพื่อการเติมน้ำลงใต้ดินโดยตรงในระดับบนสุดของเปลือกโลกชั้นผิวดิน โดยน้ำที่เติมลงสู่ใต้ดินเป็นน้ำเหลือใช้และน้ำที่เกินจากความต้องการ เช่น น้ำฝน ที่ตกลงมาบนพื้นดินจำนวนมากเกินกว่าที่บ่อใช้รองรับน้ำฝนได้ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง หากสะสมนานจะกลายเป็นน้ำเสีย ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศหรือสุขภาพของผู้คนในชุมชน

หลักการทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด คือการเก็บน้ำไว้ใต้ดิน แต่ไม่ทะลุชั้นดินเหนียวลงไปสู่ชั้นหินอุ้มน้ำ โดยมีเป้าหมายสร้างความชุ่มชื้นให้กับดิน แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง ลดการไหลบ่าของน้ำ และแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย การเก็บน้ำด้วยวิธีนี้ จะไม่สามารถนำน้ำขึ้นมาใช้ได้โดยตรง แต่กรณีพื้นที่ใกล้เคียงกับระบบปิดนี้มีบ่อน้ำตื้นหรือบ่อน้ำซับ ความชุ่มชื้นของดินจะส่งผลทำให้น้ำในบ่อดังกล่าวมีปริมาณน้ำมากขึ้น สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ หรือในบางพื้นที่สามารถขุดบ่อน้ำตื้นได้ในระดับไม่เกิน 2-3 เมตร อาจจะมีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี

การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดสามารถทำได้ทั้งในพื้นที่ที่เป็นชุมชนเมืองและชุมชนชนบท เนื่องจากปัจจุบันชุมชนเมืองขยายตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มีการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนและถนนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้บ้านเรือนที่อยู่ในพื้นที่ระดับต่ำกว่าเกิดความเสียหายในเรื่องน้ำท่วมขัง การระบายน้ำ หรือน้ำเน่าเสีย สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาน้ำเสียที่ท่วมขังในชุมชนเมือง

การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด สามารถจำแนกได้ 3 รูปแบบ ได้แก่

  1. ในพื้นที่อยู่อาศัย
  2. รูปแบบรางระบายน้ำในชุมชน
  3. ในพื้นที่น้ำท่วมขนาดใหญ่ หรือน้ำท่วมทุ่ง

สำหรับการทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดในพื้นที่น้ำท่วมขนาดใหญ่หรือน้ำท่วมทุ่ง เป็นวิธีการขุดบ่อขนาดใหญ่คล้ายกับบ่อระบบเปิด ขนาดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และระดับน้ำท่วมขัง โดยมากมักจะขุดบ่อในลักษณะบ่อสี่เหลี่ยมจัตุรัส ในระดับกว้าง 3 เมตร ยาว 3 เมตร หรือ กว้าง 5 เมตร ยาว 5 เมตร ส่วนระดับความลึกแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสภาพชั้นดินและชั้นหิน ราว 3-5 เมตร ไม่ทะลุชั้นดินเหนียว หลังจากนั้น นำเศษวัสดุมาใส่ในบ่อแทนดินที่ขุดออกไป เช่น กรวดแม่น้ำ หิน เศษกิ่งไม้ วัสดุเหลือใช้ที่หาได้ในชุมชน เช่น ขวดบรรจุน้ำ ยางรถยนต์ ฯลฯ

       

อื่นๆ

เมนู