โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบลเพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ : U2T)
หลักสูตร : MS04 การแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าไหมเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน ตำบลสวายจีก อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์
ชื่อบทความ : MS04 – กิจกรรมติดตามผลิตภัณฑ์แปรรูปและการนำเสนอผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าพื้นบ้านของสมาชิกในโครงการ
ชื่อเจ้าของบทความ นางสาวณัฐญา กระสุนรัมย์ ประเภทบัณฑิตจบใหม่
การปฎิบัติงานประจำเดือนธันวาคม 2564
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สายใจ ทันการ ผู้รับผิดชอบโครงการ พร้อมทั้งคณะทำงาน ร่วมประชุมประจำเดือนธันวาคม ณ บ้านใหม่ หมู่ที่ 4 ตำบลสวายจีก อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ในการประชุมได้พูดคุยเกี่ยวกับการวางแผนการทำงานประจำเดือน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นรายงานอุปสรรคปัญหาของการทำงานและร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงาน ให้เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบล เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
กิจกรรมนำเสนอเสื้อที่ตัดเย็บจากผ้าพื้นบ้านในหัวข้อ “เสื้อตามใจฉัน”
การติดตามงานครั้งนี้ เป็นการติดตามการแปรรูปเสื้อผ้าภายใต้ แนวคิด “เสื้อตามใจฉัน” ซึ่งในครั้งนี้เป็นการตัดเย็บเสื้อผ้าที่ผู้ตัดเย็บสามารถออกแบบได้ตามความพึงพอใจ แล้วนำผ้าที่ทำการตัดเย็บเสร็จเรียบร้อยแล้ว มานำเสนอให้กับสมาชิกคนอื่น ๆ ได้ชม เอกลักษณ์ในการตัดเย็บเสื้อผ้าของคนในตำบลสวายจีก ส่วนมากจะมีลักษณะเป็นเสื้อเชิ้ต เสื้อคอกลม เสื้อแขนสั้น ที่สามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน และยังสวมใส่ไปงานพิธีการต่าง ๆ ได้ ข้อเสนอแนะในการตัดเย็บผ้าของสมาชิกในครั้งนี้ คือ ต้องการความรู้เพิ่มเติมในการตัดเย็บเสื้อผ้าที่หลากหลายมากขึ้น
สมาชิกที่ดูแลรับผิดชอบในโครงการ : นางสาวสำรวญ อาญาเมือง หมู่ที่ 8
ลักษณะของเสื้อ : เป็นเสื้อคลุมแขนยาว มีกระเป๋าทั้งสองข้าง ทำจากผ้าไหมพื้นบ้าน ที่ทอมือและตัดเย็บเอง
จุดเด่นของเสื้อ : เป็นผ้าไหมที่ได้จากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเอง มีสีสันสดใส สะดุดตา สวมใส่ได้ทุกเทศกาล
ต้นทุน 300 บาท ราคาขาย 1,500 – 2,000 บาท
ปัญหาและอุปสรรคในการตัดเย็บ : ผ้าไหมที่ทอเองค่อนข้างที่จะตัดเย็บยากเพราะผ้าค่อนข้างแข็ง ต้องใช้ความประณีต และต้องเอาผ้ามาตัดเย็บที่ศาลาบ้านใหม่หมู่ที่ 4 เนื่องจากที่บ้านไม่มีเครื่องจักร
กิจกรรมการอบรมหัวข้อ “การใช้ผ้าอัดกาวเพื่อสร้างความทรงตัว”
โดยมี นางสมจิต ชัยสุวรรณ์ ซึ่งเป็น 1 ในสมาชิกของโครงการ ได้มาบรรยายและสอนวิถีการอัดผ้ากาวเพื่อสร้างความทรงตัวให้กับผ้าที่ตัดเย็บ ให้สมาชิกในโครงการคนอื่น ๆ ได้รับฟัง
กิจกรรม “นักเล่านิทานวิถีชุมชนบนพื้นฐานความพอเพียง”
โดยเชิญผู้รู้หรือปราชญ์ชาวบ้านในชุมชน คือ อาจารย์อุดม อาญาเมือง มาเป็นวิทยากรในการเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของตำบลสวายจีกให้สมาชิกในโครงการได้รับฟัง ซึ่งในการเล่าขานได้กล่าวถึงประวัติของตำบลสวายจีกคร่าว ๆ ไว้ดังนี้
สวายจีก เป็นหมู่บ้าน ๆ หนึ่ง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอเมืองบุรีรัมย์ มีผู้กล่าวว่า เดิมทีก่อนจะมาเป็นสวายจีก มาจากหนองน้ำทั้งสองเป็นชื่อหมู่บ้าน คือ ตะเปียงสวาย (หนองมะม่วง) และ ตะเปียงเจก (หนองกล้วย) เรียกมาเรื่อย ๆ โดยมีข้อสันนิษฐานว่า คำว่า สวายจีก เป็นคำที่มาจากภาษาถิ่น (ภาษาเขมร) สวาย แปลว่า มะม่วง ส่วนคำว่า จีก นั้น มาจากคำว่า เจก ซึ่งแปลว่า กล้วย รวมเรียกว่า มะม่วงกล้วย ซึ่งสันนิษฐานว่าในท้องถิ่นแห่งนี้มีมะม่วงพันธุ์นี้อยู่ ชาวบ้านสวายจีกมีตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่า เดิมมีชาวบ้านอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 อพยพมาจากจังหวัดสุรินทร์ มาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณหมู่ที่ 1 ทางทิศตะวันออก ส่วนอีกกลุ่มอพยพมาจากจังหวัดนครราชสีมา มาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสวายจีก หมู่ที่ 17 ในปัจจุบัน และในอีกตำนานหนึ่งเล่าต่อกันมาว่ามีบุคคลกลุ่มแรก ๆ ที่มาตั้งบ้านเรือนอยู่ คือ นายสวาย กับ นางเจก ได้อพยพมาจากบ้านสังขะ อำเภอสังขละ จังหวัดสุรินทร์ จากข้อมูลดังกล่าวยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่จากที่นักโบราณคดีได้ศึกษาจาก ศิลาทราย พบว่า เป็นชุมชนที่อพยพมาจากขอมหรือเขมร ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านไปยังปราสาทหินเขาพนมรุ้ง และปราสาทหินพิมาย
อีกทั้งยังมีการเล่าขานถึงยักษ์ศรี และยักษ์สา ซึ่งเป็นรูปปั้นยักษ์ประจำตำบลสวายจีก โดยมีอยู่วันหนึ่งยักษ์ศรีซึ่งออกมาหากินตอนกลางคืน ได้พบเจอกลุ่มผู้ชายวัยรุ่นที่กำลังยืนสูบบุหรี่ ยักษ์ศรีเห็นจึงตกใจเข้าใจว่าคนสามารถกินไฟได้ จึงหนีไป ยักษ์สาไม่เห็นว่ายักษ์ศรีกลับไปซักที จึงออกมาตามหา พอมาตามหายักษ์สาได้พบกับผู้หญิงซึ่งกำลังเคี้ยวหมากอยู่ ยักษ์สาตกใจคิดว่าคนกำลังกินเลือด จึงได้หนีไป ยักษ์ทั้งสองตนจึงได้หนีไปทางกัมพูชา ต่อมาหลวงปู่ดอน จึงมาสร้างยักษ์ศรี และยักษ์สา ไว้ที่ตำบลสวายจีก ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดนี้เป็นการเล่าขานต่อกันมา ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนมากนัก
กิจกรรมจิตอาสาโรงทานงานซ้อมรับปริญญาบัตรของพระสงฆ์ ณ วิทยาลัยสงฆ์ เขากระโดง
โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สายใจ ทันการ ผู้ดูแลโครงการ พร้อมทั้งคณะทำงานและชาวบ้านบ้านใหม่ หมู่ที่ 4 ร่วมกิจกรรมจิตอาสาโรงทานงานซ้อมรับปริญญาบัตรของพระสงฆ์ ณ วิทยาลัยสงฆ์ เขากระโดง โรงทานหมู่ 4 เป็นข้าวเหนียว หมูทอด ส้มตำ ลอดช่อง พร้อมน้ำดื่มของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ 120 ขวด
VDO รายงานการปฏิบัติงานประจำเดือนธันวาคม